รีเซต

ก.แรงงาน-ตม.ปูพรมตรวจต่างด้าวในโรงงาน ออกกฎกระทรวงเยียวยาลูกจ้างกระทบโควิด-19

ก.แรงงาน-ตม.ปูพรมตรวจต่างด้าวในโรงงาน ออกกฎกระทรวงเยียวยาลูกจ้างกระทบโควิด-19
มติชน
21 ธันวาคม 2563 ( 16:08 )
100
ก.แรงงาน-ตม.ปูพรมตรวจต่างด้าวในโรงงาน ออกกฎกระทรวงเยียวยาลูกจ้างกระทบโควิด-19

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กรมประมง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ภาคเอกชน ทางการเมียนมา เป็นต้น เพื่อวางมาตรการเชิงรุกเพิ่มเติมสำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด–19 ในกลุ่มแรงงานทั้งไทยและต่างด้าว

 

 

นายสุชาติ กล่าวว่า วันนี้ ได้สั่งการให้กรมการจัดหางาน (กกจ.) และ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) และหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่ตั้งชุดเฉพาะกิจ (ฉก.) ร่วมกับ ตร.และ ตม. เพื่อออกตรวจแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ร่วมมือกับสถานพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร บูรณาการทำงานเชิงรุก เพื่อจัดรถโมบาย ตู้ตรวจโรค ไปตั้งยังสถานประกอบการให้ลูกจ้างที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อได้เข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ให้ทราบผลภายใน 3-4 ชั่วโมง

 

 

“หากตรวจพบเชื้อ ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการควบคุมดูแลรักษาตามที่ สธ.กำหนด ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวกระทรวงแรงงาน โดย สปส. ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ ในบอร์ดประกันสังคม เพื่อดำเนินการตรวจโควิด–19 ให้แก่ลูกจ้างในสถานประกอบการในเชิงรุกโดยลูกจ้างไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ” นายสุชาติ กล่าว

 

นอกจากนี้ นายสุชาติ ยังกล่าวถึงมาตรการเยียวยาสำหรับกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า วันนี้ สปส.ได้นำเรื่องการพิจารณาประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา เพื่อขอความเห็นชอบ

 

 

“บอร์ดประกันสังคม มีมติเห็นชอบ และให้ สปส.ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. …. แก้ไขนิยาม เหตุสุดวิสัย หมายความรวมถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขนาดที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือ นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย และรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาดเป็น ผลกระทบให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างดังกล่าวซึ่งไม่ได้รับค่าจ้าง มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่รัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่ ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยทุกครั้งรวมกันไม่เกิน 90 วัน ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป” นายสุชาติ กล่าว

 

ทั้งนี้ นายสุชาติ กล่าวว่า สปส.จะได้นำเรื่องขอความเห็นชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง