รีเซต

สรุปรวม “แก้หนี้นอกระบบ” เปิดต้นตอสำคัญ “เมื่อคนไทยเข้าถึงหนี้ในระบบไม่ได้”

สรุปรวม “แก้หนี้นอกระบบ” เปิดต้นตอสำคัญ “เมื่อคนไทยเข้าถึงหนี้ในระบบไม่ได้”
TNN ช่อง16
4 ธันวาคม 2566 ( 15:10 )
75
สรุปรวม “แก้หนี้นอกระบบ” เปิดต้นตอสำคัญ “เมื่อคนไทยเข้าถึงหนี้ในระบบไม่ได้”


“แก้หนี้นอกระบบ” คืนศักดิ์ศรี-คืนความหวัง-สร้างความมั่นคง


ปัญหา “หนี้นอกระบบ” เป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยจำนวนมาก ล่าสุด รัฐบาล เอาจริง ผลักดันให้การ “แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ” เป็นวาระแห่งชาติ  เพื่อฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวังและสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทย


เมื่อวันที่  1 ธันวาคม 2566 ที่ผ่าน รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียน “หนี้นอกระบบ”  อย่างเป็นทางการไปแล้ว  โดยสามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ https://debt.dopa.go.th หรือเดินทางไปลงทะเบียนด้วยตนเองที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานครทุกแห่งทั่วประเทศ 




จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นภาพสะท้อนของปมปัญหาที่ซับซ้อนทางด้านสังคม คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของภาคครัวเรือน เพราะโดยทั่วไป ลูกหนี้ที่มีการกู้ยืมจากแหล่งเงินนอกระบบนั้น มักจะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ร้อยละ15 ที่กฎหมายกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และอาจต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงจากการทวงหนี้ของเจ้าหนี้ ดังนั้น หากมองจากมุมของลูกหนี้แล้ว การกู้ยืมนอกระบบน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการหมุนสภาพคล่อง หลังจากที่ลูกหนี้ได้พยายามใช้วิธีอื่นๆ มาแล้ว


เป้าหมายสำคัญของการแก้ปัญหา “หนี้นอกระบบ” ก็คือ การทำให้หนี้นอกระบบกลับเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งเมื่อสามารถช่วยประชาชนให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้นผลที่ชัดเจนที่สุดที่ลูกหนี้จะได้รับ คือ ภาระดอกเบี้ยที่ลดลงซึ่งก็จะทำให้ครัวเรือน สามารถปลดภาระหนี้ก้อนนั้นได้เร็วขึ้น


“แก้หนี้” ไม่ใช่ “พักหนี้-ยกหนี้” 


สำหรับประชาชนที่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาหนี้นั้น  ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เข้าไปใช้ หนี้นอกระบบให้ หรือ ยกหนี้ แต่รัฐบาลจะเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ย มีการบูรณาการหลายภาคส่วนเข้ามา ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง รับบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยพร้อมกันทั้งดูแลเจ้าหนี้ ลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการไปจนถึงปิดหนี้ จากนั้นรัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยกระทรวงการคลัง เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี


ขณะที่ข้อมูลจากกองกิจการอำนวยความยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เผยสถิติจำนวนประชาชน ที่เข้ามาร้องเรียนยังศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชน ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม พบว่า มีผู้ร้องขอความช่วยเหลือปัญหาหนี้นอกระบบ ตั้งแต่ปี 2553-2567 ถึง 16,354 ราย มีมูลค่าหนี้สูงถึงกว่า 10,000 ล้านบาท



“หนี้นอกระบบ” คือ “การค้าทาสในยุคใหม่” พรากอิสรภาพ และความฝัน

 

ปัญหา “หนี้นอกระบบ” นับเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ ซึ่งรัฐบาลได้ประเมินจำนวนครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบไว้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดว่าเลขนี้น่าจะประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ และปัญหาจริง ๆ น่าจะมีมากกว่านั้น 


ทั้งนี้ คนที่ไม่ได้เป็น “หนี้” อาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบ “ต่อทุกคน” ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ


ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ต้องเจอกับความเปราะบางที่เกิดขึ้นจากหนี้สินที่ใช้เท่าไรก็ไม่มีวันหมด  พวกเขาไม่สามารถแม้แต่จะฝัน หรือทำตาม Passion ได้  ปิดโอกาสการต่อยอดไปหลายอย่าง  ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ   ส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่ไปยังทุกภาคส่วน  เรื่องนี้ “นายกรัฐมนตรี” เคยกล่าวไว้ว่า 



“หนี้นอกระบบ” ถือว่าเป็น Modern World Slavery คือ เป็น “การค้าทาสในยุคใหม่” ที่ได้พรากอิสรภาพ ความฝัน ไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้





หนี้นอกระบบ ที่เราเห็นในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้ 


1. แก๊งหมวกกันน็อก คือ การปล่อยกู้แบบรายวัน โดยการยึดบัตร ATM บัตรเครดิต ไว้ค้ำประกัน ส่วนใหญ่ พ่อค้าแม่ค้า มักใช้บริการกลุ่มนี้ 

2. นายทุนใหญ่  คือ คนมีเงิน คนรวย ในพื้นที่ ปล่อยเงินกู้ให้กับคนเดือดร้อน ผ่านสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบ บ้างก็ใช้ “ที่ดิน” ในการค้ำประกัน หากผิดชำระหนี้ ก็จะยึด “ที่ดิน” ไว้แทน 

3. เงินกู้ออนไลน์  คือ การปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้แก่ธุรกิจ และบุคคลรายย่อยผ่านช่องทางออนไลน์ แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่เราจะคุ้นเคยในรูปแบบของการชวนเล่นวงแชร์ และแอปเงินกู้ผิดกฎหมาย 





ทำไม? คนไทยส่วนใหญ่ เข้าไม่ถึง “หนี้ในระบบ” 


สาเหตุหลักของการเกิด “หนี้สิน” มาจาก “รายได้” ไม่เพียงพอกับ “รายจ่าย” และ “หนี้นอกระบบ” ส่วนใหญ่ในปัจจุบันนีั มักจะมาจากการ “ไม่สามารถ” เข้าถึง “หนี้ในระบบ” ได้ เป็นปัญหาที่สะสมมานานและส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลต้องประกาศให้การแก้หนี้นอกระบบ เป็นวาระแห่งชาติ


“อุบัติเหตุทางการเงิน” ของคนไทยในปัจจุบัน อาจสร้างประวัติไม่ดีในระบบฐานข้อมูลการเงิน หรือ เรียกง่ายๆ ว่า “การติดบูโร” ส่งผลให้เสียเครดิต และถูกบันทึกประวัติไว้ 


“การกู้เงิน” ผ่านสถาบันการเงินต่างๆ จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจาก บริษัท เครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร เพื่อประกอบการพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น หากพบประวัติทางการเงินไม่ดี ก็จะไม่ปล่อยสินเชื่อให้ นี่จึงเป็นสาเหตุหลัก เมื่อรายได้ ไม่พอกับรายจ่าย คนส่วนใหญ่จึงหันไปพึ่ง ”หนี้นอกระบบ“ 






บูรณาการทุกภาคส่วน ไกล่เกลี่ย-ป้องกัน-ปราบปราม


สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น กระทรวงมหาดไทยจะใช้กลไกการทำงานดังกล่าวร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำงานด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ โดยจะมีการศึกษาการปฏิบัติตามมาตรฐานในการปฏิบัติงาน ให้เข้าใจกระบวนการของทั้งสองหน่วยงาน ตั้งแต่การช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะในมิติด้านการไกล่เกลี่ย และประนีประนอมข้อพิพาท การเฝ้าระวังและป้องกัน รวมถึงการปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด 


นอกจากนี้ จะมีการประสานเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบไม่ซ้ำซ้อนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งจะร่วมกันดำเนินการในทุกภาคส่วนอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเป็นไปตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ โดยจะกำหนดแผนการดำเนินการ เป้าหมาย และ KPI ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน


การแก้หนี้นอกระบบ ต้องยอมรับว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะในอดีตเคยมีรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลอภิสิทธิ์ หรือแม้แต่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยพยายามพลักดันมาตรการดังกล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว 


ครั้งนี้ คงต้องจับตาดู ว่าการแก้หนี้ ในรัฐบาลปัจจุบัน จะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน หากรัฐบาลเศรษฐา ทำได้  นอกจากจะช่วยเหลือประชาชน ให้หลุดพ้นจาก “ความยากจน” แล้ว ยังจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย 


สุดท้ายนี้ “ลูกหนี้” ทั้งหลาย อย่าเพิ่งดีใจ มาตรการดังกล่าว ไม่ได้ “ยกหนี้” เหล่าลูกหนี้ ต้องใช้หนี้คืน “ทุกบาททุกสตางค์” ควรพึงระลึกเสมอว่า เมื่อเราเดือดร้อน เจ้าหนี้เหล่านี้แหละ ที่ช่วยเหลือเรา...




ภาพ TNNOnline 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง