รีเซต

'เจ้าท่า'​ ย้ำพร้อมเอาผิด 'สตาร์ปิโตรเลียมฯ' ถึงที่สุด เหตุน้ำมันรั่วกระทบสิ่งแวดล้อมยาว

'เจ้าท่า'​ ย้ำพร้อมเอาผิด 'สตาร์ปิโตรเลียมฯ' ถึงที่สุด เหตุน้ำมันรั่วกระทบสิ่งแวดล้อมยาว
มติชน
31 มกราคม 2565 ( 17:08 )
85

เมื่อวันที่ 31 มกราคม นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีน้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล จ.ระยอง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ภายใต้แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ 2545 เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติและความรับผิดชอบทั้งภาครัฐและเอกชน ในการขจัดมลพิษทางน้ำและยกระดับเหตุน้ำมันรั่วในน่านน้ำให้เป็นเหตุการณ์รุนแรงระดับชาติ เพราะสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรและประชาชน ซึ่งตามแผนได้กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันเป็นผู้สั่งการสูงสุด โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน

 

นายภูริพัฒน์กล่าวว่า ส่วนกรมเจ้าท่า ในฐานะผู้เสียหายในฐานความผิดของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) กรณีน้ำมันรั่วไหลจากทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล ได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีกับกรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) จนคดีถึงที่สุด ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งของนายศักดิ์สยาม โดยฐานความผิดดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดมลพิษต่อสิ่งมีชีวิต หรือต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว หรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ อันเป็นความผิดตามมาตรา 119 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พุทธศักราช 2456 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535 และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะร่วมประเมินความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมก่อนแจ้งกรมเจ้าท่าดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

นายภูริพัฒน์กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน น้ำมันที่เข้าสู่ชายฝั่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ระบบนิเวศ การช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูนั้นจะได้ตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ อาทิ การท่องเที่ยว ชาวประมง หากมีจะดำเนินการเยียวยาตามความเสียหายที่เกิดจริง โดยจะมีหน่วยที่รับผิดชอบตอบข้อสอบถามความเสียหาย รวมถึงช่องทางการให้ผู้ได้รับผลกระทบร้องทุกข์ตามช่องทางที่จัดหาให้ต่อไป

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินคดี ระหว่างวันที่ 26-29 มกราคม 2564 กรมเจ้าท่านำเรือตรวจการณ์ 804 ปฏิบัติการร่วมกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด ในการใช้สาร dispersant ขจัดคราบน้ำมันไปแล้วประมาณ 7 หมื่นลิตร ซึ่งการใช้สาร dispersant จะอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมควบคุมมลพิษ ในการกำหนดปริมาณสารที่จะใช้ โดยจะใช้สารจุลินทรีย์ชีวภาพในการขจัดคราบน้ำมันร่วมด้วย เพื่อลดผลกระทบทางด้านระบบนิเวศทางทะเลไม่ให้มีการใช้สารเคมีในปริมาณที่มากเกินไป พร้อมกันนี้ได้ออกประกาศแจ้งเตือนให้ระมัดระวังการเดินเรือบริเวณทุ่นท่าเทียบเรือ SPM เจ้าท่าจังหวัดระยอง มีคำสั่งระงับการใช้งานทุ่นเทียบเรือ SINGLE POINT MOORING (SPM) จนกว่าจะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้แล้วเสร็จในการดำเนินคดี

 

ขณะที่เมื่อวันที่ 30 มกราคม กรมเจ้าท่านำเรือเด่นสุทธิพร้อมใช้ทุ่น 350 เมตร ล้อมกักน้ำมัน โดยบูรณาการร่วมภารกิจได้แก่ เรือเด่นสุทธิ และเรือแสมสาร ลากทุ่น เรือตรวจการณ์ 802 ลาดตระเวน เรือเรือตรวจการณ์ 804 ลาดตระเวนเรือชัยฟูรี่ 1 ลาดตระเวน เรือ UNIWISE RAYONG บัญชาการ เรือศรีธาราลักษณ์ 8 และKNO103 ลากทุ่น เรือRS38 และSC DISCOVERYลากทุ่น เรือRS24 และเรือรุ่งนที5 ลากทุ่น เรือRS25 และเรือ RS22 ลากทุ่น เรือ TINDY2 และเรือรุ่งนที 7 ลากทุ่น เรือ FS9 และเรือธวัชชัยรวยทรัพย์ ลากทุ่นบริเวณหาดแม่พิมพ์ เรือ FS4 ตรวจตราและสูบน้ำมันบริเวณหาดแม่พิมพ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง