รีเซต

อย่าชะล่าใจ ปธ.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ชี้แนวโน้มผู้ป่วยรักษาตัวค่อยๆลด แต่ผู้ป่วยหนักยังไม่ลดมาก

อย่าชะล่าใจ ปธ.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ชี้แนวโน้มผู้ป่วยรักษาตัวค่อยๆลด แต่ผู้ป่วยหนักยังไม่ลดมาก
มติชน
1 กันยายน 2564 ( 08:54 )
48
อย่าชะล่าใจ ปธ.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ชี้แนวโน้มผู้ป่วยรักษาตัวค่อยๆลด แต่ผู้ป่วยหนักยังไม่ลดมาก

อย่าชะล่าใจ ปธ.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ชี้แนวโน้มผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ค่อย ๆ ลด แต่ผู้ป่วยหนัก-ใช้เครื่องช่วยหายใจ ยังไม่ลดมาก

 

 

วันที่ 1 กันยายน พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anutra Chittinandana ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า

 

 

 

***เบาใจขึ้นหน่อย แต่อย่าประมาทนะครับ***

สรุปแนวโน้มผู้ป่วยโควิด 19 กำลังรักษาตัวอยู่ตลอดเดือนสิงหาคม 2564

 

ตอนนี้จำนวนผู้ป่วยรายวันลดลงอย่างต่อเนื่อง ผมไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญมากนัก เพราะตัวเลขผู้ป่วยจะขึ้นกับว่ามีการตรวจมากน้อยแค่ไหน แต่ตัวเลขที่ผมให้ความสำคัญคือจำนวนผู้ป่วยที่รักษาอยู่มากกว่า เพราะแสดงถึงผลกระทบของการระบาดต่อระบบการรักษาพยาบาล

 

มีรายงานรายละเอียดของการรักษาตัวใน Home isolation (HI) และ Community isolation (CI) แยกออกจาก รพ.สนาม ตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค.64 ผมเอาข้อมูลมาทำเป็นรูปตามนี้ครับ

 

 

 

รูปที่ 1 แนวโน้มผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ค่อย ๆ ลดลง จากสูงสุด 213,910 ตอนต้นเดือน ลดลงเหลือ 171,368 ราย

ผู้ป่วยรักษาตัวใน รพ. (สีส้ม) ลดลงอย่างมาก จาก 87,150 เหลือเพียง 14,308 ราย

ผู้ป่วยรักษาตัวใน HI หรือ CI (สีเขียว) เพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 46,330 เป็น 76,605 ราย

ผู้ป่วยรักษาตัวใน รพ.สนามหรือ Hospitel (สีเหลือง) เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 71,879 เป็น 76,755 ราย

 

 

 

รูปที่ 2 แนวโน้มผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิต

ผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) ยังมีจำนวนใกล้เคียงกับต้นเดือน 4,993-5,003 แต่ก็ลดลงเล็กน้อยจากที่เคยสูงสุดตอนกลางเดือน 5,626 ราย

 

ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ (สีแดงเข้ม) ยังมีจำนวนใกล้เคียงกับต้นเดือน 1,058-1,042 แต่ก็ลดลงเล็กน้อยจากที่เคยสูงสุดตอนกลางเดือน 1,172 ราย

 

ผู้ป่วยเสียชีวิต (สีดำ) ยังมีจำนวนใกล้เคียงกับต้นเดือน 160-190 แต่ก็ลดลงเล็กน้อยจากที่เคยสูงสุดตอนกลางเดือน 312 ราย

 

ดูแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยรักษาพยาบาลอยู่ดีขึ้น แต่ผู้ป่วยอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจยังไม่ลดลงมาก จึงอย่าเพิ่งชะล่าใจกัน ผู้ป่วยถึงแม้เข้า รพ.ได้สะดวกขึ้น แต่ก็ยังลำบากในการเข้ารักษาใน ICU โดยเฉพาะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

 

พรุ่งนี้ จะมีการปรับมาตรการต่าง ๆ ก็คงยังต้องป้องกันตนเองแบบ universal prevention กันต่อด้วยนะครับ แล้วก็อย่าลังเลในการฉีดวัคซีนเมื่อมีโอกาส ฉีดดีกว่าไม่ฉีดแน่นอนครับ

 

เป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และคนไทยทุกคนครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง