ติดเชื้อไม่จบแล้วหาย หากเกิดภาวะ "ลองโควิด" บั่นทอนคุณภาพชีวิตอย่างมาก
วันนี้ (24 ก.ค.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า 24 กรกฎาคม 2565...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 675,618 คน ตายเพิ่ม 867 คน รวมแล้วติดไป 574,392,124 คน เสียชีวิตรวม 6,402,011 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ อิตาลี และออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 78.85 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 54.32
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...BA.5 ไม่กระจอก
"เราผ่านระบาดใหญ่มา ต่อจากนี้ไปจะเป็นเพียงระลอกเล็กๆ" เป็นวาทกรรมที่อาจนำไปสู่หายนะได้ หากประมาท
เห็นได้จากสถานการณ์หลายต่อหลายประเทศที่แม้จะโดน Omicron BA.1/BA.2 ระบาดใหญ่มาก่อน แต่ขณะนี้ก็มี BA.5 ครองการระบาด โดยมีระลอกใหญ่ขึ้นกว่าเดิมหรือเทียบเท่า
เช่น ญี่ปุ่น ที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันขณะนี้ถึงราว 200,000 คน มากกว่าระลอกก่อนเกือบ 2 เท่า
หรือแม้แต่ อิตาลี ที่ระลอกนี้สูงกว่าระลอกมีนาคม 1.4 เท่า
หรือแม้แต่ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ที่ระลอกนี้สูงเทียบเท่ากับระลอกมีนาคมที่ผ่านมา
จำนวนการติดเชื้อใหม่ที่เกิดขึ้นได้มาก เพราะสมรรถนะการแพร่เชื้อติดเชื้อไวกว่าเดิม ดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนและภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อมาก่อน ทำให้กลุ่มเป้าหมายของไวรัสนั้นครอบคลุมทั้งแบบติดเชื้อใหม่ (new infection) และติดเชื้อซ้ำ (reinfection)
การป้องกันตัวแบบ non-pharmacological interventions จึงมีความสำคัญมาก ได้แก่ การลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงในชีวิตประจำวันที่มีการคลุกคลีใกล้ชิด ที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี รวมถึงการแชร์ของกินของใช้ และเรื่องการใส่หน้ากาก
ทั้งนี้การติดเชื้อ ไม่จบชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยรุนแรงได้ ตายได้
ดังที่เราเห็นบทเรียนจากประเทศต่างๆ มากมายขณะนี้ที่มีจำนวนการป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และอัตราส่วนของจำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากรล้านคน สูงขึ้นชัดเจน เช่น กลุ่มประเทศยุโรป รวมถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
สุดท้ายแล้ว ติดเชื้อ ป่วย หรือหาย ถือเป็นผลลัพธ์ระยะสั้น
แต่หากรุนแรงจนเสียชีวิต ผลกระทบระยะยาวย่อมเกิดกับครอบครัว
และแม้รักษาจนหายในช่วงแรก ความรู้จากการวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า โอกาสเกิดประสบปัญหาอาการผิดปกติทางร่างกายและอารมณ์/จิตใจในระยะยาว หรือ Long COVID นั้นมีตั้งแต่ 5-30%
เกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรงก็ตาม
ข้อมูลล่าสุดโดย Giszas B และคณะ จากประเทศเยอรมัน เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ระดับสากลด้านโรคติดเชื้อ Infection เมื่อ 22 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
ศึกษาในผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 909 คน โดยครึ่งหนึ่งเคยมีประวัติติดเชื้อมาก่อนนานกว่า 1 ปี และกว่า 90% ที่นานกว่า 9 เดือน
สาระสำคัญที่พบคือ มีถึง 643 คน (70.7%) ที่ประสบปัญหาอาการคงค้างต่างๆ หลังติดเชื้อ โดยมี 189 คน คิดเป็น 29.4% ของกลุ่มนี้ ที่รายงานว่าอาการคงค้างบั่นทอนคุณภาพชีวิตอย่างมาก
ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ในกลุ่มคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ประสบปัญหา Long COVID ซึ่งส่งผลบั่นทอนคุณภาพชีวิตอย่างมากสูงราว 20% หรือ 1/5 สอดคล้องกับที่ทาง US CDC ได้สรุปไว้เช่นกัน
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนะครับ สำคัญมาก...
อ้างอิง
Giszas B et al. Post-COVID-19 condition is not only a question of persistent symptoms: structured screening including health-related quality of life reveals two separate clusters of post-COVID. Infection. 22 July 2022.
ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
ภาพจาก TNN ONLINE / AFP