นาโตมีบทบาทอย่างไรในปัญหารัสเซีย-ยูเครน
ชาติสมาชิกองค์การนาโตกำลังพิจารณาว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนมากน้อยเพียงใด ในภาวะที่ชาติสมาชิกกำลังเสี่ยงเผชิญการรุกรานจากมหาอำนาจด้านการทหารอย่างรัสเซีย
ชาติสมาชิกองค์การนาโตกำลังพิจารณาว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนมากน้อยเพียงใด ในภาวะที่ชาติสมาชิกกำลังเสี่ยงเผชิญการรุกรานจากมหาอำนาจด้านการทหารอย่างรัสเซีย
ในขณะที่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนกับรัสเซียกำลังร้อนระอุขึ้น ชาติสมาชิกนาโต ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี ต่างเร่งเตรียมความพร้อมด้านการทหารเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครน
นาโต คืออะไร
นาโต (Nato) ย่อมาจาก องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรด้านการทหารที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1949 โดยมีสมาชิกก่อตั้ง 12 ประเทศ คือ เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ
ชาติสมาชิกได้ทำข้อตกลงในการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันกรณีที่สมาชิกถูกโจมตีด้วยอาวุธ
วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของนาโตคือ เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามจากรัสเซียที่แผ่ขยายอำนาจเข้าไปในยุโรป ช่วงหลังสงครามโลก
ในปี 1955 รัสเซียได้ตอบโต้องค์การนาโต ด้วยการก่อตั้งพันธมิตรทางทหารของตัวเองขึ้นในหมู่ชาติคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกที่เรียกว่า องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอว์ (Warsaw Pact)
หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 อดีตชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอว์ก็ได้หันไปเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 30 ประเทศ
รัสเซียมีปัญหาอะไรกับนาโตและยูเครน
ยูเครนเคยเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียตที่มีพรมแดนติดกับทั้งรัสเซีย และสหภาพยุโรป (อียู)
ปัจจุบันยูเครนยังไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การนาโต แต่เป็น "ประเทศหุ้นส่วน" ซึ่งหมายความว่า อาจจะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในอนาคต
อย่างไรก็ตาม รัสเซียต้องการให้บรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตกรับประกันว่า จะไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต ทว่านี่เป็นข้อเรียกร้องที่ชาติตะวันตกไม่ยอมรับ
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัสเซีย โดยระบุว่า สหรัฐฯ มีหลักการที่ชัดเจน ซึ่งรวมถึงเรื่องอธิปไตยของยูเครน และสิทธิที่ยูเครนจะเลือกเข้าร่วมกลุ่มด้านความมั่นคงต่าง ๆ เช่น นาโต
ยูเครนมีประชากรเชื้อสายรัสเซียอยู่จำนวนมาก ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างแน่นแฟ้นกับรัสเซีย และในเชิงยุทธศาสตร์ รัฐบาลรัสเซียมองว่า ยูเครนเปรียบเสมือนสวนหลังบ้านของตนเอง
รัสเซียกังวลเรื่องอะไรอีกบ้าง
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียกล่าวหาชาติมหาอำนาจตะวันตกว่า กำลังใช้นาโตเข้าปิดล้อมรัสเซีย และเขาต้องการให้นาโตยุติกิจกรรมทางทหารในยุโรปตะวันออก
ที่ผ่านมา ผู้นำรัสเซียระบุว่า สหรัฐฯ ละเมิดคำมั่นที่เคยให้ไว้ในปี 1990 ว่านาโตจะไม่แผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปในโลกฝั่งตะวันออก
ด้านนาโตได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัสเซีย โดยชี้ว่ามีสมาชิกนาโตเพียงไม่กี่ประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย และการรวมกลุ่มของนาโตมีขึ้นเพื่อการป้องกันตนเอง
หลายฝ่ายเชื่อว่า การที่รัสเซียเร่งเสริมกำลังทหารตามแนวชายแดนที่ติดกับยูเครนในขณะนี้ อาจเป็นความพยายามบีบบังคับให้ชาติตะวันตกพิจารณาข้อเรียกร้องของรัสเซียอย่างจริงจังมากขึ้น
นาโตจัดการปัญหารัสเซีย-ยูเครน อย่างไรในอดีต
ตอนที่ยูเครนขับประธานาธิบดีที่สนับสนุนรัสเซียลงจากอำนาจเมื่อต้นปี 2014 รัสเซียได้ใช้กำลังผนวกเอาดินแดนในคาบสมุทรไครเมีย ทางภาคใต้ของยูเครนเข้าเป็นของตนเอง นอกจากนี้ ยังให้การหนุนหลังกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินดินที่เข้ายึดพื้นที่เป็นวงกว้างทางภาคตะวันออกของยูเครน
นาโตไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในเรื่องดังกล่าว แต่ตอบโต้ด้วยการส่งทหารเข้าประจำการในหลายประเทศแถบยุโรปตะวันออกเป็นครั้งแรก โดยมีกองกำลังนานาชาติขนาดเท่ากองพันประจำการอยู่ในเอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และโปแลนด์ รวมทั้งมีกองกำลังนานาชาติขนาดเท่ากองพลน้อย ประจำการอยู่ในโรมาเนีย
นาโตยังได้ขยายอาณาเขตการรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศแถบทะเลบอลติกและยุโรปตะวันออก เพื่อคอยสกัดเครื่องบินรัสเซียที่บินล่วงล้ำน่านฟ้าของชาติสมาชิก
รัสเซียระบุว่า ต้องการให้นาโตถอนกองกำลังเหล่านี้ออกไป
นาโตให้คำมั่นกับยูเครนอย่างไร
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ประกาศว่ารัสเซียมี "ราคาที่ต้องจ่ายมหาศาล" หากรุกรานยูเครน
ขณะนี้ สหรัฐฯ ได้เตรียมพร้อมกำลังรบเอาไว้ 8,500 นาย แต่กระทรวงกลาโหมระบุว่า จะส่งทหารเหล่านี้ไป ก็ต่อเมื่อนาโตตัดสินใจดำเนินปฏิบัติการตอบโต้อย่างฉับพลัน อย่างไรก็ตาม ชี้ว่า สหรัฐฯ ไม่มีแผนการส่งทหารเข้าไปประจำการในยูเครนด้วยตัวเอง
นางอันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี เตือนว่า ความตึงเครียดทางทหารที่เพิ่มขึ้น จะทำให้รัฐบาลรัสเซียต้องเผชิญการตอบโต้อย่างรุนแรงในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และยุทธศาสตร์
ส่วนทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระบุว่า สหราชอาณาจักรเห็นพ้องว่า "ชาติสมาชิกนาโตจะออกมาตรการตอบโต้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการคว่ำบาตรขนานใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน"
นาโตเป็นหนึ่งเดียวกันเรื่องยูเครนหรือไม่
ประธานาธิบดี ไบเดน ระบุว่า มีความเห็น "เป็นเอกฉันท์" กับบรรดาผู้นำยุโรปในเรื่องยูเครน แต่ขณะเดียวกันชาติต่าง ๆ ก็ให้การสนับสนุนที่แตกต่างกันออกไป
สหรัฐฯ ระบุว่า ได้ส่ง "ความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทธภัณฑ์" ราว 90 ตัน ให้แก่ยูเครนสำหรับใช้ใน "กองกำลังสู้รบในแนวหน้า" ซึ่งรวมถึง เครื่องกระสุนปืน ขีปนาวุธต่อต้านรถถัง "แจฟเวอลีน" และอาวุธเจาะเกราะต่าง ๆ ขณะที่สหราชอาณาจักรได้จัดส่งขีปนาวุธต่อต้านรถถังพิสัยใกล้ไปให้
ส่วนสมาชิกนาโตบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก สเปน ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ต่างส่งเครื่องบินขับไล่ และเรือรบไปยังยุโรปตะวันออกเพื่อเสริมกำลังการป้องกันตนเองในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม เยอรมนีได้ปฏิเสธคำร้องขอการสนับสนุนด้านอาวุธจากยูเครน เนื่องจากต้องปฏิบัติตามนโยบายของประเทศที่จะไม่ส่งอาวุธสงครามให้แก่พื้นที่ที่มีความขัดแย้ง แต่จะให้ความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์แทน
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ได้เรียกร้องให้เปิดการเจรจากับรัสเซีย เพื่อบรรเทาความตึงเครียดของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น