ลุยตรวจ! คลินิก ย่านรามคำแหง ปมน้องสาวอดีตรองผู้ว่าฯ ดูดไขมันเสียชีวิต
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลถึงหญิงวัย 54 ปีรายหนึ่ง เสียชีวิตในขณะเข้ารับบริการดูดไขมันกับสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านรามคำแหง โดยหลังเกิดเหตุคลินิกได้ปิดให้บริการ จนสร้างความไม่สบายใจให้กับญาติ วันนี้ตนจึงนำทีมพนักงานเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งกับญาติผู้เสียชีวิตและคลินิกซึ่งถูกกล่าวอ้าง ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้น คลินิกดังกล่าวมีการขออนุญาตประกอบกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับกรม สบส. ตั้งอยู่ภายในซอยรามคำแหง 24 เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ ให้บริการประเภทเวชกรรมทั่วไป เสริมความงาม ศัลยกรรมผ่าตัดขนาดเล็ก
ซึ่งจากการตรวจสอบ และสอบถามข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนมาตรฐานของสถานที่ ผู้ให้บริการ ยาเวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ก็พบว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด แต่พบว่าในช่วงเวลาที่ผู้เสียชีวิตมารับบริการดูดไขมันนั้น เป็นเวลาประมาณ 12.00 น. ซึ่งอยู่นอกเหนือเวลาที่คลินิกยื่นขออนุญาตประกอบกิจการไว้ คือ 17.00-20.00 น. จึงถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ในฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการพิจารณาว่าแพทย์ผู้ให้บริการนั้นมีการดำเนินการตามมาตรฐานวิชาชีพที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ กรม สบส.จะเรียกตัวผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ปากคำที่กรม สบส.และหากพบการกระทำผิดของแพทย์จะรวบรวมข้อมูลที่ได้ส่งให้แก่แพทยสภาพิจารณาดำเนินการในด้านจริยธรรมทางการแพทย์ต่อไป
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อว่า การศัลยกรรมดูดไขมันเป็นวิธีการลดสัดส่วนชั่วคราว หากกระทำโดยผู้ที่ขาดความชำนาญ อาจเกิดอันตรายและมีผลข้างเคียงในการรักษาได้เช่น หน้าท้องไม่สมส่วน บิดเบี้ยว ผิวหย่อนยาน เป็นคลื่น เพราะควบคุมจุดที่จะสลายไขมันไม่เท่ากัน และยังมีโอกาสที่ไขมันจะกลับมาสะสมเหมือนเดิมได้ หากไม่ได้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตโดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และไม่มีการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ประชาชนที่ต้องการลดสัดส่วนของร่างกายให้ใช้วิธีธรรมชาติ ก่อนพึ่งพาการศัลยกรรม โดยการเล่นกีฬา ออกกำลังกายด้วยท่าบริหารเฉพาะส่วน และควบคุมอาหาร ลดอาหารที่มีไขมันสูง อย่างจังก์ฟู้ด (Junk Food) หรือของทอดต่างๆ และเพิ่มการรับประทานผัก ผลไม้ ซึ่งในผักมีใยอาหารที่ช่วยทำความสะอาดลำไส้ และช่วยลดการดูดซึมของไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งจะเป็นการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ทั้งนี้ หากประชานได้รับผลกระทบจากบริการทางการแพทย์ หรือบริการที่ไม่เป็นธรรมจากโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426 ในวันและเวลาราชการ หรือหากอยู่ในต่างจังหวัดก็สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
CR : thailandplus