รีเซต

รฟท.ยื่นหลักฐานศาลปกครองเพิ่ม ยัน'โฮปเวลล์'จดทะเบียนไม่ถูกต้อง โมฆะตั้งแต่แรก

รฟท.ยื่นหลักฐานศาลปกครองเพิ่ม ยัน'โฮปเวลล์'จดทะเบียนไม่ถูกต้อง โมฆะตั้งแต่แรก
มติชน
30 กรกฎาคม 2563 ( 17:17 )
91

รฟท. ยื่นหลักฐานต่อศาลปกครองเพิ่มเติม เพื่อยืนยัน “บริษัทโฮปเวลล์ ประเทศไทย” จดทะเบียนไม่ถูกต้อง โมฆะตั้งแต่แรก เสนอนายกฯ ตั้งคณะกรรมการฯพิเศษขึ้นมาพิจารณา มั่นใจถ้าทำไม่ถูกรื้อคดีใหม่ได้

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ศาลปกครอง ถ.เเจ้งวัฒนะศาล นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้ายื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ในคดีที่ได้ยื่นฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยกล่าวว่าเป็นการมายื่นหนังสือฐานเอกสารเพิ่มเติมตามคำสั่งศาล คดีนี้ต้องแยกจากคดีที่ศาลปกครองยืนตามคำสั่งอนุญาโตตุลาการที่ให้การรถไฟชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทโฮปเวลล์ฯ เพราะกรณีนี้เป็นการร้องเพื่อเพิกถอนการจดทะเบียนบริษัท เอกสารที่ยื่นเป็นคำชี้แจงของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพฯ โดยอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ระบุเหตุผล 3 ข้อ ที่ไม่เพิกถอนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโอปเวลล์ฯ ว่า

1.ประกาศคณะปฏิวัติ 281 ห้ามคนต่างด้าวเข้าประกอบธุรกิจในไทยเว้นได้แต่ในรับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษจากรัฐบาลหรือเป็นความตกลงระหว่างรัฐบาล

2.วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัทโอปเวลล์ฯ เป็นไปตามมติครม. ปี 33 ที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจที่เห็นชอบให้เอกชนเข้ามาลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ เข้าหลักเกณฑ์จึงได้สิทธิเข้าประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยไม่ต้องขออนุญาตตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ข้อ 2 การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโฮปเวลล์ ประเทศไทย จึงเป็นไปตามกฎหมาย

3.เมื่อนายทะเบียนธุรกิจเห็นว่าบริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยเป็นการเฉพาะกาลแล้วและได้รับการยกเว้นจากประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 แล้ว จึงถือว่าบริษัทโฮปเวลล์ ฯสามารถประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้ เพราะสิทธิในการประกอบธุรกิจเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายแล้ว ซึ่งเราก็เห็นว่าการดำเนินการไม่ถูกต้อง ศาลก็จะได้ทราบถึงเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมีการฟ้องคดี และเป็นเอกสารที่มีอยู่จริงมีการแจ้งเรื่องไปให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพิกถอนแล้วก่อนที่จะมีการฟ้อง

“ผมตรวจสอบเอกสารแล้วเห็นว่า การเริ่มต้นจดทะเบียนบริษัทก่อนที่จะเข้ามารับสัมปทานในไทย เริ่มต้นโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อการจดทะเบียนไม่ถูกต้องก็เท่ากับเป็นโมฆะตั้งแต่แรก การมีอยู่ของบริษัทนั้นไม่ถูกต้อง ไม่สามารถเข้าทำสัญญากับรัฐบาลได้ ฝ่ายที่ทำสัญญาหรือฝ่ายที่เข้าทำสัญญาก็ถือว่าผิดทั้งคู่ ก็ต้องกลับไปดูตรงนี้กันก่อน เรื่องอื่นยังไม่ต้องว่ากัน เพราะข้อกำหนดของมติ ครม.ชัดเจนว่าอนุญาตให้แค่ไหน และต้องปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้มีการปฏิบัติตามนั้น”นายนิติธร กล่าว

นายนิติธร ยังกล่าวถึงกรณีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก่อนหน้านี้ ที่ระบุเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัทโฮปเวลล์ฯ ว่าแม้จะไม่ถูกต้องแต่ผู้เกี่ยวข้องก็กลับให้มีการลงนามสัญญา ว่าไม่น่าจะมีผลกับคดีนี้ และการที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาชี้ถึงรายละเอียดดังกล่าว ก็เท่ากับว่าศาลเองก็เห็นว่าการจดทะเบียนนั้นไม่ชอบ แต่ยังไม่ได้มีการเพิกถอน ตนจึงต้องมาร้องเพิกถอนจริงๆ แล้วเรื่องนี้จะให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด คณะรัฐมนตรีจะต้องเป็นเจ้าภาพ ไม่ใช่ให้ รฟท. หรือกระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพ เพราะทั้งสองหน่วยงานมีฐานะเป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจาก ครม.เท่านั้น เรื่องนี้ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว ก็ได้มีการยื่นต่อศาลขอให้พิจารณาคดีใหม่ และหยุดการบังคับคดีไว้ก่อน ซึ่งตนได้ทำหนังสือถึงนายกฯ ว่าควรต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมา และมีเหตุผลที่สำคัญ คือ เรื่องเกิดปี 2533 ครม.ใหม่ไม่รู้เรื่องทั้งบรรดาเอกสาร หลักฐานต่างๆ จึงมีเหตุผลอย่างเต็มที่ในการจะดำเนินการ

“ ไม่ใช่ว่าพอเกิดเรื่องแล้ว ครม.ไปให้กระทรวงคมนาคม รฟท.ดำเนินการ มันก็ดำเนินการได้ แต่ไม่ครบถ้วน สมบูรณ์ ไม่มีอำนาจเต็มเพียงพอ ถ้า ครม.ดำเนินการเองเรื่องนี้จบไปแล้ว และชนะคดีอย่างแน่นอน คิดว่าเรื่องนี้นายกฯต้องไปทบทวน และคิดว่าควรต้องเสียเงินหรือไม่ เพราะชัดเจนอยู่ว่าเอกสารที่ให้ตรวจสอบไปช่วงนั้นชัดเจนว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกตามขั้นตอนอยู่หลายประเด็น รวมทั้งบริษัทหรือคนที่เข้ามาถือหุ้นใหม่ จะมาอ้างคำพิพากษาแล้วต้องจ่ายเงินมันก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าเทียบเคียงกับคดีดังที่เป็นข่าวในขณะนี้ ถึงแม้จะสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง แต่ถ้ากระบวนการสั่งมันไม่ชอบด้วยกฎหมายก็รื้อใหม่ได้ กรณีนี้ก็เหมือนกัน ถ้ากระบวนการที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะมาอาศัยคำพิพากษาของศาลแล้วไปสั่งจ่ายเงิน ถ้านายกฯทำอย่างนี้ก็เข้าข่ายมีความผิด รฟท. และกระทรวงคมนาคมก็ผิด จึงต้องรื้อกันใหม่ คดีนี้ไม่ต้องว่ากันด้วยพยานบุคคล ว่ากันด้วยพยานเอกสารล้วน ๆ เอกสารชัดเจนมาก ว่าใครผิดใครถูก สัญญาทำได้หรือไม่ เราจะยอมเสีย 2.4 หมื่นล้านกับสิ่งทำไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และนายกฯจะตั้งคณะกรรมการพิเศษคดีนี้หรือไม่ ถ้าตั้งก็ง่ายก็ชัดเจน ก็ดำเนินการใหม่ทั้งหมดได้”นายนิติธร กล่าว

นายนิติธร ยังกล่าวว่าคณะกรรมการพิเศษควรจะประกอบไปด้วยใครบ้างก็แล้วแต่นายกฯ แต่ให้ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ว่าดำเนินการมาถูกต้องหรือไม่ ตรวจสอบตั้งแต่การลงนามในสัญญา การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ มติ ครม.ขณะนั้น และมีการปฏิบัติตามมติ ครม.หรือไม่ ตรวจสอบทุกองค์กร ซึ่งจะเป็นการที่นายกรัฐมนตรี และ ครม.ใช้สิทธิเข้ามาในฐานะคู่สัญญาตัวจริง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง