รีเซต

เกษตรจังหวัดมหาสารคาม เดินหน้าเกษตรทฤษฎีใหม่รับมือ ภัยแล้ง-COVID-19

เกษตรจังหวัดมหาสารคาม เดินหน้าเกษตรทฤษฎีใหม่รับมือ ภัยแล้ง-COVID-19
77ข่าวเด็ด
15 กรกฎาคม 2563 ( 08:31 )
253

สนง.เกษตรจังหวัดมหาสารคาม เดินหน้าเกษตรทฤษฎีใหม่ จับมือชุมชนสร้างความมั่นคงด้านอาหาร รับมือวิกฤตภัยแล้งและลดผลกระทบจากโรคไวรัส COVID-19 

มหาสารคาม- สนง.เกษตรจังหวัดมหาสารคาม เดินหน้าโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 13 อำเภอ คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ อย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 ราย รวม 1,944 หมู่บ้าน เกษตรกร 1,944 ราย สร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยให้กับชุมชนและสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อรับมือวิกฤตภัยแล้งและลดผลกระทบจากโรคไวรัส COVID-19 พร้อมขยายผลแต่ละหมู่บ้านโดยการประสานพลังอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านและเกษตรหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน

จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่อเค้ารุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19  ส่งผลให้มีแรงงานคืนถิ่นย้ายกลับภูมิลำเนา สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม จึงต้องหาทารับมือเพื่อความอยู่รอดของเกษตรกร โดยได้นำแนวคิดการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการจัดพื้นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและมีชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีแบ่งพื้นที่เป็นส่วน ๆ ได้แก่ พื้นที่แหล่งน้ำ พื้นที่ดินสำหรับทำนาปลูกข้าว พื้นที่ดินสำหรับปลูกพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักสวนครัว รวมถึงส่วนของที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ มาเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อสู้กับวิกฤตภัยแล้งและลดผลกระทบจากโรคไวรัส COVID-19 ภายใต้หลักการให้สำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 13 อำเภอ คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ประสบผลสำเร็จ ให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือเพื่อเป็นแปลงตัวอย่างในการดำรงชีวิตประจำวัน ที่สามารถหลุดพ้นจากภัยแล้งได้อย่างยั่งยืนมีอาหารปลอดภัยที่เปรียบเสมือนตู้เย็นหรือซุปเปอร์มาเก็ตข้างบ้านไว้บริโภคในครัวเรือน แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 ก็ตาม เกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งอาหารจากภายนอก ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ควรจะมีการขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ด้วยการลงพื้นที่เกษตรกรต้นแบบจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างเครือข่ายให้สมาชิกนำไปประยุกต์ใช้ในไร่นาตามสภาพพื้นที่ตนเองตามความสมัครใจ หัวใจสำคัญคือการบริหารจัดการน้ำให้มีใช้ตลอดทั้งปีและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการทำเกษตร จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี และจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในหลายพื้นที่

นายพรมมา  หล้าสุดตา หนึ่งในเกษตรกรต้นแบบเกษตรทฤษฏีใหม่ บ้านดงน้อย หมู่ที่ 5 ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม   กล่าวว่าทำนามาตั้งแต่เกิดขายข้าวปีละครั้งก็ยังหนีไม่พ้นความยากจน แต่พอหลังทำเกษตรทฤษฏีใหม่จะมีลูกค้าเข้ามาซื้อถึงสวน  แรก ๆ ภรรยาไม่เห็นด้วยใช้เวลาขอพื้นที่กับภรรยาอยู่ 2 ปี จึงอนุญาตให้ทำ 1 ไร่  ปรากฏว่าได้ผลดี มีเจ้าหน้าที่และเกษตรกรแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนและศึกษาเรียนรู้ไม่ขาดสาย จึงได้ขยายพื้นที่ออกไปแต่ละวันตนเองจะตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะปลูกต้นไม้ให้ได้ทุกวัน พืชที่ปลูกมีทั้งไม้ผลไม้ยืนต้น พืชผักหลากหลายชนิด นอกจากนี้ก็ยังเลี้ยงหนูนา เลี้ยงวัว เลี้ยงเป็ด ไก่ และเลี้ยงปลา ทำให้มีอาหารปลอดภัยและมีความมั่นคงด้านอาหารไว้บริโภคในครัวเรือนทุกวัน  ที่เหลือก็แบ่งปันนำไปขายทำให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 400-500 บาท

ขณะที่นายบุญจันทร์   พิลาพันธุ์  หนึ่งในสมาชิกเกษตรกรที่เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ กล่าวว่า จากการศึกษาเรียนรู้จะไดนำความรู้ไปปรับใช้ในไร่นาของตนเอง และหากมีโอกาสก็จะชักชวนเพื่อนบ้านให้มาศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปขยายผลต่อไป

ทั้งนี้ เกษตรกรต้นแบบมีการดำเนินวิถีชีวิตด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ด้วยการทำระบบอินทรีย์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน กิจกรรมมีทั้งการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผัก ไม้ผลไม้ยืนต้น การอนุรักษ์ดินและน้ำ และการขุดสระเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรมีการบริหารจัดการน้ำและทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง