เบื้องลึก "มาราธอนมรณะ" สะเทือนจีนกับปมผู้จัดมองแต่กำไร ไม่สนชีวิตนักวิ่ง
Editor’s Pick: ‘ผลกำไรที่แลกมากับชีวิตนักกีฬา’ เมื่องานวิ่งมาราธอนในจีน กลายเป็นอีเวนต์มรณะ จนสังคมตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของนักกีฬา และมาตรฐานการจัดงานแข่งขัน
เส้นทางสุดอันตราย
เส้นทางคดเคี้ยวผ่านหุบเขาอันแคบ และต้องข้ามผ่านภูเขาที่สูงถึง 2 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล กับเส้นทางอันยาวไกลกว่า 100 กิโลเมตร เพื่อไปสู่จุดเส้นชัย คงเป็นความฝันของเหล่านักวิ่งมาราธอน ผู้ชื่นชอบความเสี่ยงอันตรายที่จะได้พิชิตการแข่งขันนี้ เป็นประสบการณ์ไม่รู้ลืม
แต่ทว่า ความฝันนั้นมาพร้อมกับโศกนาฏกรรมอันเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์กีฬาของจีน เมื่อพบผู้เสียชีวิตจากงานแข่งขันกีฬาวิ่งอัลตร้า-มาราธอน เมื่อวันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม บริเวณป่าหินแม่น้ำเหลือง ในเมืองไป่หยิน มณฑลกานซู
จาง เสี่ยวเถา เป็นนักวิ่งเพียงคนเดียวที่รอดชีวิตจากกลุ่มตัวเก็งชนะการแข่งขันทั้งหมด 6 คน หลังต้องเจอกับสภาพอากาศที่เลวร้าย เพราะฝนเกิดจุดเยือกแข็ง และอุณหภูมิลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว
ช่วงสติสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่ของเขา จางได้เอาตัวเองคลุมไปกับผ้าห่มฟรอยด์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองเกิดภาวะ Hypothemia หรือภาวะอุณหภูมิร่างกายลดต่ำ และกดปุ่ม SOS ขอความช่วยเหลือผ่านเครื่อง GPS ติดตามของเขา แต่ก็ไม่มีหน่วยกู้ภัยไหนมา
“ผมต้องต่อสู้กับลมกระโชกและฝนที่กระหน่ำลงมาบนทางที่สูงชัน เมื่ออุณหภูมิลงลดอย่างรวดเร็ว เม็ดฝนกลายเป็นลูกเห็บกระทบใส่หน้า และทำให้มองเห็นเส้นทางไม่ชัด” จาง บอกเล่าเหตุการณ์ผ่านเว็บไซต์ Weibo
จางได้รับการช่วยเหลือจากคนเลี้ยงแกะในพื้นที่ ที่ลากเขาเข้าไปในถ้ำเพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย
เกิดอะไรขึ้นในการแข่งขัน
มีผู้เสียชีวิต 21 คน จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 172 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยภาวะ Hypothermia เป็นภาวะเมื่อร่างกายต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส ทำให้เสียการควบคุมร่างกายและสติ จนกระทั่งเกิดหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
นักวิ่งที่รอดชีวิตต่างบอกเล่าเหตุการณ์ที่พบเจอจากงานแข่งขันครั้งนี้ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะกลุ่มนักวิ่งมาราธอนด้วยกันเอง
“ช่วงระหว่างจุดพักที่สองและสาม เป็นช่วงยากที่สุดของการแข่งขันกับความสูงชัน 1 กิโลเมตร และเส้นทางอีก 8 กิโลเมตร ไม่มีอุปกรณ์ที่จำเป็นในจุดพักที่สาม หมายความว่าแม้พวกเราจะไปถึงเส้นชัย ที่นั่นก็ไม่มีอาหารและน้ำดื่ม นอกจากนี้ยังไม่มีจุดแวะพักบนภูเขา และทางออกด้วย” ผู้ใช้บัญชีโซเชียลมีเดียรายนึง กล่าว
“ผมล้มแล้วล้มอีกมากกว่า 10 ครั้ง แขนขาผมเริ่มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ผมรู้สึกว่าร่างกายผมตอบสนองช้าไปหมด หลังจากที่ล้มครั้งสุดท้ายผมไม่สามารถลุกขึ้นได้อีกเลย” โค้ชสโมสรกีฬาวัย 30 ปี กล่าว
การวิ่งมาราธอนเป็นที่นิยมในจีนมากขึ้น
ชนชั้นกลางจีนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การวิ่งกลายมาเป็นงานอดิเรก ที่ผู้คนให้ความสนใจ สิ่งที่ตามมาคืองานวิ่งมาราธอน และงานวิ่งเทรล ที่กลายเป็นที่นิยมสูงในช่วงไม่กี่ปีมานี้
ข้อมูลจากสมาคมนักกีฬาจีน ระบุว่า เมื่อปี 2019 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 มีการจัดงานวิ่งมาราธอน หรือวิ่งทางไกลอื่น ๆ รวม 1,828 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมกว่า 7 ล้านคน ถือว่าเพิ่มขึ้นมาก จากเมื่อปี 2014 ที่จัดแค่ 51 การแข่งขันเท่านั้น
งานวิ่งที่แพร่หลาย ส่วนหนึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลเองด้วย เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬา ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นจัดงานวิ่งมาราธอน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และเพิ่มการใช้จ่ายของประชาชน แต่ข้อบังคับที่ยังหละหลวม และขาดการควบคุมดูแลของรัฐบาล ทำให้งานวิ่งหลายงานเต็มไปด้วยอันตราย อาการบาดเจ็บและล้มตาย เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
ผลประโยชน์ที่แลกมาด้วยโศกนาฏกรรม
โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นสร้างความตกใจให้กับกลุ่มนักวิ่งมาราธอนชาวจีนหลายคน พร้อมตั้งคำถามกับผู้จัดแข่งขันว่าได้วางแผนดีไหม หรือเตรียมความพร้อมสำหรับการเกิดภาพอากาศเลวร้ายหรือไม่
ทางการเมืองไป่หยิน กล่าวโทษเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน แต่หลายคนเชื่อว่าผู้จัดงานควรออกมาแสดงความรับผิดชอบ สำหรับความไม่เตรียมพร้อมในเรื่องการแจ้งข้อควรระวังและความปลอดภัย
อเล็กซ์ หวัง บล็อกเกอร์สายท่องเที่ยว เคยทำงานบริษัทกีฬากลางแจ้งของจีนจนถึงปี 2019 และมีประสบการณ์จัดงานวิ่งมาราธอนมากกว่า 10 ครั้งในจีน บอกว่า งานที่เธอจัดทุกครั้งต้องจ้างรถพยาบาลทุก 10 กิโลเมตร แต่ไม่ใช่ผู้จัดงานทุกคนจะยอมจ่ายเงินส่วนนี้
"ทั้งหมดนี้ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่าย หากคุณต้องการจัดตั้งจุดช่วยเหลือเพิ่มเติม และจัดเตรียมผู้คนให้พร้อมตามสนามแข่ง คุณต้องใช้เงินมากขึ้น" เธอกล่าว
ผู้คนมากมายได้เข้าไปวิจารณ์บนเว็บไซต์ของคณะกรรมการกลางตรวจสอบวินัยพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือ CCDI อธิบายถึงความเจ็บป่วยมากมายที่เกิดกับอุตสาหกรรมการวิ่งมาราธอน จากผู้จัดงานที่หละหลวม
“บางงานมุ่งเน้นแต่กำไรอย่างเดียว ไม่ลงทุนกับการบริการและความปลอดภัย บางบริษัทไม่มีคุณสมบัติและความสามารถในการจัดแข่งขันกีฬาที่มีความเสี่ยงสูงด้วยซ้ำ" ผู้ใช้บัญชีโซเชียลมีเดียรายนึง กล่าวผ่านเว็บไซต์ของ CCDI
"พวกเขาแสวงหาแต่ผลประโยชน์และความสำเร็จเท่านั้น เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบางคนไม่มีความรู้วิธีการกำกับดูแลงานแข่งขันด้วยซ้ำ”
—————
เรื่อง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ภาพ: STR / CNS / AFP