รีเซต

EM ยังสำคัญอยู่ไหม? นักกิจกรรมยื่นศาลขอถอดกำไล EM ตามรอย 'พิ้งกี้'

EM ยังสำคัญอยู่ไหม? นักกิจกรรมยื่นศาลขอถอดกำไล EM ตามรอย 'พิ้งกี้'
TNN ช่อง16
4 กุมภาพันธ์ 2566 ( 16:35 )
89
EM ยังสำคัญอยู่ไหม? นักกิจกรรมยื่นศาลขอถอดกำไล EM ตามรอย 'พิ้งกี้'

นักกิจกรรม ยื่นศาลขอถอดกำไล EM ตามรอย ‘พิ้งกี้’


กรณีดังกล่าวส่งผลให้ผู้ต้องหารายอื่น ประสงค์ยื่นศาลเพื่อขอถอดกำไล EM ตามรอยนักแสดงสาว โดยเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า 3 นักกิจกรรมซึ่งถูกเงื่อนไขให้ติดอุปกรณ์กำไลติดตามตัว (EM) ได้แก่ ‘น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว’ หรือ ลูกเกด ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ปทุมธานี เขต 3 และนักกิจกรรมทางการเมือง, ‘นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา’ หรือ ไผ่ ดาวดิน แกนนำกลุ่มทะลุฟ้า และ ‘นายภาณุพงศ์ จาดนอก’ เดินทางไปเข้ายื่นคำร้องขอถอดกำไล EM ต่อศาลอาญา รัชดาฯ เช่นกัน


โดยการยื่นศาลขอถอดกำไล EM นักกิจกรรมล้วนอ้างเหตุผลสำคัญเกี่ยวกับประโยชน์ในการทำงานและเดินทาง เฉกเช่นกรณีของดาราสาวพิ้งกี้ ซึ่งล่าสุดวันที่ 2 ก.พ. 2566 ทางเฟซบุ๊กส่วนตัวของไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก และลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว ระบุว่า ศาลได้อนุญาตให้ถอดกำไล EM เรียบร้อยแล้ว



รู้จัก “กำไล EM” มีไว้เพื่ออะไร? พร้อมเปิดเงื่อนไข เหตุผลใดจึงถอดได้


สำหรับ “อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว” (Electronic Monitoring) หรือ “EM” เป็น อุปกรณ์รับส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์พร้อมกับชุดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการติดตามตัว รวมถึงการตรวจสอบความเคลื่อนไหว หรือตำแหน่งของผู้ถูกคุมประพฤติให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสั่ง อาทิ การห้ามออกหรือห้ามเข้าบริเวณที่กำหนด โดยอาจกำหนดช่วงเวลาด้วยก็ได้ 


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2561 เป็นต้นมา กระทรวงยุติธรรมและศาลยุติธรรม เริ่มนำกำไล “EM” มาใช้เป็นเครื่องติดตามตัว และใช้แทนการวางหลักทรัพย์จำนวนมากสำหรับประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาและคดียาเสพติด เพื่อให้คนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการต่อสู้คดีต่างๆ ได้


ทั้งนี้ สำหรับเงื่อนไขในการถอดกำไล EM นั้น เป็นนักโทษที่ขอความกรุณาแก่ศาล โดยพิจารณาจากความสะดวกในการเดินทาง หารายได้ และผู้ถูกคุมประพฤติที่เข้าเงื่อนไขได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว หลังพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้





ชวนส่องโครงการเช่ากำไล EM ติดตามตัวนักโทษ 3 หมื่นเครื่อง วงเงิน 800 กว่าล้าน


ขณะที่งบประมาณโครงการเช่ากำไล EM นั้น เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี 2563 คณะรัฐมนตรี เห็นชอบโครงการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือ EM ติดตามตัวนักโทษ แทนการลงโทษจำคุก จำนวน 30,000 เครื่อง วงเงิน 877.26 ล้านบาท เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ โดยการเช่า EM พร้อมระบบที่เกี่ยวข้องสำหรับการติดตามตัวผู้กระทำผิดตามที่กรมคุมประพฤติกำหนด ครอบคลุม 3 กลุ่ม ได้แก่ 

1. ผู้ถูกคุมประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 

2. ผู้ต้องราชทัณฑ์ นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการพักการลงโทษ หรือได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกตามที่กฎหมายกำหนดไว้

3. ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตาม พ.ร.บ. ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545


ความกังวลที่จะเกิดขึ้น หากถอดกำไล EM กับหลัก ‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์’


การถอดกำไล EM อาจทำให้เกิดกระแสความกังวลในการติดตามผู้ต้องหาในอนาคต แต่อีกด้านก็มีความเห็นแย้งว่าไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรค 2 ที่ระบุว่า "ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” หรือเรียกว่า หลักการ presumption of innocence นั่นเอง ซึ่งเป็นการย้ำว่า ผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ต้องปฏิบัติต่อผู้นั้นเหมือนเป็นผู้บริสุทธิ์ตลอดกระบวนการ จะปฏิบัติเหมือนกับผู้กระทำความผิดไม่ได้ 


สอดคล้องกับที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีการพูดในสภาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งระบุว่า กรอบที่กระทรวงสามารถทำได้โดยเร็ว นั่นคือ การปฏิรูปในประเด็นการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้สอดคล้องกับหลักในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ คือให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีอาญา และการจับกุมหรือคุมขัง ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น


ดังนั้น ด้านหนึ่ง การใช้กำไล EM เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล แต่อีกด้านหนึ่ง ก็สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งนี้อาจเป็นเครื่องพันธนาการผู้ต้องหา ทำให้ถูกติดตามและใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ทั้งที่ยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ก็ตาม


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง