คาดใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สิ้น ก.ย.นี้ ให้อำนาจอัตโนมัติ สั่งเคอร์ฟิว ปิดกิจการ/กิจกรรมได้
คาดใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สิ้น ก.ย.นี้ ให้อำนาจอัตโนมัติ สั่งเคอร์ฟิว ปิดกิจการ/กิจกรรมได้
เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. …ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ยังอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และยังไม่ได้แก้ไขกลับเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่อย่างใด เบื้องต้นในรายละเอียดของกฎหมาย จะมีการออกแบบกฎหมายที่จะถูกใช้ แบบกระชับมากขึ้น ใช้ในกรณีโรคติดต่อร้ายแรง หรือฉุกเฉิน ไม่กระทบสิทธิประชาชน เพราะปัจจุบันที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น อาจจะมีบางคนที่ไม่สบายใจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านนี้จุดอ่อนของ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ยังไปไม่ถึงคือการประสานงานหน่วยงานอื่นๆ การแก้ไขใหม่จะปิดจุดอ่อนตรงนี้อย่างไร นายสาธิต กล่าวว่า จะมีการแก้ไขให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีอำนาจมากขึ้นในการกำกับนโยบาย แต่ พ.ร.บ.โรคคิดต่อฯ จะมีอำนาจมากขึ้นในการกำกับนโยบายให้ฝ่ายพื้นที่ได้ปฏิบัติ ก่อนหน้านี้อาจจะมีปัญหาว่าจังหวัดนั้น ทำอย่างนั้น จังหวัดนี้ ทำอย่างนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวก็จะสามารถใช้อำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในระดับนโยบายไปทำเรื่องควบคุมโรคที่ตรงกัน ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนจะเข้า ครม. เมื่อไรนั้น ยังไม่ทราบ ต้องรอกฤษฎีกา
แหล่งข่าวใน สธ. กล่าวว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ฉบับแก้ไขนั้น จะให้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เหมือนกับอำนาจหน้าที่ของ ศบค. ในปัจจุบัน โดยในยามปกติ จะมีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่เมื่อไรที่ประเทศไทยมีการระบาดของโรคระบาด และนายกรัฐมนตรี มีการประกาศให้โรคนั้น เป็นโรคติดต่ออันตราย หรือโรคติดต่อฉุกเฉิน คณะกรรมการโรคติดต่อฯ จะถูกยกระดับแบบอัตโนมัติทันที มีอำนาจในการสั่งควบคุม ป้องกันโรค สั่งเคอร์ฟิว สั่งปิดกิจการต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องอาศัยการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และไม่ต้องตั้งคณะทำงาน หรือคณะกรรมการที่คล้ายกับ ศบค.ขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งการได้ และสามารถตั้งคณะทำงานต่างๆ เพิ่มเติมได้
“คาดว่าร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ฉบับใหม่นี้ น่าจะออกแล้วเสร็จ และบังคับใช้ภายในเดือนกันยายนนี้ เพราะว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีการประกาศล่าสุด จะมีอายุการใช้งานถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้ และรัฐบาลไม่อยากจะประกาศต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก” แหล่งข่าว กล่าว