รีเซต

กรณีศึกษา 'โรงเรียนคําสร้อยพิทยาสรรค์' คลัสเตอร์เปิดเทอมทำใจว้าวุ่น การ์ดตกเมื่อไหร่ โควิดคุมยาก!

กรณีศึกษา 'โรงเรียนคําสร้อยพิทยาสรรค์' คลัสเตอร์เปิดเทอมทำใจว้าวุ่น  การ์ดตกเมื่อไหร่ โควิดคุมยาก!
TeaC
5 พฤศจิกายน 2564 ( 12:04 )
269
กรณีศึกษา 'โรงเรียนคําสร้อยพิทยาสรรค์' คลัสเตอร์เปิดเทอมทำใจว้าวุ่น  การ์ดตกเมื่อไหร่ โควิดคุมยาก!

เดือนพฤศจิกายนนอกจากเปิดประเทศแล้ว ยังเป็นช่วง "เปิดเทอม" ที่หลายโรงเรียนต้องเข้มมาตรการป้องกันโควิด ล่าสุดพบข่าวการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอ์รร.คําสร้อยพิทยาสรรค์ อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร หลังเปิดเรียนได้เพียง 3 วัน โดยครูและนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 กว่า 80 ราย และต้องกักตัวนักเรียนกว่า 1,200 คน เพื่อระดมกำลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเร่งคัดกรองเข้าตรวจหาเชื้อโควิดซ้ำทั้งโรงเรียน

 

ทั้งนี้ อัพเดทล่าสุด หลังจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร ทำการตรวจ RT-PCR ซ้ำทั้งครู 72 คน และนักเรียน 1,202 คน โรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรค์ พบผลเป็นลบทั้งหมด ไม่มีใครติดเชื้อโควิด-19 ได้มีการให้กลับบ้าน เพื่อกักตัวที่บ้านต่อ 14 วัน พร้อมกันนี้ นายธฤติ ประสานสอน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เขตตรวจราชการที่ 11  ได้มีการสั่งปิดการเรียนการสอนแบบ On site และปรับเป็นแบบเรียนออนไลน์ปกติ

 

และนี่คือ กรณีศึกษาของการเกิดคลัสเตอร์เปิดเทอมใหม่ โดยหากไม่คุมเข้มป้องกันอาจเป็นไปได้ที่จะเกิดกลุ่มคลัสเตอร์โรงเรียนขนาดใหญ่ที่เมื่อหลุดรอดอาจขยายเป็นวงกว้าง พาเชื้อเข้าบ้านสู่ครอบครัว คนในชุมชน คนในหมู่บ้านที่สุด ดังนั้น สถานศึกษา โรงเรียน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องหยิบยกกรณีศึกษาของโรงเรียนคําสร้อยพิทยาสรรค์ ที่ต้องเข้ม ๆ กับมาตรการการป้องกันโควิด-19

 

วงคลัสเตอร์โรงเรียน การ์ดตกเมื่อไหร่ โควิดคุมยาก!

ยกตัวอย่าง หากเกิดคลัสเตอร์โรงเรียน ส่งผลกระทบใครบ้าง? สิ่งที่ต้องเข้าใจกันก่อนเลย "คลัสเตอร์" จะใช้เรียกกรณีตรวจพบผู้ติดโควิด-19 ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในรอบ 14 วัน โดยทุกคนมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน และอาจมีช่วงเวลาสัมผัสใกล้กัน โดยจะใช้คำว่าคลัสเตอร์เรียกแหล่งที่มาของติดโรคนั้น เช่น คลัสเตอร์โรงเรียนคําสร้อยพิทยาสรรค์ ซึ่งการเปิดคลัสเตอร์อาจไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ต้นทางเชื้อมาจากที่ใด ผู้ติดเชื้อแต่ละคนติดเชื้อจากคนไหน เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะสัมผัสรับเชื้อจากคนอื่น ๆ ในพื้นที่เดียวกันก็ได้

 

และหากเกิดคลัสเตอร์แล้ว การระบุจำนวนผู้ติดเชื้อหลังจากที่มีการกระจายจากคลัสเตอร์ไปแล้ว เช่น ครู นักเรียนติดเชื้อแต่ไม่ได้มีการกักตัว ไม่ตรวจเชื้อ กลับบ้านก็ทำให้นำเชื้อเข้าบ้านไปติดคนในบ้าน ซึ่งจะทำได้ยากกว่าการระบุจำนวนผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์ที่ยังไม่กระจายออกไป เนื่องจากการพบผู้ติดเชื้อหลังจากกระจายออกไปแล้วนั้น มีความเป็นไปได้ที่ผู้ติดเชื้ออาจรับเชื้อมาจากที่อื่น ไม่ใช่ในคลัสเตอร์เดียวกับรายอื่น ๆ หรือผู้ติดเชื้ออาจแพร่เชื้อไปยังที่อื่นแล้วโดยไม่รู้ตัว ทำให้ระบุจำนวนได้ยาก รวมทั้งกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง สร้างผลกระทบหลากหลายด้านด้วยเช่นกัน เช่น คุณภาพชีวิต รายได้ของคนในครอบครัว เศรษญกิจชมุชน จังหวัด เป็นต้น

 

ดังนั้น การป้องกันด้วยมาตรการหลัก DMHT-RC และมาาตรการเสริม (SSET-CQ) ในสถานศึกษา โรงเรียน เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาห หากการ์ดตก โควิดคุมยากแน่นอน การยึดปฏิบัติไม่เพียงช่วยป้องกันตัวเองแล้ว ยังป้องกันคนในชุมชน สังคมด้วย

 

6 มาตรการหลัก  (DMHT-RC) ป้องกันโควิด-19 ในโรงเรียน มีอะไรบ้าง?

กรมอนามัยจึงขอเน้นย้ำพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และเด็กวัยเรียน ยึดปฏิบัติตามหลัก 6 x 6 ป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย 6 มาตรการหลัก  (DMHT-RC)  

 

 

1. เว้นระยะห่าง (Distancing)

เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร


2. สวมหน้ากาก (Mask Wearing)

นักเรียน นักศึกษา (มัธยม-อุดม) บุคคลากรทางการศึกษาสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย 100% ตลอดเวลาที่อยู่ในสถานศึกษา


3. ล้างมือ (Hand Washing)

ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ นาน 20 วินาที หรือใช้แจลแอลกอฮอล์


4. คัดกรองวัดไข้ (Testing)

วัดไข้ สังเกตอาการ ซักประวัติผู้สัมผัสเสี่ยงทุกคนก่อนเข้าสถานศึกษา


5. ลดการแออัด (Reducing)

ลดแออัด ลดเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มคนจำนวนมาก


6. ทำความสะอาด (Cleaning)

ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วม

 

6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) 

และ 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) ที่โรงเรียน นักเรียน ครู และผู้ปกครอง ต้องปฏิบัติตามนี้ 

 

 

1. ดูแลตนเอง (Self care)

ดูแลใส่ใจ ปฏิบัติตน มีวินัย รับผิดชอบตัวเอง ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด  

 

2. ใช้ช้อนกลางส่วนตัว (Spoon)

ใช้ช้อนกลางของตนเองทุกครั้ง เมื่อต้องกินอาหารร่วมกัน ลดสัมผัสร่วมกับผู้อื่น

 

3. กินอาหารปรุงสุกใหม่ (Eating)

กินอาหารปรุงสุกใหม่ร้อนๆ กรณีอาหารเก็บเกิน 2 ชม. ควรนำมาอุ่นให้ร้อนทั่วถึง ก่อนกินอีกครั้ง

 

4. ไทยชนะ (Thai chana)

ลงทะเบียนตามที่รัฐกำหนดด้วย app ไทยชนะ หรือลงทะเบียนบันทึกการเข้า-ออกอย่างชัดเจน

 

5. สำรวจตรวจสอบ (Check)

สำรวจบุคคล นักเรียน กลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง

 

6. กักกันตัวเอง (Quarantine)

กักกันตัวเอง 14 วัน เมื่อเข้าไปสัมผัสหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดโรค

 

ชุดตรวจ RT-PCR เชื่อถือได้แค่ไหน?

สำหรับการตรวจ RT-PCR (Polymerase chain reaction) เป็นการ Swab เก็บตัวอย่างเชื้อบริเวณลำคอ และหลังโพรงจมูก แต่จะทราบผลใน 2-3 วัน เนื่องจากต้องมีการวัดผลผ่านห้องปฏิบัติการ ถือเป็นการตรวจที่มีความถูกต้องแม่นยำ แต่จะใช้เวลาในการวินิจฉัยตัวอย่างเชื้อนานกว่า

 

และเป็นการตรวจแบบ RT-PCR ที่แนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เนื่องจากสามารถตรวจหาเชื้อในปริมาณน้อยได้

 

ตรวจ RT-PCR ได้ที่ไหนบ้าง? 

การตรวจแบบดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง โดยทางกรมวิทย์ฯ ได้อัพเดท! เปิดสถานที่ตรวจ "โควิด-19 ฟรี" 

 

ใครบ้างที่ควรตรวจโควิด-19 แบบ  RT-PCR ได้

  • ผู้ที่มีประวัติเคยใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19
  • ผู้ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย แต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
  • ผู้ที่มีอาการชัดเจน เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน เป็นต้น

 

จะเห็นได้ว่า การเกิดคลัสเตอร์โรงเรียนนั้น หากการ์ดตกเมื่อไหร่ โควิดคุมยาก! ดังนั้น ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างกันสักนิด ทำบ่อย ๆ ลดเสี่ยงโควิดได้ ช่วยกันสักนิด สู้กันสักหน่อยกันนะ

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง