กรมอุทยานฯ โต้สื่อนอก ไทยไม่ใช่แหล่งแพร่ 'โควิด' เก็บตัวอย่างตลาดจตุจักรไม่พบเชื้อ
กรมอุทยานฯ โต้สื่อต่างชาติ ยันไทยไม่ใช่แหล่งแพร่ 'โควิด' เก็บตัวอย่างตลาดจตุจักรไม่พบไวรัสโคโรน่า ในสัตว์ที่มีการค้าขายในตลาดจตุจักร
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงกรณีสื่อต่างประเทศรายงานข่าวตลาดนัดจตุจักรอาจเป็นต้นกำเนิดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนอู่ฮั่น โดยระบุว่า กรณีสื่อต่างประเทศ โดยสำนักข่าว โพลิทิเคน ของเดนมาร์ก เสนอรายงานข่าวระบุว่า ตลาดค้าสัตว์ในสวนจตุจักร กทม. อาจเป็นสถานที่ต้นกำเนิดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่นของจีน และทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยอ้างข้อมูลจากเธีย เคิลเซน ฟีสเชอร์ แพทย์ชาวเดนมาร์ก ซึ่งทำงานกับองค์การอนามัยโลก และยังมีรายงานการพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ในค้างคาวบางสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
ขณะที่สำนักข่าวสปุตนิก (Sputnik) ของรัสเซีย เคยอ้างผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ คอมมิวนิเคชันส์ (Nature Communications) เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ถูกพบในเลือดของค้างคาวเกือกม้า 5 ตัว ที่อาศัยอยู่ในถ้ำจำลองของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่งทางตะวันออกของไทย ซึ่งคณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าเลือดของค้างคาวฝูงนี้ มีรหัสพันธุกรรมเหมือนกับของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สูงถึงร้อยละ 91.5
กรมอุทยานฯ ขอชี้แจงว่า ดำเนินการสำรวจสัตว์ที่ค้าในตลาดจตุจักร และเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ทุกกลุ่ม เช่น สัตว์กลุ่มกระรอก กลุ่มแมว กลุ่มสุนัข กลุ่มหนู กระต่าย และสัตว์ต่างประเทศ เช่น ลิงมาโมเสท เม่นแคระ เมียร์แคท ชูการ์ไกลเดอร์ เป็นต้น เมื่อวันที่ 19 มี.ค.63 ปรากฏว่า ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรน่า ในสัตว์ที่มีการค้าขายในตลาดจตุจักร
ดังนั้น ข้อมูลที่กล่าวว่าไทยอาจเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (SARS-CoV-2) นั้น จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ทั้งนี้สัตว์ที่มีการค้าในตลาดจตุจักรเป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์และค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งสัตว์ต่างประเทศที่นำเข้าอย่างถูกกฎหมาย โดยมีชุดปฏิบัติการ 1362 ของกรมอุทยานฯ เข้าตรวจตรา ป้องกันการกระทำผิด รวมทั้งให้คำแนะนำในเรื่องความปลอดภัยและการป้องกันโรคจากสัตว์ป่าสู่คนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเด็นตามข่าวที่อ้างว่าพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในค้างคาวเกือกม้า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางตะวันออกของประเทศไทยนั้น ขอเรียนชี้แจงว่า ในเดือนมิ.ย.2563 คณะนักวิจัยของไทย ประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มค้างคาวมงกุฎ (หรือค้างคาวเกือกม้าที่กล่าวถึงในข่าว) ในหลายพื้นที่ และถ้ำหลายแห่งที่เป็นแหล่งเกาะนอนของค้างคาวมงกุฎยอดสั้นใหญ่
ดำเนินการเก็บตัวอย่างมูลค้างคาวและเลือด เพื่อทำการตรวจหาไวรัสโคโรน่า 2019 โดยความร่วมมือทางวิชาการกับโปรแกรมการศึกษาและวิจัยโรคอุบัติใหม่ มหาวิทยาลัย Duke-NUS พบว่าไวรัสที่ตรวจพบในค้างคาวมีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายไวรัสโคโรน่า 2019 ประมาณ 91% ไม่สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้
นอกจากนั้น กรมอุทยานฯ ยังได้ดำเนินการเชิงรุกโดยมีการสำรวจเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในค้างคาว และลิ่น ในธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นที่อาจเป็นตัวกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคอุบัติใหม่หรือการกลายพันธุ์ของเชื้อ รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้งดการล่า ค้า รวมทั้งบริโภคสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคจากสัตว์สู่คน