รีเซต

กรมวิทย์ฯ ประสานไซโนแวค ขอข้อเท็จจริงประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ยันไทยยังคงแผนเดิม

กรมวิทย์ฯ ประสานไซโนแวค ขอข้อเท็จจริงประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ยันไทยยังคงแผนเดิม
มติชน
13 มกราคม 2564 ( 17:22 )
76

เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงถึงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สำหรับประเทศไทย

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อความทางโซเชียลมีเดียถึงผลการทดลองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัท ไซโนแวค ประเทศจีนระยะ 3 ในประเทศบราซิล ที่ออกมาเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา แล้วมีคนนำมาเปิดเผยว่า ประสิทธิผลหรือประสิทธิภาพประมาณร้อยละ 50.4 ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ประเทศไทยจะนำเข้ามา 2 แสนโดส ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และค่อยๆ ทยอยเข้ามาจนเพิ่มจนครบ 2 ล้านโดส ขณะนี้ไทยได้ขอข้อมูลโดยตรงไปยังบริษัท ไซโนแวค แล้ว รอให้มีการตอบกลับมาอย่างเป็นทางการว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดเป็นอย่างไร

 

“จริงๆ ขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนซึ่งกำลังดำเนินการทางเอกสารกับ อย.ไทยนั้น จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นให้กับทางไทยทราบอยู่แล้ว จากการติดตามการแถลงผลการศึกษาพบว่า มีการใช้คำว่าประสิทธิภาพในภาพรวมอยู่ที่ ร้อยละ 50.4 นั้นหมายความว่า ระหว่างคนที่ฉีดกับไม่ฉีดนั้น มีอัตราการติดเชื้อแตกต่างกัน โดยป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเลยอยู่ที่ ร้อยละ 50.4 ประเด็นคือการทดลองนี้ทำในพื้นที่ระบาดสูง อาสาสมัครส่วนใหญ่คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว อาจจะส่งผลต่อภาพรวมของการติดเชื้อ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า มีข้อมูลเดิมว่าร้อยละ 78 ในคนที่ฉีดกับไม่ฉีด มีความต่างเรื่องการป่วย คือ ป้องกันการป่วยได้ร้อยละ 78 ซึ่งอาจจะติดเชื้อแต่ไม่มีอาการป่วย และร้อยละ 100 ไม่พบอาการรุนแรงต้องใส่ท่อช่วยหายใจในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีน เมื่อเทียบกับไม่ฉีดวัคซีน ดังนั้น มีตัวเลขเปอร์เซ็นต์หลายตัวที่ต้องนำมาพิจารณาในรายละเอียดต่อไป อย่างไรก็ตาม เป็นพียงคำแถลงของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและสถาบันวิจัยให้ข้อมูลเท่านั้น แต่เราต้องรอคำชี้แจงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

 

“ถ้าเฉพาะตอนนี้ ถือว่าข่าวที่ออกมาไม่มีผลกระทบต่อแผนการฉีดวัคซีนของไทย ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผน แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นข้างหน้า ก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังไม่มีผลกระทบ และผมคาดว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน คือเดือนกุมภาพันธ์ จะสตาร์ทได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เรียนหลายครั้ง ไม่ว่าบริษัทใดก็ตามที่มีผลทดลองเฟส 3 ออกมานั้น ไฟเซอร์ โมเดิร์นนาที่ประสิทธิภาพอยู่ที่ร้อยละ 90 แอสตราเซนเนก้า ร้อยละ 62 ส่วนหนึ่ง และร้อยละ 90 ส่วนหนึ่งนั้น เป็นผลการทดลองในระยะต้นๆ ทั้งสิ้น แต่ผลการทดลองสมบูรณ์แบบอาจจะต้องใช้เวลาปีครึ่งถึงจะเห็นว่า มีประสิทธิภาพเท่าไร ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร ขณะที่ ข้อดีของวัคซีนจีนเมื่อเทียบกับอีก 2 บริษัทนั้น ของจีนเป็นวัคซีนเชื้อตาย เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่คุ้นชิน และมีข้อมูลว่าประเทศจีนนำไปฉีดให้ทหาร และบุคลากรการแพทย์หลายแสนคน ยังไม่พบผลข้างเคียงอะไรที่น่ากังวล ในขณะที่เราพบว่า การพัฒนาวัคซีนของบางเจ้ามีผลข้างเคียงทำให้คนที่รับวัคซีนนั้นไม่สามารถไปปฏิบัติงานได้ หรือต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรการแพทย์จำนวนเปอร์เซ็นต์ไม่น้อย

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จึงต้องเรียนย้ำอีกครั้งว่า การพิจารณาวัคซีนที่จะเอาเข้ามานั้นต้องดูประสิทธิภาพ คุณภาพ และคุณสมบัติการบริหารจัดการในไทย เรื่องราคา และจำนวนที่จะมีให้ แต่ให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าวัคซีนที่จะเอามาใช้ประสิทธิภาพต้องยอมรับได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่าหากเกินร้อยละ 50 ขึ้นไป สามารถยอมรับให้นำมาใช้ได้ ผลข้างเคียงต้องไม่มาก

 

ด้าน นพ.สุรโชค กล่าวว่า การพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนต้องทำอย่างรอบคอบ โดยดูเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพประสิทธิผล และความปลอดภัย โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศช่วยกันพิจารณาได้เร็วและรอบคอบ ขณะนี้มี 2 บริษัท ที่ยื่นขอจดทะเบียนเข้ามา คือ แอสตราเซนเนก้า และไซโนแวค ซึ่งข้อมูลบางอย่างยังไม่ครบ แต่ขอให้ยื่นมาให้ครบภายในเดือนมกราคมนี้ เดิมการยื่นขอขึ้นทะเบียนต้องส่งข้อมูลให้ครบถ้วน แต่สำหรับวัคซีนโควิด-19 ต้องดำเนินการให้เร็ว จึงให้ทยอยส่งข้อมูลได้ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้ค่อยๆ ทยอยดูข้อมูล แต่การจะพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ต้องรอให้ข้อมูลครบทั้งหมดก่อน

“เช่นเดียวกับผู้ที่ต้องการนำเข้าก็ต้องมาขออนุญาตจาก อย.เช่นกัน โดยต้องมีเอกสารข้อมูลประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและความปลอดภัยวัคซีนที่จะมีการนำเข้ามาถึงจะได้รับการอนุญาตนำเข้าได้” นพ.สุรโชค กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง