รีเซต

แคสเปอร์สกี้เผยพฤติกรรมออนไลน์เด็กไทยกว่า 45% สนใจเรื่องซอฟต์แวร์-เนื้อหาประเภทภาพและเสียงอันดับ 1

แคสเปอร์สกี้เผยพฤติกรรมออนไลน์เด็กไทยกว่า 45% สนใจเรื่องซอฟต์แวร์-เนื้อหาประเภทภาพและเสียงอันดับ 1
มติชน
13 เมษายน 2564 ( 09:20 )
74

แคสเปอร์สกี้เปิดเผยรายงานล่าสุดเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนในการใช้เว็บในช่วงปีที่ผ่านมา และในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ทำการเก็บสถิติโดย Kaspersky Safe Kids และพบว่าเด็กไทย 45.31% สนใจเรื่องซอฟต์แวร์และเนื้อหาประเภทภาพและเสียง

 

 

เทคโนโลยีเป็นฮีโรที่เข้ามาช่วยชีวิตเราจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบหน้ามือเป็นหลังมือในโลกที่ถูกกวนจากการแพร่ระบาด เทคโนโลยีทำให้เรายังเรียนหนังสือได้ ยังคงสื่อสารถึงกันได้ และแม้จะต้องกักตัวรักษาระยะห่างทางสังคมก็ยังช่วยให้เราใช้ชีวิตไปได้ระดับหนึ่งเท่าที่จะทำได้ ผู้ใหญ่และเด็กๆ ต่างตระหนักถึงความสำคัญของคอมพิวเตอร์ที่เป็นมากกว่าความบันเทิง แต่ยังเป็นเครื่องมือการสื่อสาร การเรียนรู้ การพัฒนาตนเองได้อีกด้วย

 

 

ในปี 2020 เด็กในประเทศไทย (45.31%) เข้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาภาพและเสียงมากที่สุด อันดับที่สองเป็นใช้การสื่อสารผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ต (26.06%) เพื่อใช้โปรแกรมในเวอร์ชั่นเว็บของ WhatsApp, Telegram, Facebook, Instagram และเว็บไซต์อื่นๆ ในประเภทเดียวกัน และลำดับที่สามคือเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ (11.35%) ในขณะที่ความสนใจในเกมคอมพิวเตอร์กลับไม่สูงนักมีเพียง 9.93%

 

 

ข้อมูลของแคสเปอร์สกี้เก็บรวบรวมจาก Kaspersky Security Network (KSN) จากผู้ใช้งานที่ใช้ Kaspersky Safe Kids ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์โซลูชั่นที่ป้องกันเด็กๆ จากเนื้อหาที่มีความเสี่ยง ทั้งบนแพลตฟอร์มวินโดวส์และ macOS

 

 

นายเซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “เด็กและเยาวชนทุกวันนี้เริ่มใช้เทคโนโลยีตั้งแต่อายุยังน้อยมากๆ และไม่รู้จักโลกที่ไร้อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์โมบาย และยิ่งมีภาวะการแพร่ระบาดของโควิด ยิ่งทำให้ต้องพึ่งพาและใช้เทคโนโลยีในชีวิตมากยิ่งกว่าช่วงเวลาใดๆ ไม่ว่าจะเพื่อการเรียนรู้หรือสันทนาการ การที่เด็กๆ ใช้ชีวิตในยุคอินเทอร์เน็ต จึงเป็นความรับผิดชอบของเราเพื่อให้เด็กและเยาวชนปลอดภัยในโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้และเติบโตได้อย่างปลอดภัย รวมถึงได้รับการป้องกันให้พ้นจากเนื้อหาอันตรายหรือสิ่งล่อลวงที่ว่อนอยู่ตามเว็บต่างๆ”

 

 

ในปี 2020 แคสเปอร์สกี้ก็ยังสกัดกั้นเด็กไทยที่พยายามจะเข้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาอันตราย แม้จะเป็นจำนวนน้อยมากๆ เช่น ลามกอนาจาร (0.28%) ความเกลียดชังและการแบ่งแยก (0.05%) อาวุธ (0.05%) การพนันทางอินเทอร์เน็ต (0.04%) และยาเสพติด (0.01%)

 

 

“เราไม่สามารถกำจัดความชั่วร้ายจากอินเทอร์เน็ตได้ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาลามกอนาจาร การพนัน เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง ความแตกแยก อาวุธ และยาเสพติด เราก็คงไม่สามารถที่จะกันเด็กและเยาวชนออกจากเรื่องเหล่านี้ได้ทั้งหมด เพราะเด็กๆ ก็เติบโตมีอิสระมากขึ้นทุกวัน แต่นอกเหนือจากการตั้งมาตรการเพื่อความปลอดภัยต่างๆ แล้ว เราก็สามารถอบรมสั่งสอนให้เด็กๆ มีความรู้ความเข้าใจ และรู้เท่าทันสิ่งชั่วร้ายแอบแฝงที่ปะปนมากับการใช้อินเทอร์เน็ตได้” นายเซียง เทียง โยวกล่าวเสริม

 

 

เคล็ดลับสำหรับผู้ปกครองในการช่วยให้เด็กและเยาวชนใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย


● ให้เวลากับบุตรหลาน พูดคุยกับเด็กๆ เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย สิ่งที่ควร ไม่ควรทำ การรู้จักสังเกตุ ข้อมูลที่ควรหรือไม่ควรโพสต์บนเน็ต


● ท่องเน็ตไปด้วยกันกับเด็กๆ คอยสังเกตุว่าเขาเข้าเว็บไซต์ใดบ้าง และแนะนำเรื่องความปลอดภัย เล่นเกมออนไลน์ด้วยกันจะได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ ไปด้วยกัน


● อธิบายเรื่องความอ่อนไหวของข้อมูล เรื่องส่วนตัวที่ควรส่งเฉพาะทางแอปข้อความและคนที่เรารู้จักตัวตนจริงๆ เท่านั้น


● เรียนรู้ความสนใจของลูกหลาน Kaspersky Safe Kids สามารถส่งรายงานการใช้งานอินเทอร์เน็ตแต่ละวัน สามารถวิเคราะห์สิ่งที่เด็กๆ ค้นหาทางออนไลน์ และบริหารจัดการเรื่องเวลาออนไลน์โดยที่เด็กๆ ไม่รู้สึกว่าถูกจำกัดพื้นที่ส่วนตัว

 

 

ประเด็นที่น่าสนใจและสำคัญสองประการ คือ


● เป็นการตัดสินใจของผู้ปกครองในการเลือกเนื้อหาที่จะบล็อกด้วยการตั้งค่าความชอบในโซลูชั่น แต่จะมีการเก็บสถิติแบบนิรนามไว้ตามรายการ 14 รายการอยู่ดี


● ข้อมูลจะถูกเก็บจากคอมพิวเตอร์ที่ใช้วินโดวส์และ macOS เท่านั้น ไม่มีสถิติจากในส่วนของอุปกรณ์โมบายในรายงานนี้

 

 

Kaspersky Safe Kids กรองเนื้อหาเว็บตามรายการต่อไปนี้
● การสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต
● เนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่
● เครื่องดื่มแอลกอฮอล บุหรี่ ยาเสพติด
● ความรุนแรง
● อาวุธ ระเบิด พลุ ดอกไม้ไฟ
● ลามกอนาจาร
● การพนัน การเสี่ยงโชค ชิงโชค ล็อตเตอรี่
● เกมคอมพิวเตอร์
● ร้านค้าออนไลน์ ธนาคาร ระบบการชำระเงิน
● ซอฟต์แวร์ เนื้อหาภาพและเสียง
● การเข้าถึงระบบที่ไม่ปรากฎชื่อชัดเจน ปกปิดชื่อ
● การหางาน
● ศาสนา ความเชื่อ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับศาสนา
● สื่อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง