ศบค.ปรับการรายงานยอด นับแค่ระลอก 4 เผยคลัสเตอร์ ‘สนามบินไต้หวัน’-‘จีน’ คุมเข้ม หลังโอมิครอนพุ่ง
เมื่อวันที่ 11 มกราคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก มียอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่ม 2,104,150 ราย มียอดรวม 311,019,858 ราย รักษาหายแล้ว 955,077 ราย เสียชีวิตรวม 4,608 ราย โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 62,661,272 ราย อินเดีย 35,869,947 ราย บราซิล 22,558,695 ราย สหราชอาณาจักร 14,617,314 ราย และ ฝรั่งเศส 12,205,114 ราย สำหรับ ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 25 มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 2,284,609 ราย (ยอดป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563)
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศ อย่าง ประเทศจีน ที่ได้มีการคุมเข้มการเดินทางออกจากเมืองเทียนจิน หลังยอดติดโอมิครอนพุ่งสูง เมืองเทียนจิน เมืองท่าทางตอนเหนือของจีน สั่งคุมเข้มการเดินทางออกจากเมือง และกำหนดให้คนในเมืองต้องได้รับอนุมัติจากนายจ้าง หรือหน่วยงานในชุมชนก่อนออกจากเมือง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) รายงานว่า เมืองเทียนจินพบผู้ติดเชื้อในเมืองที่แสดงอาการ 21 ราย จากเดิมที่พบเพียง 3 ราย ขณะเดียวกัน ทางการของเมืองเทียนจินกว่าได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนในพื้นที่ 2 ราย โดยไม่ทราบแหล่งที่มา และไม่ทราบเส้นทางที่แพร่ระบาดมาสู่ชุมชน ประเทศจีนรีบใช้กลยุทธ์ควบคุมการแพร่ระบาดเร็วเป็นพิเศษ เนื่องจากจีนจะเริ่มจัดงานโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งและมณฑลเหอเปยในวันที่ 4 ก.พ.นี้ ประกอบกับการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มขึ้นในปลายเดือนนี้
ทั้งนี้ แผนระดมตรวจเชื้อขนานใหญ่ของเทียนจิน ซึ่งตั้งเป้าจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 วันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการ “ป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่กระจายไปยังมณฑล ภูมิภาค และเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะปักกิ่ง” ตามที่ทางการเทียนจินระบุในจดหมายถึงประชาชน
ทางด้าน ประเทศไต้หวัน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกิดเป็นคลัสเตอร์สนามบินไต้หวันเพิ่มเป็น 25 ราย เตรียมขยายเตือนภัย
หน่วยงานด้านการเฝ้าระวังโรคติดต่อเผยว่า ไต้หวันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 11 ราย ส่งผลให้ยอดติดเชื้อสะสมที่เชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ท่าอากาศยานนานาชาติไต้หวัน เถาหยวน เพิ่มขึ้นเป็น 25 ราย ในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้น ประกอบด้วย พนักงานทำความสะอาดและลำเลียงกระเป๋าเดินทางในสนามบิน พนักงานขับรถแท็กซี่รับ-ส่งผู้โดยสารไปยังสถานที่กักตัว และบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด
หน่วยงานดังกล่าวยังระบุว่า เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อจากการระบาดในสนามบินดังกล่าวมีเพิ่มขึ้น จึงได้มีการตรวจหาเชื้อให้กับพนักงานสนามบินกว่า 8,000 คน เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อที่อาจแพร่กระจายไปยังชุมชน
ปัจจุบัน “ไต้หวัน” ประกาศใช้การเตือนภัยโควิด-19 ระดับ 2 นอกจากนี้ ไต้หวันยังจะนำมาตรการบังคับสวมหน้ากากอนามัยมาใช้ทั่วทั้งเกาะ จากที่ก่อนหน้านี้บังคับใช้เฉพาะในเมืองเถาหยวน หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สนามบิน โดยประชาชนจะต้องสวมหน้ากากอนามัยระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย ร้องเพลง และถ่ายรูป
สำหรับ ประเทศแคนาดา ขณะนี้ได้ออกมาตรการเดินหน้าบังคับคนขับรถบรรทุกข้ามพรมแดนต้องฉีดวัคซีน โดยนายกรัฐมนตรีของแคนาดากำลังผลักดันให้มีการบังคับการฉีดวัคนสำหรับคนขับรถบรรทุกที่เดินทางข้ามประเทศ แม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันจากนักวิจารณ์ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ขาดแคลนคนขับรถบรรทุกและทำให้ราคาสินค้านำเข้าจากสหรัฐสูงขึ้น แคนาดาจะกำหนดให้คนขับรถบรรทุกทุกคนที่เดินทางมาจากสหรัฐต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน โดยเริ่มในวันเสาร์ (15 ม.ค.) นี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรับมือโควิด-19
สหพันธ์คนขับรถบรรทุกแคนาดา (CTA) เปิดเผยว่า มาตรการดังกล่าวอาจทำให้มีคนขับรถบรรทุกข้ามประเทศลดลงประมาณ 16,000 คน หรือประมาณ 10% ขณะที่รัฐบาลแคนาดาประเมินไว้ที่ 5% มาตรการบังคับฉีดวัคซีนถือเป็นมาตรการแรกที่แคนาดาประกาศใช้นับตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอาจจำกัดปริมาณรถบรรทุกข้ามพรมแดน
ทั้งนี้ แคนาดาได้สนับสนุนนโยบายการฉีดวัคซีนที่เข้มงวดสำหรับข้าราชการ และบุคลากรของรัฐ ขณะที่เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วนั้น มีแนวโน้มที่จะทำให้รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายดังกล่าวต่อไป
โดยใน ประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อ 593 ราย ชลบุรี พบผู้ติดเชื้อ 583 ราย สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อ 530 ราย ภูเก็ต พบผู้ติดเชื้อ 468 ราย อุบลราชธานี พบผู้ติดเชื้อ 426 ราย นนทบุรี พบผู้ติดเชื้อ 336 ราย ขอนแก่น พบผู้ติดเชื้อ 280 ราย เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อ 209 ราย ปทุมธานี พบผู้ติดเชื้อ 173 ราย และ บุรีรัมย์ พบผู้ติดเชื้อ 162 ราย
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อประจำวันนี้ (11 ม.ค.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,133 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวัง และระบบบริการฯ จำนวน 6,632 ราย จากการค้นหาเชิงรุก จำนวน 45 ราย จากเรือนจำ จำนวน 45 ราย และผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ จำนวน 411 ราย ซึ่งทำให้มีจำนวนผู้ป่วยรวมสะสม 61,174 ราย
ส่วนตัวเลขผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 คือ 2,284,609 ราย ในส่วนของผู้ที่หายป่วยวันนี้ มีจำนวน 3,306 ราย รวมหายป่วยสะสม 32,291 ราย หายป่วยสะสมรวมตั้งแต่ปี 2563 คือ 2,200,785 ราย มีผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการรักษาอยู่ 61,074 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยอาการหนัก 492 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 110 ราย
สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตในวันนี้มีจำนวน 12 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 152 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.25
โดยรายงานผู้เสียชีวิตทั้ง 12 ราย แบ่งเป็น กรุงเทพมหานคร 1 ราย นครราชสีมา 1 ราย ศรีสะเกษ 1 ราย เชียงใหม่ 2 ราย กำแพงเพชร 1 ราย พิษณุโลก 1 ราย เพชรบูรณ์ 1 ราย แพร่ 1 ราย ตรัง 1 ราย สตูล 1 ราย และฉะเชิงเทรา 1 ราย โดยเป็นชาย 9 ราย หญิง 3 ราย เป็นคนไทยทั้งหมด ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 69 ปี (21-84 ปี)
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีน ประเทศไทยฉีดวัคซีนแล้วรวม 106,758,696 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 เพิ่มขึ้น 28,297 ราย คิดเป็นร้อยละ 71.6 ของจำนวนประชากรทั้งหมด เข็มที่ 2 เพิ่มขึ้น 69,514 ราย คิดเป็นร้อยละ 65.1 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และเข็มที่ 3 เพิ่มขึ้น 185,763 ราย คิดป็นร้อยละ 11.5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
ในส่วนของผลการดำเนินงานรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร พบว่า มีผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1-11 ม.ค. สะสม 1,505 ราย วันนี้พบว่าติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 411 ราย โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อนั้นผ่านเข้าราชอาณาจักรผ่านระบบ Test & Go 187 ราย ระบบแซนด์บ็อกซ์ 195 ราย ระบบการกักตัว 29 ราย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ทาง ศบค.ได้มีการปรับตัวเลขการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยจะเริ่มรายงานเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกที่ 4 หรือตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป เป็นวันแรก