รีเซต

โควิด-19 : รัฐบาลเคาะออก พ.ร.ก.กู้เงิน-การเงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท รับมือไวรัสโคโรนา

โควิด-19 : รัฐบาลเคาะออก พ.ร.ก.กู้เงิน-การเงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท รับมือไวรัสโคโรนา
บีบีซี ไทย
7 เมษายน 2563 ( 14:55 )
83
โควิด-19 : รัฐบาลเคาะออก พ.ร.ก.กู้เงิน-การเงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท รับมือไวรัสโคโรนา

รัฐบาลเห็นชอบให้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การเงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19

หนึ่งในร่างกฎหมายที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (7 เม.ย.) คือ ร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นผู้แถลงข่าวด้วยตนเอง โดยระบุว่า งบประมาณ 1 ล้านล้านบาท จะถูกนำไปใช้จ่ายสองส่วนคือ 6 แสนล้านบาท สำหรับรักษาและเยียวยาด้านสุขภาพของประชาชน และอีก 4 แสนล้านบาท สำหรับฟื้นฟูและเยียวยาระบบเศรษฐกิจ โดยงบทั้ง 2 ส่วนนี้สามารถปรับโอนไปมาได้

ส่วน พ.ร.ก. อีก 2 ฉบับที่ ครม. อนุมัติ เป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงินรวม 9 แสนล้านบาทคือ ร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อดูแลภาคธุรกิจ วงเงิน 5 แสนล้านบาท และร่าง พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า "ไม่ใช่กู้เงิน แต่เป็นการเพิ่มอำนาจ ธปท. ในการบริหารจัดการ"

นายกรัฐมนตรีระบุด้วยว่า ครม. ยังเห็นชอบในหลักการให้ตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนและปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณปี 2563 เพื่อโอนงบของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่ราว 8 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท มาเป็น "งบกลาง" ใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน ทั้งนี้ต้องยอมรับว่างบของปี 2563 ถูกใช้จ่ายไปพลางก่อนตามสมควร ทำให้ปัจจุบันเหลืองบกลางอยู่ 3 พันล้านบาท จากที่ตั้งไว้ทั้งหมด 9.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งนายกฯ ระบุว่าต้องนำร่าง พ.ร.บ.นี้เสนอต่อที่ประชุม ครม. และรัฐสภา คาดมีผลบังคับใช้ช่วงต้นเดือน มิ.ย.

ผู้นำสูงสุดของรัฐบาลบอกด้วยว่า ครม. ได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหาโควิด-19 เป็น "วาระแห่งชาติ" ยินดีรับข้อเสนอจากทุกภาคส่วน แต่ขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย พร้อมยืนยันจะกวดขันการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

"รัฐบาลยืนยันเจตนารมณ์อันแนวแน่ในการรักษาสุขภาพให้คนไทย สิ่งใดที่ภาครัฐยังมีปัญหา ต้องขอให้เห็นใจ เข้าใจรัฐบาลด้วย เพราะเราทำงงานด้วยคนจำนวน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

การตรา พ.ร.ก.กู้เงิน ของรัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญเพื่อหางบประมาณมาจ่ายเป็นเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ "เราไม่ทิ้งกัน" เพื่อขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้จำนวน 9 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 1.35 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังแจ้งว่าถึงขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิกว่า 24.3 ล้านคน

ในวันที่ 8-10 เม.ย. กระทรวงการคลังจะทยอยโอนเงินเยียวยาให้ผู้ผ่านเกณฑ์กลุ่มแรกราว 1.6 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอชีพค้าขาย, ขับแท็กซี่, ขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง, มัคคุเทศก์ และขายสลากกินแบ่งรัฐบาล

รัฐบาลไหนเคยออก พ.ร.ก.กู้เงิน บ้างในรอบ 20 ปี

ชื่อกฎหมาย

วงเงินกู้

กรอบเวลากู้

ชวน หลีกภัย

พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. 2541

2 แสนล้านบาท

31 ธ.ค. 2543

พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541

5 แสนล้านบาท

-

พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541

3 แสนล้านบาท

31 ธ.ค. 2543

ทักษิณ ชินวัตร

พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ระยะที่ 2) พ.ศ. 2545

7.8 แสนล้านบาท

-

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552

4 แสนล้านบาท

31 ธ.ค. 2553

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

พ.ร.ก.ให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555

3.5 แสนล้านบาท

30 มิ.ย. 2556

ที่มา : บีบีซีไทยตรวจสอบและรวบรวมจากจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง