รีเซต

สธ.งัดมาตรการ รับมือ‘โอไมครอน’

สธ.งัดมาตรการ รับมือ‘โอไมครอน’
มติชน
8 ธันวาคม 2564 ( 09:11 )
165

หมายเหตุนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงมาตรการรับมือโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ที่ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม

 

อนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

สําหรับสายพันธุ์โอไมครอน มีโอกาสเข้าได้ทุกประเทศ เพราะคนมีการเดินทาง ซึ่งก็ตั้งรับไว้ให้ตรวจเชิงรุกมากขึ้น พร้อมกับดูว่ามีความรุนแรงอย่างไร วัคซีนครอบคลุมได้ระดับไหนเพื่อให้มีมาตรการรับมือต่อไป หากเราได้รับวัคซีนเต็มที่ครบแล้ว ใช้มาตรการป้องกันตัวสูงสุดแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ออกจากบ้านก็ระวัง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือตลอดเวลา มันก็จะทำอะไรเราไม่ได้อย่ากังวลจนเกินไปนัก ขณะที่ระบบคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ เราได้เพิ่มความเข้มข้นในการคัดกรอง ทำให้เราพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนรายแรก เป็นผู้เดินทางจากประเทศสเปน แวะที่ดูไบ ซึ่งเราสามารถตรวจจับคัดกรองได้เพื่อนำเข้ารักษา เมื่อสอบสวนโรคพบผู้สัมผัสกี่คน เราก็ตามไปเฝ้าระวัง กักตัว แยกตัวตามระบบการควบคุมโรค ไม่ใช่สิ่งน่ากังวลอะไร

 

องค์การอนามัยโลก นักวิชาการ วงการแพทย์คาดหวังว่าโอไมครอน แม้ว่าจะระบาดง่าย แต่อานุภาพการทำลายสุขภาพไม่น่าที่จะแตกต่างจากไวรัสสายพันธุ์อื่น ก็ถือว่าวัคซีนที่ไทยมีสามารถป้องกันได้ ลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้แน่นอน หากไม่มีโรคแทรกซ้อน ขอให้ทุกคนเข้ารับวัคซีนเพิ่มเติม เพราะที่ฉีดได้น้อยขณะนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ไปรับกันมากแล้ว กลุ่มเสี่ยงเป้าหมายฉีดได้ 100% กลุ่มชาวแรงงานต่างด้าวก็ฉีดแล้ว แต่ยังมีบางกลุ่มที่ลังเล ก็ขอให้ไปรับการฉีดวัคซีน

 

ส่วนการจะยกระดับมาตรการป้องกันโอไมครอนสำหรับการเดินทางเข้าไทยหรือไม่นั้น กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้จำกัดการเข้าประเทศจากผู้ที่เดินทางจากทวีปแอฟริกาด้วยการไม่ออก Thailand Pass แล้ว ซึ่งจำกัดคนได้จำนวนมาก แต่จะเหลือในประเทศอื่นๆ แต่เรามีระบบคัดกรอง ไม่ว่าเราไม่ทำอะไรเลย ตามที่เดิม วันที่ 16 ธันวาคมนี้ เราจะปรับการคัดกรองผู้เข้าประเทศด้วยการตรวจ ATK เมื่อมาถึงไทย แต่เมื่อพบโอไมครอน เราก็เลื่อนออกไป และยืนยันให้ตรวจด้วย RT-PCR เท่านั้น เราระวังเต็มที่ แต่ไม่ใช่จะล็อกทุกอย่าง เพราะเราเพิ่งเปิดมา คนเริ่มทำมาหากิน เริ่มสัญจรไปมา สร้างโอกาสในธุรกิจต่างประเทศ เราต้องพยายามทำให้ทุกอย่างไปได้เรียบร้อยทุกมิติ ภายใต้การควบคุม หากมีผู้ติดเชื้อเราก็มีสถานที่ดูแล มียา เรามีความพร้อม

 

ส่วนประเทศอื่นที่พบโอไมครอน จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างไรนั้น ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะที่ไหนในโลก ไม่ว่าจะแอฟริกา อเมริกา เอเชีย หรือยุโรป ผู้จะขึ้นเครื่องได้ต้องผ่านการตรวจ RT-PCR ก่อน รวมถึงจะต้องมีการรับรองการฉีดวัคซีนด้วย ดังนั้น โอกาสหลุดยาก เพราะถูกจำกัดด้วยมาตรการ จริงๆ เราไม่จำเป็นต้องหากประเทศไหน แต่เพื่อความสบายใจของประชาชน ลดการตื่นตระหนกให้น้อยลงในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่เราจะหาความสุขกัน เราจึงประกาศจำกัดการเดินทางจากสายการบินจากแอฟริกา

 

กรณีที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการสธ. ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีผู้สัมผัสติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มเติมนั้นหากดูรายละเอียด คือ ค่า Ct จากการตรวจ RT-PCR ได้ 36 รอบกว่า ในทางการแพทย์ทั่วไปถือว่าเชื้อน้อยมาก ซึ่งอาจติดเชื้อได้ทั้งเดลต้าหรือโอไมครอน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต้องไปดูว่าติดโอไมครอนหรือไม่ แต่ค่า Ct ที่ได้มา 36 รอบ หากตรวจด้วย ATK ก็อาจไม่พบเชื้อแล้ว ถือว่าเป็นหางเชื้อ หากตามหลักการรักษาถ้าเชื้อปริมาณเท่านี้ ก็สามารถออกจากการรักษาได้ ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ ทั้งนี้ การตรวจหาสายพันธุ์จากกรมวิทยาศาสตร์ฯ ต้องใช้เวลาประมาณ 3 วัน เพื่อให้ได้ผลที่ถูกต้อง

 

อย่าสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนจนเกินไป วัคซีนเรามีครบ พร้อมฉีดเข็มที่ 3 เข็มที่ 4 สำหรับคนที่จำเป็น วัคซีนไม่ขาด มีแต่ข่าวดี และออปชั่นการซื้อวัคซีนของไทยในปีหน้า ก็สามารถเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อได้ว่า หากผู้ผลิตมีวัคซีนที่สามารถครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น เราสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา จึงไม่ต้องกังวลอะไร ใช้ชีวิตตามปกติแบบนิว นอร์มอล (New normal)

 

ขณะนี้เรากำลังรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3ให้ประชาชน พร้อมกับผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ เราก็ไม่ต้องกังวล เพราะวัคซีนที่ไทยมีได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ทั้งซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม เขาก็ยอมรับแล้ว หรือฉีดเข็มที่ 3 เป็นตระกูลอื่น เช่น แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หากเพิ่งฉีดมาระดับภูมิคุ้มยังสูงอยู่ก็สามารถเดินทางไปได้ปกติ

 

นับจากวันนี้ไป เพื่อความสบายใจ ไม่ตระหนักของประชาชน สำหรับผู้ที่รับซิโนแวค ซิโนฟาร์ม หรือแอสตร้าฯ ที่เป็นคู่มาแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ก็ไปรับเข็มที่ 3ได้เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ที่สามารถเติมเป็นแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ ก็ได้ หรือโมเดอร์นาล็อตที่รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกาก็ได้ ขอให้ประชาชนลงทะเบียนมาได้เลย สามารถฉีดที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อและต่างจังหวัดก็ใน รพ.ทั่วไป

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์
อธิบดีกรมควบคุมโรค

 

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ได้เข้าประชุมร่วมกับองค์การอนามัยโลก ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์หารือด้วยข้อมูลล่าสุดที่ได้รับ ระบุว่าโอไมครอนน่าจะเกิดมาราว 1 เดือนกว่าแล้ว และอาจจะเริ่มต้นจากยุโรปด้วยซ้ำไป เนื่องจากมีข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมย้อนหลัง ก็ไปเจอว่าโอไมครอนมีที่ยุโรปมาเดือนกว่า แต่ต้องติดตามข้อมูลใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกระบุว่า โอไมครอนยังไม่มีข้อมูลว่าจะมีความรุนแรง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีคือ ติดเชื้อได้ แต่ไม่ป่วยหนัก ไม่เสียชีวิต

 

เมื่อพบรายงานสายพันธุ์โอไมครอนในต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยก็มีมาตรการ ได้แก่ 1.การเฝ้าระวัง โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศแล้วมีผลการตรวจ RT-PCR เป็นบวก ก็จะมีการถอดรหัสพันธุกรรมทุกรายว่าเป็นสายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังพบเป็นเดลต้าอยู่ จึงยืนยันได้ว่า “ไทยยังไม่พบไวรัสโอไมครอน” 2.การจำกัดผู้เดินทางเข้าไทยใน 8 ประเทศ ที่ สธ.ประกาศไว้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายนเป็นต้นมา ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ก็งดการอนุญาตออก Thailand pass ให้กับผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกา ยกเว้นคนไทย สามารถเดินทางเข้ามาได้ ซึ่งขณะนี้กำลังสำรวจว่ามีคนไทยอยากกลับประเทศมากน้อยอย่างไร เพื่อจัดเครื่องบินไปรับ และทุกรายเข้ากักตัวอย่างน้อย 14 วัน เมื่อมาถึงประเทศไทยตามมาตรการ 3.ติดตามข้อมูลข่าวสารกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เข้าร่วมการประชุมองค์การอนามัยโลก เบื้องต้นมีการสรุปว่าสายพันธุ์โอไมครอนจะระบาดเร็ว มีความรุนแรง หรือดื้อต่อวัคซีนหรือไม่ ขณะนี้ข้อมูลยังไม่แน่ชัด จึงขอให้แต่ละประเทศร่วมกันจับตาดูใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ ข้อมูลที่มีคาดว่าอาจจะระบาดได้เร็ว แต่ยังไม่แน่ใจว่าเร็วกว่าเดลต้าอย่างไร ส่วนความรุนแรง ไม่มีข้อมูล เพราะส่วนใหญ่อาการไม่มาก รวมถึงอัตราผู้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศทางยุโรปที่มีโอไมครอน ก็ยังไม่มีผู้ป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น และการดื้อต่อวัคซีน ก็พบว่าหลายรายที่ติดเชื้อ ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว แต่ก็เกิดขึ้นได้ในการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นเช่นกัน จึงยังไม่แน่ชัดว่าสายพันธุ์โอไมครอนดื้อต่อวัคซีนแค่ไหน

 

4.มาตรการที่ต้องทำเพิ่มเติม คือ การเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยขณะนี้ไทยฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้วประมาณร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรเป้าหมาย และเข็มที่ 2 อีกร้อยละ 60 รวมถึงการฉีดบูสเตอร์โดส ก็ฉีดแล้วกว่า 3 ล้านคน ก็จะทยอยบูสต์กันต่อไป

 

ทั้งนี้ หลายประเทศเพิ่งเริ่มให้มีการบูสเตอร์โดส แต่เรานำหน้าเขาไปไกลแล้ว วัคซีนเรามีเพียงพอ เดือนธันวาคมนี้ บริษัท ไฟเซอร์ ก็จะส่งวัคซีนมาให้เรา 15 ล้านโดส ให้ครบ 30 ล้านโดส ที่เราทำสัญญาสั่งซื้อในปีนี้ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า เดือนนี้จะมีส่งอีกราว 20 ล้านโดส ดังนั้น วัคซีนเรามีเพียงพอสำหรับการฉีดทั้งเข็มแรกและบูสเตอร์ ส่วนเรื่องทรัพยากรที่ใช้รักษายาก็ได้สั่งเพิ่มแล้ว ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และได้เตรียมเซ็นสัญญาจัดซื้อแพกซ์โลวิดจากบริษัท ไฟเซอร์ ที่กำลังศึกษาในเฟส 3 หากนำไปขึ้นทะเบียน เราก็พร้อมซื้อทันที

 

โอไมครอนเริ่มกระจายไปค่อนข้างมากแล้ว ข้อมูลหลายประเทศก็ยังไม่ปิดการเดินทาง รวมถึงองค์การอนามัยโลกเองก็ยังไม่ออกคำแนะนำเรื่องนี้ จะมีเพียงญี่ปุ่นกับอิสราเอลที่ปิดแล้ว ส่วนประเทศอื่นยังไม่กังวล เพราะอาการดูเหมือนจะไม่รุนแรงมาก เราต้องติดตามใกล้ชิด ดูกันวันต่อวัน

 

ส่วนการขยับมาตรการเปิดประเทศหลังจากหลายประเทศต้นทางเริ่มพบโอไมครอน 1.มาตรการเข้าไทยไม่กักตัว (Test and go) 63 ประเทศ ก็จะไม่เพิ่ม และจากเดิมที่จะปรับให้ตรวจหาเชื้อผู้เดินทางด้วย ATK มีกำหนดจะเริ่มในวันที่ 16 ธ.ค.64 ก็ให้เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ยังยึดหลักการตรวจด้วย RT-PCR เมื่อผลบวก ก็ต้องนำไปถอดรหัสหาสายพันธุ์ในทุกรายเช่นเดียวกับกลุ่มผู้เดินทางระบบแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) และผู้เดินทางกรณีอื่นให้กักตัว 14 วัน

 

2.สำหรับการตรวจหาสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย จะมีการจับตาคลัสเตอร์ต่างๆ สุ่มตรวจเฝ้าระวังโดยกรมวิทยาศาสตร์ฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดพบโอไมครอนขึ้นมาในไทย มาตรการที่เราเตรียมไว้จะคล้ายกับหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น รวมถึงอินเดีย ซึ่งสังเกตจากหลายประเทศจะไม่ล็อกดาวน์ ทั้งนี้ การพบสายพันธุ์ใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้นได้เสมอ เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ที่เป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว แต่ก็ฉีดวัคซีนทุกปี

 

ตระหนักได้แต่อย่าตระหนก เข้าใจว่าเขาเรียกVariants of Concern ไม่ใช่ Variants of panic เราอย่าแพนิกมาก แต่ต้องใส่ใจ อย่ากลัวจนเครียดเกินไป การตรวจคัดกรองสำหรับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงต่ำด้วยชุดตรวจ ATK ยังสามารถทำได้ เพราะสามารถตรวจได้เร็ว แต่สำหรับผู้เสี่ยงสูงต้องตรวจด้วย RT-PCR เท่านั้น เพียงแต่ขอให้ใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ ก็ยังใช้ได้ดีอยู่ สิ่งสำคัญคือ ทุกคนต้องยึดหลักการป้องกันตัวเองครอบจักรวาล(Universal Prevention) สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ล้างมือ และเว้นระยะห่าง

 

ที่ผ่านมาไทยเราทำได้ดีมาก และขอให้ทุกคนทำต่อไปเช่นนี้ รวมถึงออกไปรับวัคซีนให้มากที่สุด เพราะขณะนี้เรามีวัคซีนมากเพียงพอทุกคนในประเทศไทย โดยวันที่ 7 ธันวาคมนี้ สธ.ประกาศให้ผู้ได้รับวัคซีนในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เข้ารับวัคซีนบูสเตอร์โดสได้ทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง