รีเซต

ตระกูลมาร์กอสหวนรุ่งเรือง ทายาทผู้นำเผด็จการจ่อชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

ตระกูลมาร์กอสหวนรุ่งเรือง ทายาทผู้นำเผด็จการจ่อชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
TNN ช่อง16
9 พฤษภาคม 2565 ( 11:21 )
97
ตระกูลมาร์กอสหวนรุ่งเรือง ทายาทผู้นำเผด็จการจ่อชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

---ข้อมูลการเลือกตั้ง 9 พฤษภาคม---


- ผู้มีสิทธิออกเสียง 65.7 ล้านคน และชาวฟิลิปปินส์นอกประเทศที่มีสิทธิออกเสียงอีก 1.7 ล้านคน รวม 67.5 ล้านคน


- คาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิ 80%


- ผู้มีสิทธิที่มีอายุ 18-41 ปี มีมากถึง 24.7 ล้านคน


- เป็นการเลือกตั้งกว่าสองหมื่นตำแหน่ง คือ ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี วุฒิสมาชิก 12 คน / สส.แบบแบ่งเขต 253 คน / ผู้ว่าฯ 81 คน / รองผู้ว่า 81 คน / นายกเทศมนตรี 1634 คน / รองนายกเทศมนตรี 1634 คน / สมาชิกคณะกรรมการจังหวัด 782 คน / สมาชิกสภาจังหวัด 11908 คน


---ผู้สมัครคนสำคัญ---


1. เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือบงบง วัย 64 ปี มีการคาดการณ์ว่า เขาจะชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 17 ของประเทศ ด้วยคะแนนราว 75% ในคราวนี้


จับคู่เป็นทีม BBM Sara UniTeam ร่วมกับซารา ดูแตร์เต บุตรสาวของประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ที่ลงชิงในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซึ่งผลสำรวจคาดว่าเธอจะชนะการเลือกตั้งในตำแหน่งนี้เช่นกัน


2. รองประธานาธิบดีเลนี โรเบรโด วัย 57 ปี เธอได้คะแนนนิยมในโพลราว 30% แต่บรรดาผู้สนับสนุนของเธอมองว่า ในวันนี้ ช่องว่างของคะแนนอาจแคบลง


---ชัยชนะของมาร์กอสจูเนียร์หมายถึงอะไร?---


มาร์กอส จูเนียร์ สะท้อนการกลับมามีอำนาจของครอบครัวทรงอิทธิพลทางการเมืองของฟิลิปปินส์ แม้บิดาของเขา ซึ่งปกครองแบบเผด็จการนานถึง 20 ปี จนถูกโค่นล้มจากอำนาจในปี 1986 ด้วยข้อกล่าวหาทุจริต ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้ต้องลี้ภัยกันทั้งครอบครัวไปอยู่ต่างประเทศ ท้ายสุด เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ต้องลี้ภัยไปสหรัฐฯ และถึงแก่อสัญกรรมในฮาวาย เมื่อปี 1989 ด้วยวัย 72 ปี


มาร์กอส จูเนียร์ ถูกปลูกฝังและฝึกฝนให้เป็นผู้นำมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยสำนักข่าว BBC ระบุว่า ภาพฟุตเทจเก่าจากปี 1986 แสดงให้เห็น มาร์กอส จูเนียร์ ในวัย 28 ปี ยืนอย่างสง่างามในชุดทหารเคียงข้างบิดา แม้ในวันที่ครอบครัวถูกบีบให้ต้องลี้ภัยหนีออกจากทำเนียบประธานาธิบดี จากการปฏิวัติพลังประชาชนในปีนั้น


ในขณะที่นางโรเบรโด คือผลผลิตของขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยที่โค่นล้มนายมาร์กอสในปี 1986 เธอเป็นทนายสิทธิมนุษยชนมาก่อน และเป็นนักการเมืองสายเสรีนิยม ที่ออกแคมเปญต่อต้านสงครามปราปปรามยาเสพติดของประธานาธิบดีดูแตรแต้ เธอให้คำมั่นว่าหากชนะการเลือกตั้ง เธอจะปราบปรามการทุจริตและมีสโลแกนว่า “รัฐบาลที่ซื่อสัตย์ ชีวิตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน”


---ทำไมมาร์กอสกลับมาเป็นที่นิยม---


บรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า คำตอบมาจากการใช้สังคมออนไลน์ การโฆษณาชวนเชื่อออนไลน์ บองบองถูกกล่าวหาว่า หว่านข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์ และพยายามลบล้างเรื่องราวในอดีตของตระกูล แต่เขาปฏิเสธข้อหานี้ และไม่เข้าร่วมการดีเบตใดๆ


ผู้สนับสนุนมาร์กอส จูเนียร์ จำนวนมาก ไม่เชื่อว่าข่าวฉาว ข้อหาทุจริต และมลทินของตระกูลมาร์กอส เป็นความจริง และถึงระดับที่มองว่า ยุคเผด็จการของมาร์กอส แท้จริงแล้วคือ ‘ยุคทอง’ ของฟิลิปปินส์


บัญชีผู้ใช้ปลอมจำนวนมาก ที่พุ่งเป้าโจมตีสื่อมวลชนที่ทำข่าวสวนทิศทางมาร์กอส ไม่เพียงเท่านั้น บริตตานี ไคเซอร์ อดีตพนักงานบริษัทที่ปรึกษา Cambride Analytica เคยให้สัมภาษณ์ว่า บองบอง เคยติดต่อทางบริษัทเพื่อขอให้ช่วยลบล้างภาพจำของตระกูลมาร์กอสในสังคมออนไลน์ด้วย


ทั้งนี้ ผลการศึกษาในปี 2020 ของบริษัทฐานข้อมูล Statista ในเยอรมนี พบว่า ชาวฟิลิปปินส์ อายุ 16-64 ปี ใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมงต่อวันบนสังคมออนไลน์ ในขณะที่คนอังกฤษใช้เพียง 2 ชั่วโมง


สังคมออนไลน์ในฟิลิปปินส์ จึงกลายเป็นแพลตฟอร์มหาเสียงสำคัญ โดยเฉพาะต่อการดันคะแนนนิยมของมาร์กอส จูเนียร์ ให้เพิ่มสูงขึ้น


ขณะที่โรเบรโด พยายามตอบโต้วาทกรรมที่ว่า ช่วงเวลาที่ตระกูลมาร์กอสปกครองประเทศนั้นฟิลิปปินส์มี่แต่ความรุ่งเรือง และเธอกล่าวด้วยว่าจะยกเลิกหลายเรื่องที่ประธานาธิบดีดูแตร์เต้ได้กระทำมาด้วย


ผลสำรวจพบว่า การหาเสียงระหว่างสองฝั่งนี้ สะท้อนให้เห็นความแตกปยกร้าวลึกในผู้คนแต่ละชนชั้น โดยสองผู้สมัครตระกูลมาร์กอสและดูแตร์เต้ นั้นได้รับคะแนนนิยมดีในกลุ่มคนจนและผู้ที่ไม่มีใบปริญญา ในขณะที่นางโรเบรโดนั้นได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลาง ผู้มีการศึกษาสูงและคนรุ่นใหม่ หากผลการเลือกตั้งออกมาสูสี จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองของฟิลิปปินส์ เพราะฝ่ายที่พ่ายแพ้อาจจะคัดค้าน ต่อสู้ผลการเลือกตั้ง


ขณะที่มาเรีย เรซซา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและเป็นเจ้าของสื่อ Rappler ในฟิลิปปินส์กล่าวว่า ชัยชนะของมาร์กอส แสดงให้เห็นถึงแคมเปญข้อมูลเท็จที่มีอย่างต่อเนื่องและจะมีนัยยะต่อการเลือกตั้งของสหรัฐฯและบราซิลในปีนี้ด้วย


ใครก็ตามที่จะได้เป็นผู้สาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ จะต้องเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ที่กำลังเผชิญอัตราว่างงานที่สูงและปัญหาความยากจน นอกจากนี้ ยังต้องแก้ปัญหาหนี้รัฐบาล และความล่าช้าของโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และอีกประเด็นสำคัญคือ การแก้ไขข้อพิพาททะเลจีนใต้ และการวางตัวกับสหรัฐฯ ซึ่งในยุคของนายดูแตรเตนั้น ค่อนข้างหมางเมินจากพันธมิตรเก่าอย่างสหรัฐฯไปพอสมควร

—————

แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: JAM STA ROSA / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง