รีเซต

วิกฤตค่าเงินสะท้อนอะไร? หลังเงินปอนด์ร่วงหนัก สวนทางดอลลาร์

วิกฤตค่าเงินสะท้อนอะไร? หลังเงินปอนด์ร่วงหนัก สวนทางดอลลาร์
TNN ช่อง16
28 กันยายน 2565 ( 16:58 )
90

ขณะที่เงินเงินปอนด์สเตอร์ลิงของสหราชอาณาจักรอ่อนค่าร่วงหนัก เงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลับแข็งค่าพุ่งทะยาน ท่ามกลางหลายวิกฤตโลกเป็นฉากหลัง ทั้งวิกฤตในยูเครน สินค้าราคาพุ่งสูง และมาตรการล็อกดาวน์ป้องกันโควิด-19 ในจีน 


---เงินปอนด์อ่อนค่าหนัก---


อัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์สเตอร์ลิงของสหราชอาณาจักร กับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงหนึ่งของการซื้อขายที่ตลาดเอเชีย เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ (26 กันยายน) ตามเวลาท้องถิ่น อยู่ที่ 1.0327 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1 ปอนด์ ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ลดลง 4.9% จากอัตราแลกเปลี่ยนช่วงปิดตลาด เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา 


แม้หลังจากนั้นค่าเงินปรับขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ที่ 1.0699 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1 ปอนด์ แล้วก็ตาม ขณะที่เมื่อเทียบกับเงินยูโร เงินปอนด์สเตอร์ลิงของสหราชอาณาจักร ก็อ่อนค่าลง 1.3% ที่ระดับ 92.60 เพนนี ต่อ 1 ยูโร ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2000


ทั้งนี้ ค่าเงินปอนด์เริ่มดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา หลัง ควาซี ควาร์เต็ง รัฐมนตรีคลังสหราชอาณาจักร ประกาศมาตรการปรับลดภาษีครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ปี 1972 เป็นวงเงินประมาณ 45,000 ล้านปอนด์ (ราว 1.79 ล้านล้านบาท) 


ครอบคลุมระหว่างปี 2026-2027 ซึ่งแยกต่างหากจากมาตรการเยียวยาครัวเรือนในประเทศจากวิกฤตพลังงาน ซึ่งจะมีวงเงินสูงถึง 100,000 ล้านปอนด์ (ราว 3.98 ล้านล้านบาท)


---ปรับลดภาษี หวังบรรเทาภาวะเศรษฐกิจถดถอย---


แม้การประกาศนี้อาจจะช่วยบรรเทาภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่การที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มว่าจะต้องกู้ยืมเงินมหาศาลถึง 72,000 ล้านปอนด์ (เกือบ 3 ล้านล้านบาท) ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ก็ส่งผลกระทบต่อตลาดเช่นกัน และเป็นการเพิ่มความไม่แน่นอนในตลาดการเงิน 


พร้อมกับเตือนว่า ภาครัฐจะเผชิญกับความเสี่ยง ในการแก้ไขการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และเงินปอนด์อาจอ่อนค่าลงอีกจนแตะ 1 ต่อ 1 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนั่นจะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าจำเป็นและสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติด้วยเงินดอลลาร์ จะยิ่งมีราคาและต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมาก


เปา หลิน เทียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน บอกกับ Al Jazeera ว่า ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในตอนนี้อยู่ในระดับต่ำมาก 


นโยบายด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ ที่มุ่งเน้นการลดภาษีในกลุ่มคนร่ำรวย ไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนส่วนใหญ่ และน่าจะไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 



---แรงผลักดันทำเงินดอลลาร์แข็งค่า---


แม้รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะมีเครื่องมือในการรับมือ ซึ่งก็คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อหวังดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาเก็บผลกำไรที่ดีกว่า แต่จนถึงตอนนี้ ธนาคารกลางอังกฤษก็ยังไม่มีท่าทีจะปรับขึ้นดอกเบี้ย แม้ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ จะเพิ่งส่งสัญญาณรับลูกเมื่อวันจันทร์ว่า จะไม่ลังเลที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากจำเป็นก็ตาม 


ส่วนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่กำลังแข็งค่าและพุ่งขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2021 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเดือนที่แล้ว ที่ค่าเงินดอลลาร์พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 เดือน เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ ของโลก 6 สกุลเงินนั้น นักวิเคราะห์มองว่ามีแรงผลักดันอยู่ 2 ประการ


ประการแรก คือ ความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของบรรดาผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ ที่แม้จะกำลังเผชิญกับทั้งวิกฤตอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังสะดุด แต่หลายฝ่ายยังเชื่อมั่นในเสถียรภาพของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่และแข็งแกร่งมาก 


อีกทั้งแม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะยังไม่มั่นคง ทั้งจากวิกฤตยูเครนและเศรษฐกิจขาลงในยุโรป แต่นักลงทุนเชื่อว่า ถือเงินดอลลาร์ไว้ในมือ ยังไงก็ปลอดภัยกว่า 


ขณะที่ ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่น ๆ มีเพียงญี่ปุ่นประเทศเดียวในกลุ่ม 10 ประเทศยักษ์ใหญ่ที่ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ส่วนยุโรปเองก็กำลังดำดิ่งสู่ภาวะชะลอตัวเต็มรูปแบบ


---สหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเเบี้ย---


ส่วนแรงผลักดันที่สอง ซึ่งมีความสำคัญมาก หนีไม่พ้นการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ที่ล่าสุด เพิ่งปรับเพิ่มอีก 0.75% เป็นรอบที่ 3 ติดต่อกันสู่ระดับ 3.00%-3.25% ในการประชุมเมื่อวันพุธที่แล้ว มุ่งเป้าไปที่การต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี 


มาตรการนี้อาจต้องแลกมาด้วยภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและตัวเลขว่างงานที่สูงขึ้น แต่จะได้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกซื้อไปเก็บมากขึ้น ช่วยให้ค่าเงินพุ่งขึ้นตามไปด้วย 


แม้ว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรและกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร หรือยูโรโซน มีแผนที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีท่าทีชัดเจนและปรับขึ้นแบบเอาจริง เล็งเห็นผลเหมือนกับเฟดของสหรัฐฯ ทำให้เงินดอลลาร์ชิงความได้เปรียบไปแล้วหลายช่วงตัว


---ภาวะเงินเฟ้อที่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้---


แน่นอนว่า เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันได้ประโยชน์ เพราะจะได้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศในราคาที่ถูกลง การเดินทางไปพักผ่อนยังต่างประเทศก็มีค่าใช้จ่ายลดลง 


แต่กับอีกหลายฝ่ายถือเป็นฝันร้าย ไม่เพียงแต่จะยังฉุดค่าเงินสกุลอื่นให้ดิ่งลง ผู้คนในประเทศอื่น ๆ ก็จะต้องมีรายจ่ายมากขึ้น เมื่อซื้อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ หรือเมื่อต้องเดินทางไปสหรัฐฯ 


นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในประเทศอื่น ๆ มีแนวโน้วปรับเพิ่มขึ้น น้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มักจะใช้เงินดอลลาร์ในการซื้อ ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ตามด้วยค่าใช้จ่ายด้านอาหาร พลังงาน และอื่นๆ ของภาคครัวเรือนเป็นเงาตามตัว 


ปัญหาในการจ่ายหนี้ของครัวเรือนในต่างประเทศก็จะมีมากขึ้น ฉุดให้รัฐบาลต้องเก็บภาษีเพิ่ม จนครัวเรือนต้องมีรายจ่ายเพิ่ม นำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไมได้นั่นเอง

—————

แปล-เรียบเรียง: ชายแดน คล้ายใยทอง

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

1, 2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง