รีเซต

ปลายทางระบาด 'หมอประสิทธิ์' ยันทั่วโลกมองโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ขออย่าตกใจเลขติดใหม่

ปลายทางระบาด 'หมอประสิทธิ์' ยันทั่วโลกมองโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ขออย่าตกใจเลขติดใหม่
มติชน
8 กุมภาพันธ์ 2565 ( 10:22 )
52

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ทั่วโลกเริ่มมีแนวโน้มปรับเป็นโรคประจำถิ่น ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีคำที่ถูกค้นหาในกูเกิลมากที่สุดในโลกคือ Endemic เนื่องจากแต่ละประเทศไปในแนวทางเดียวกัน ยกตัวอย่างในยุโรปติดเชื้อใหม่วันละกว่าแสนราย แต่สเปนก็เพิ่งประกาศไปว่าจะเริ่มผ่อนคลายเต็มที่ ทั้งๆ ที่ติดเชื้อวันละ 2-3 หมื่นราย ดังนั้น ความมั่นใจเริ่มเกิดขึ้น เพราะโอมิครอนตั้งแต่ 24 พ.ย.2564 ตอนนี้ก็ 2 เดือนกว่าแล้ว มีข้อมูลตัวเลขยืนยันว่า ติดเชื้อและแพร่ระบาดเร็วจริงๆ แต่ความรุนแรงชัดเจนเมื่อเทียบกับเดลต้าที่มีความรุนแรงมากกว่า พบว่าโอมิครอนทำให้คนนอนโรงพยาบาล(รพ.) เพียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2 ของเดลต้า ส่วนอัตราเสียชีวิตก็ลดลง แต่ขณะเดียวกันคือ หากติดเชื้อมาก จำนวนเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ตัวอย่างคนเสียชีวิตเลข 3 หลักของสหราชอาราชจักร ฝรั่งเศส แต่พบว่าส่วนใหญ่ เป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีน ฉีดไม่ครบ หรือมีโรคร่วม

 

“ฉะนั้น ข้อมูลทั้งหลายกำลังบ่งชี้ว่า โลกกำลังน่าจะไปสู่ปลายทางของการระบาดโควิด อีกหน่อยจะเหมือนกับโรคหวัดที่ทั่วโลกเกิดเยอะ แต่เราไม่ได้จับตาว่าเป็นสายพันธุ์ใด ตราบใดที่โรคไม่รุนแรง ก่อเป็นการเสียชีวิต ดังนั้นโควิดมีหลายอย่างที่เริ่มเข้าสู่นิยามโรคประจำท้องถิ่น คือ โรคซึ่งไม่หายไป อีกหลายปียังเจออีก แต่มีบางอย่างที่พอจะคาดการณ์ได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า โรคประจำถิ่นบางโรค เกิดประจำถิ่นจริงๆ เจอบางภูมิภาค หรือเรารู้ว่าโรคจะเกิดในช่วงใดของปี คาดการณ์ปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันได้ เช่น โรคไข้เลือดออก ที่เจอในฤดูฝน มักพบในประเทศที่อากาศร้อนชื้น ส่วนวิธีเลี่ยงคือ กำจัดยุงลายที่เป็นพาหะ หรือไข้หวัดใหญ่ ที่ติดเชื้อแล้วก็รับยา นอนพักกผ่อน ไปจนถึงการฉีดวัคซีน ฉะนั้น เมื่อเรารู้เช่นนี้ ก็สามารถลดอัตราเสียชีวิตได้ จะกลายเป็นโรคที่อยู่กับเราไปเรื่อยๆ

 

“ไวรัสโควิดเอง ก็อาจกลายพันธุ์ไป ก็จะอยู่กับเราต่อไป เพราะโอกาสที่จะรุนแรงหรือแพร่เร็วกกว่าโอมิครอน ตามทฤษฎีถือว่าโอกาสน้อยมากๆ แล้ว ซึ่งโควิดจะก่อเรื่องต่อเมื่อ สายพันธุ์ใหม่รุนแรงกว่า และแพร่เร็วกว่า แต่โอกาสเกิดน้อยมาก เราอาจจะได้ยินใหม่อีก แต่ก็จะขึ้นมาแล้วหายไป ตราบใดที่โอมิครอนยังครองโลก เมื่อคนติดแล้วไม่เสียชีวิต ก็มีภูมิคุ้มกัน หลังจากนั้น คนมีภูมิฯ ก็จะยิ่งขึ้นไปอีก” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้การทำความเข้าใจกับประชาชน เป็นสิ่งสำคัญ การดูเฉพาะตัวเลขติดเชื้อรายใหม่ เช่น “พุ่งอีก” “พุ่งไม่หยุด” จะทำให้เกิดความกลัว ตื่นตระหนก หรือเกิดอารมณ์ร่วม ดังนั้น ขณะนี้โควิดเลยจุดที่รุนแรงจากตอนเดลต้าแล้ว เมื่อมาเจอสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเร็ว ก็ทำให้เกิดผู้ติดเชื้อใหม่ขึ้น แต่ความรุนแรงไม่เพิ่ม เราจึงต้องมาดูเรื่องตัวเลขผู้ป่วยหนัก ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตมากกว่า พร้อมกับการสื่อสารเพื่อให้คนมารับวัคซีนมากขึ้น เพื่อลดความรุนแรงของโรค สร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกคนที่ติดแล้วไม่เสียชีวิต สุดท้ายเชื้อก็จะสงบลงไปโดยปริยาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง