รีเซต

รู้จัก'โรคระบาดใหญ่-โรคประจำถิ่น' หลังอีก 4 เดือน ไทยเตรียมลดระดับโควิด

รู้จัก'โรคระบาดใหญ่-โรคประจำถิ่น' หลังอีก 4 เดือน ไทยเตรียมลดระดับโควิด
ข่าวสด
10 มีนาคม 2565 ( 17:34 )
88

รู้จัก 'โรคประจำถิ่น'

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) นิยามความหมายของโรคประจำถิ่นไว้ว่า “การมีอยู่ของโรค หรือความชุกของโรค ภายในประชากรภายในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์หนึ่ง ๆ” หรือทำความเข้าใจง่ายๆว่า โรคที่เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่นั้นๆ อาจเป็น เมือง ประเทศ หรือทวีปก็ได้

 

"การระบาดใหญ่" กับ "โรคประจำถิ่น" แตกต่างกันอย่างไร

  • การระบาดใหญ่ (Pandemic) คือ เชื้อโรคที่ระบาดไปทั่วโลกที่ทำให้อัตราการป่วยและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งคาดการณ์ได้ยาก เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และล่าสุดคือการระบาดของโรคโควิด-19
  • โรคประจำถิ่น (Endemic) อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าคือ โรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่ อาจเป็นเมือง ประเทศ กลุ่มประเทศ หรือทวีป และมีอัตราป่วยคงที่และคาดการณ์ได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออกในประเทศไทย

 

โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ไม่ใช่เหรอ ?

โควิด-19 สามารถกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ โดยเชื้อจะต้องอยู่กับคนได้ ความรุนแรงลดลง ติดเชื้อแล้วไม่เสียชีวิต การที่จะเปลี่ยนสถานะจากการระบาดใหญ่มาเป็นโรคประจำถิ่นได้นั้น ต้องประเมินจากหลายปัจจัย แต่โดยรวมแล้วพอจะอธิบายได้ด้วยคำว่า “ใช้ชีวิตร่วมกับโรคได้” โดยกุญแจสำคัญที่ทั่วโลกสามารถลดระดับความรุนแรงของโรคได้ นั่นคือ การฉีดวัคซีน

 

ไทยเตรียมลดระดับโรคโควิด-19

ในหลายประเทศทั่วโลก ได้ลดระดับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นเรียบร้อยแล้ว ไทยเองก็กำลังดำเนินตามรอยเช่นกันเพื่อเศรษฐกิจที่เดินหน้าได้ โดยมีแผนว่าจะทำให้สำเร็จในอีก 4 เดือนข้างหน้า ซึ่งการลดระดับโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ไม่ได้หมายความว่าเป็นการลดระดับการป้องกันการติดต่อ ยังต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโรคอยู่ ทั้งใส่หน้ากาก เลี่ยงการอยู่ในหมู่มาก ล้างมือบ่อยๆ ตรวจ ATK ฉีดวัคซีน เพื่อทำให้อัตราเสี่ยงลดลง

 

รู้จักโรคประจำถิ่นอื่น

  • โรคไข้เลือดออกเป็นโรคอุบัติใหม่ เมื่อปี 2500 ปัจจุบันกลายเป็นโรคประจำถิ่นตามนิยามทางระบาดวิทยา และเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามนิยามของกฎหมาย
  • โรคเอดส์เป็นโรคอุบัติใหม่เมื่อปี 2527 และมีการระบาดทั่วโลก เมื่อเวลาผ่านไป ตอนนี้ก็จัดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน

 

การเป็นโรคประจำถิ่นต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยหรือไม่ ?

รัฐบาลยังยืนยันว่าให้คงไว้ก่อน เพราะ สธ.ไม่สามารถสั่งการข้ามหน่วยงานให้ทำงานทันที มีเรื่องการบริหารสถานการณ์ชายแดน โดยยังจำเป็นต้องขอความร่วมมือฝ่ายมั่นคงเมื่อระบาดเยอะๆ และต้องการให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้ความคุ้มครองกฎหมาย

 

ที่มา: aljazeera

ข่าวที่เกี่ยวข้อง