รีเซต

แชร์ว่อน! “ต้นตีนเป็ด” สูดดมนานๆเสี่ยงหัวใจล้มเหลว อ.เจษฎ์ ตอบให้จริงหรือ?

แชร์ว่อน! “ต้นตีนเป็ด” สูดดมนานๆเสี่ยงหัวใจล้มเหลว อ.เจษฎ์ ตอบให้จริงหรือ?
TNN ช่อง16
9 พฤศจิกายน 2565 ( 19:00 )
141
แชร์ว่อน! “ต้นตีนเป็ด” สูดดมนานๆเสี่ยงหัวใจล้มเหลว อ.เจษฎ์ ตอบให้จริงหรือ?

จากกรณีในฤดูหนาว ต้นตีนเป็ด หรือ ต้นพญาสัตบรรณ เป็นช่วงที่ออกดอกส่งกลิ่นแรง ทั้งนี้ได้มีการแชร์ข้อมูลจากการรายงานของสื่อในวันนี้ว่า หากสูดดมนานๆอาจทำให้เกิดหัวใจล้มเหลว

 ล่าสุด ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์อธิบาย ผ่านเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์”  โดยระบุว่า 

"กลิ่นของต้นตีนเป็ด ไม่ได้มีสารพิษไซยาได์ นะครับ"

เรื่องนี้เคยโพสต์เตือนกันทุกปี ในช่วงฤดูที่ต้นตีนเป็ดออกดอก และส่งกลิ่นแรง ว่าเป็น "ข่าวปลอมข่าวมั่วที่แชร์กันมานานแล้ว"

แต่วันนี้มีรายงานข่าวในสื่อ อ้างถึงแพทย์แผนไทยท่านนึง ที่บอกว่า "ดอกที่ส่งกลิ่นแรงๆ เป็นกลิ่นของ"ไซยาไนด์" มีผลต่อระบบหัวใจโดยตรง และการหมุนเวียนของเลือดด้วย หากสูบดมนานๆ เกิดอาการเวียนหัว หน้ามืด บริเวณท้ายทอยจะมีอาการตึง อาจจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ระบบหัวใจอาจล้มเหลวได้"

ซึ่งก็ต้องขอแย้งอีกครั้ง ว่าเป็นแค่ข่าวปลอม ที่แชร์กันผิดๆ ครับ

รายการ "ชัวร์ก่อนแชร์" ของช่อง 9 อสมท. สำนักข่าวไทย ก็เคยทำรายงานตอนนี้เอาไว้เช่นกันครับ (https://youtu.be/uxkt48kFCQc) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่รายการไปสัมภาษณ์ ก็ระบุชัดเจนว่า กลิ่นของต้นพญาสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ดนั้น ไม่ได้มีสารพิษไซยาไนด์อย่างที่ว่า เป็นเรื่องไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อครับ

ดูรายละเอียดได้จากโพสต์เก่า ที่ผมเคยเขียนไว้ข้างล่างนะครับ

(รีโพสต์) "ต้นพญาสัตบรรณ ไม่ได้ปล่อยสารพิษไซยาไนด์ แต่แค่กลิ่นเหม็น (หอม ?)"

เรื่องมั่ว ๆเกี่ยวกับ "ต้นพญาสัตบรรณ" หรือ "ต้นตีนเป็ด" กลับมาแชร์กันอีกแล้วครับ โดยหาว่าเป็นต้นไม้พิษ ที่กลางคืนจะปล่อยพิษ "พวกไซยาไนด์" ออกมา โดยเฉพาะในช่วงฤดูออกดอก ... ไม่จริงนะครับ !! มันเป็นแค่ต้นไม้ที่ดอกส่งกลิ่นแรง ซึ่งบางคนก็ว่าเหม็น บางคนก็ว่าหอม

(อ้อ .. แล้วอย่าสับสนกับ "ต้นตีนเป็ดน้ำ" ที่ยางมีพิษด้วยนะครับ)

ต้นพญาสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ด 

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris (L.) R. Br. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย เป็นไม้ยืนต้นสูงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขาเป็นชั้น ๆ (เหมือนฉัตร) มีความสูงประมาณ 12-20 เมตร เปลือกต้นหนาเปราะ ผิวต้นเมื่อกรีดจะมียางสีขาว ออกดอกเป็นช่อคล้ายดอกเข็มที่ปลายกิ่งหรือส่วนยอดของลำต้น ดอกมีขาวอมเหลืองหรือเขียว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ

พญาสัตบรรณเป็นพืชที่มีฤทธิ์ทางอัลลีโลพาธี (Allelopathy) คือ สารสกัดสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของต้นคะน้า ข้าวโพด ข้าว ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวผิวมัน และคะน้าได้ มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรมากมายรวมทั้งใช้ใบพอกเพื่อดับพิษต่าง ๆ ได้ (ไม่มีรายงานถึงพิษอันตรายต่อมนุษย์) นอกจากนี้ ยังจัดเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาครอีกด้วย


ข้อมูลจาก : เพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์”

ภาพจาก  :  ภาวิต บุญชละ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง