รีเซต

หลักฐานใหม่ชี้ 'แอนติบอดี-วัคซีน' ประสิทธิภาพลด เมื่อเจอโควิด-19 กลายพันธุ์

หลักฐานใหม่ชี้ 'แอนติบอดี-วัคซีน' ประสิทธิภาพลด เมื่อเจอโควิด-19 กลายพันธุ์
Xinhua
6 มีนาคม 2564 ( 13:07 )
32

ชิคาโก, 5 มี.ค. (ซินหัว) -- งานวิจัยของโรงเรียนแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเมืองเซนต์ลูอิสของสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ ซึ่งแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว สามารถหลบหลีกแอนติบอดีที่ลบล้างฤทธิ์เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ดั้งเดิมอันเป็นต้นตอของโรคระบาดใหญ่

 

คณะนักวิจัยได้ทดสอบความสามารถลบล้างฤทธิ์ของแอนติบอดีกับเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ 3 สายพันธุ์ ในห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินว่าเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์เหล่านี้สามารถหลบหลีกแอนติบอดีของเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ตั้งต้นก่อโรคโควิด-19 ได้หรือไม่

คณะนักวิจัยทดสอบเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์กับแอนติบอดีในเลือดของผู้ที่หายจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) หรือได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) รวมถึงทดสอบแอนติบอดีในเลือดของหนู แฮมสเตอร์ และลิง ที่ได้รับวัคซีนทดลองของโรงเรียนแพทยศาสตร์ผ่านทางจมูก

 

เชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์บี.1.1.7 (B.1.1.7) ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร ถูกลบล้างฤทธิ์ด้วยแอนติบอดีระดับเดียวกับที่ใช้ลบล้างฤทธิ์เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ดั้งเดิม ส่วนเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์อีกสองสายพันธุ์ ต้องใช้แอนติบอดีลบล้างฤทธิ์เพิ่มขึ้น 3.5-10 เท่า

ต่อมาคณะนักวิจัยทดสอบโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody) หรือแอนติบอดีที่ถูกผลิตซ้ำปริมาณมากและสามารถลบล้างฤทธิ์เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ดั้งเดิมได้ดีเยี่ยม โดยนักวิจัยทดสอบโมโนโคลนอลแอนติบอดีกับเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ทั้งสาม และพบผลลัพธ์แตกต่างกันตั้งแต่มีประสิทธิภาพดีจนถึงไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง

 

เนื่องจากเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ มีการดัดแปลง "ยีนหนาม" หลายครั้ง คณะนักวิจัยจึงสร้างแผงเชื้อไวรัสฯ ที่มีการดัดแปลงเพียงครั้งเดียว เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของการกลายพันธุ์แต่ละครั้ง และพบว่าประสิทธิภาพของแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงเพียงครั้งเดียวของกรดอะมิโนในโปรตีนหนาม

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเรียกว่าอี484เค (E484K) พบในเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์บี.1.135 (B.1.135) จากแอฟริกาใต้ และสายพันธุ์บี.1.1.248 (B.1.1.248) จากบราซิล แต่ไม่พบในสายพันธุ์บี.1.1.7 จากสหราชอาณาจักร

 

ไมเคิล เอส ไดมอนด์ ผู้เขียนอาวุโสของการศึกษาครั้งนี้ เผยว่าการที่เชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์บี.1.135 แพร่ระบาดเป็นวงกว้างในแอฟริกาใต้ อาจเป็นคำอธิบายกรณีวัคซีนตัวหนึ่งที่ทดสอบในประชาชนมีประสิทธิภาพลดลงในแอฟริกาใต้มากกว่าในสหรัฐฯ ซึ่งพบเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์น้อยกว่ามาก

"เรายังไม่รู้ผลกระทบที่ชัดเจนของเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ทั้งสาม แต่สิ่งที่ชัดเจนคือเราต้องคัดกรองแอนติบอดีที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ขณะเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์เกิดขึ้นใหม่และแพร่กระจาย ซึ่งอาจส่งผลต่อวัคซีนและกลยุทธ์การรักษาด้วยแอนติบอดี" ไดมอนด์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ภาคจุลชีววิทยาโมเลกุลและภาคเวชศาสตร์และภูมิคุ้มกันวิทยากล่าว

 

ทั้งนี้ ผลการศึกษาถูกเผยแพร่ผ่านวารสารเนเจอร์ เมดิซีน (Nature Medicine) เมื่อวันพฤหัสบดี (4 มี.ค.) ที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง