รีเซต

ศบค.ย้ำเปิดประเทศ ระบบ สธ.ต้องรองรับได้ เหตุให้ 45 ประเทศเข้าไทยไม่กักตัว คำนึงถึงคนไทยกลับบ้าน

ศบค.ย้ำเปิดประเทศ ระบบ สธ.ต้องรองรับได้ เหตุให้ 45 ประเทศเข้าไทยไม่กักตัว คำนึงถึงคนไทยกลับบ้าน
มติชน
25 ตุลาคม 2564 ( 14:27 )
101
ศบค.ย้ำเปิดประเทศ ระบบ สธ.ต้องรองรับได้ เหตุให้ 45 ประเทศเข้าไทยไม่กักตัว คำนึงถึงคนไทยกลับบ้าน

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 25 ตุลาคม ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 8,675 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยรายใหม่ตรวจพบระบบเฝ้าระวังและบริการ 7,931 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 532 ราย จากเรือนจำ 201 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 11 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,830,294 ราย

 

รักษาหายป่วยเพิ่ม 9,589 ราย รวมรักษาหายป่วยสะสม 1,712,890 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 100,042 ราย พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก 2,437 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 536 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 44 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 18,705 ราย หากดูการตรวจ ATK อยู่ที่ 8.41% พื้นที่ในภาคเหนือผลบวกอยู่ที่ 1-2% แต่ในชายแดนใต้ยอดพุ่งสูงไปที่ 20% ซึ่งในส่วนของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อวันนี้อยู่ที่ 1,896 ราย

 

สำหรับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 10 อันดับ ได้แก่ 1.กทม. 903 ราย 2.ปัตตานี 618 ราย 3.สงขลา 586 ราย 4.นครศรีธรรมราช 582 ราย 5.เชียงใหม่ 352 ราย 6.นราธิวาส 352 ราย 7.ยะลา 340 ราย 8.ชลบุรี 295 ราย 9.สมุทรปราการ 274 ราย และ 10.ตรัง 248 ราย โดยใน 10 จังหวัดนี้ยังมีหลายจังหวัดที่ถือว่านำร่องท่องเที่ยวสีฟ้าระยะหนึ่งที่จะมีการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนด้วย เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ และในส่วนนี้ในที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถือว่าเป็นกลุ่มจังหวัดเฝ้าระวัง หรือวอช ลิสต์

 

สำหรับคลัสเตอร์ที่พบยังเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีอยู่หลายจังหวัด เช่น ใน กทม.หรือปริมณฑล แม้จะพบตัวเลขลดลงแต่ก็พบการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ ต้องมีการเน้นย้ำว่าผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย มีไข้ มีอาการทางเดินหายใจ เมื่อไปโรงพยาบาลจำเป็นต้องให้ประวัติที่ครบถ้วนกับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะเมื่อแพทย์ พยาบาลติดเชื้อ 1 ราย จำเป็นต้องกักตัว และทำให้เสียบุคลากรทางการแพทย์ไป

 

สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตทั้ง 44 ราย แบ่งเป็น ชาย 19 ราย หญิง 25 ราย เป็นชาวไทยทั้ง 44 ราย อายุเฉลี่ย 69 ปี อายุน้อยสุด 25 ปี อายุมากสุด 88 ปี ผู้เสียชีวิตพบสูงสุดในภาคใต้ 14 ราย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโรคประจำตัว จากความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง พบผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป 30 ราย อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 12 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย รวมเป็น 95% ของผู้ป่วยทั้งหมด

 

 

 

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดประเทศใน 17 จังหวัด เรามีลิสต์ของประเทศที่เดินทางเข้ามาโดยไม่ต้องกักตัว 45 ประเทศบวก 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ในส่วนนี้ต้องเน้นย้ำว่าต้องขึ้นอยู่กับประเทศต้นทางด้วยว่าอนุญาตให้เข้าประเทศไทยได้ แต่บางประเทศก็ยังไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศได้ สิ่งสำคัญคือการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจะต้องจำกัดเที่ยวบินการเดินทางไม่สามารถเปิดเสรี กลับไปเป็นเหมือนเดิมก่อนการแพร่ระบาดโควิดได้ อย่างที่เน้นย้ำเสมอว่าต้องเป็นภายใต้เงื่อนไขของความปลอดภัย ระบบสาธารณสุขจะต้องรองรับได้ สิ่งสำคัญคือการเพิ่มประเทศให้เป็น 45 ประเทศส่วนหนึ่งคือการคำนึงถึงคนไทยที่ต้องการจะกลับประเทศ เพื่อให้คนไทยที่จะกลับบ้านเดินทางเข้าประเทศไทย โดยยกเลิกการกักตัว และก่อนจะกลับต้องมีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ก่อนเดินทางเกิน 14 วัน มีผลตรวจ RT-PCR ยืนยันว่าไม่พบเชื้อโควิด ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง มีประกันสุขภาพ ยกเว้นคนไทยที่มีหลักประกันสุขภาพอยู่แล้วที่ไม่จำเป็นต้องมีประกันอย่างน้อย 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ

 

สำหรับการเตรียมความพร้อมในบางจังหวัดที่ถือว่าเป็นพื้นที่สีฟ้านำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด หากการติดเชื้อยังคงสูงอยู่ จะเปิดได้หรือไม่นั้น พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ส่วนหนึ่งทาง สธ.มีการประเมินด้วยเกณฑ์หลายด้าน ว่าจังหวัดไหนจะมีความพร้อมเปิดได้ หรือเปิดไม่ได้ ส่วนหนึ่งคงไม่พิจารณาตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อ สิ่งสำคัญคือการครอบคลุมการฉีดวัคซีนของประชากรในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงต้องดูอัตราการตายและอัตราการป่วยหนัก เพื่อจะประเมินว่าะบบสาธารณสุขของพื้นที่นั้นๆ รองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

 

“หากพบว่ามีการติดเชื้อ หรือการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน สธ.ก็มีเกณฑ์ที่จะประเมินมาตรการรองรับที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ เช่น จ.เพชรบูรณ์ มีการติดเชื้อ ก็ได้ประกาศปิดภูทับเบิก 2 อำเภอ อย่างไรก็ตาม ในจังหวัดนำร่องสีฟ้า หากดูในรายละเอียดว่ามีแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นก็ย้ำว่าจังหวัดมีแผนเผชิญเหตุรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง คือหากมีความจำเป็นที่ต้องชะลอการเปิดเมืองจนถึงการหยุดดำเนินการ จนกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ในส่วนนี้ 17 จังหวัดในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวสีฟ้าต้องมีการเสนอแผนเผชิญดังกว่าด้วย

 

“ในส่วนของการเปิดในแต่ละจังหวัดที่มีการพิจารณาเสนอ ศบค.ก็ถือว่าสมเหตุสมผล เพราะการเปิดเป็นการเปิดบางพื้นที่ ทยอยเปิด ซึ่งในส่วนที่เปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทั้งจังหวัด เนื่องจากภูมิศาสตร์ภูเก็ตทั้งจังหวัดเป็นเกาะ แต่พื้นที่ที่เป็นจังหวัด เช่น สุราษฎร์ธานี ในระยะแรกก็เลือกที่จะเปิดเฉพาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า ส่วนพังงานก็เปิดเฉพาะเขาหลักและเกาะยาว ฉะนั้น ในวันที่ 1 พฤศจิกายนก็จะเป็นการเปิดเฉพาะพื้นที่” พญ.อภิสมัยกล่าว

 

พญ.อภิสมัยกล่าวด้วยว่า สำหรับการเลือกพื้นที่นำร่องของจังหวัดสีฟ้า ไม่ได้มาจากกระทรวง สธ.เป็นคนเลือก แต่เป็นการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ประกอบการ สมาคมต่างๆ รวมทั้งหอการค้าที่ได้มีการประเมินตัวเองมาก่อนหน้านี้ รวมถึงได้มีการประชาสัมพันธ์ในผู้ประกอบการในพื้นที่เข้าใจหลักการ และสามารถที่จะร่วมมือกับมาตรการโควิดฟรีเซตติ้ง คือการเปิดสถานบริการ การให้บริการกิจการ กิจกรรมปลอดโควิด หากจะเปิดก็ต้องพร้อมและมีเงื่อนไข สิ่งสำคัญคือประชาชนในพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัด ก็ขอความร่วมมือที่อัตราการฉีดวัคซีนยังไม่ค่อยขยับเท่าไร ตอนนี้ก็ได้มีการระดมไปรับวัคซีน โดยเฉพาะอำเภอที่จะเป็นอำเภอนำร่องท่องเที่ยวที่ต้องมีวัคซีนครอบคลุมพื้นที่นั้นถึง 80%

 

 

ส่วนการที่มีบางสถานที่ปฏิเสธผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน สามารถทำได้หรือไม่นั้น พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ต้องย้ำว่านี่ไม่ใช่เป็นการบังคับ แต่ถือว่าเป็นการขอความร่วมมือขั้นสูงสุด เพราะหากผู้ประกอบการละเลยและไม่ปฏิบัติตามมาตรการ บุคลากรผู้ให้บริการภายในร้านและผู้เข้ามาใช้บริการในร้านก็ถือว่ามีความเสี่ยง โดยในส่วนของมาตรการโควิดฟรีเซตติ้งมี 3 องค์ประกอบด้วยกัน สิ่งแรกที่สามารถทำได้ง่ายคือการจัดสถานที่เว้นระยะห่าง การปรับเรื่องการระบายอากาศ เป็นต้น

 

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ส่วนที่สองที่เห็นได้ชัดคือสถานประกอบการให้ความร่วมมืออย่างดี การพร้อมเพรียงให้บุคลากรได้ฉีดวัคซีนครบ 100% มีการจัดให้มีอุปกรณ์ตรวจ ATK เป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ ส่วนสุดท้ายคือผู้รับบริการที่ต้องขอความร่วมมือ หากสามารถทยอยทำได้และเร็วขึ้น ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจทั้งผู้ให้และผู้รับบริการให้ปลอดภัย เช่น บางร้านอาหารอาจจะจัดโซนสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วและตรวจ ATK แล้ว สามารถเลือกนั่งในโซนไหนได้ แต่หากยังไม่ได้รับวัคซีนขอให้นั่งในโซนไหนอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องให้เวลาประชาชนในการปรับตัว

 

พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 ตุลาคม) ได้มีการประชุม ศบค.ส่วนหน้า ที่จะควบคุมและจัดการสถานการณ์โควิดในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้มีหลายหน่วยงานเข้าร่วมประชุม และได้มีการเสนอมาตรการต่างๆ เช่น การระดมฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน นักศึกษา และอาจารย์เพื่อรองรับการเปิดเรียน ทั้งนี้ ต้องขอเน้นย้ำว่าในช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลทอดกฐิน มีบุญบั้งไฟ และเห็นปรากฏเป็นข่าวว่าเทศกาลบุญบั้งไฟในบางจังหวัดที่มีการห้ามไม่ให้จัดประชุมเกิน 500 คน แต่ที่เห็นในข่าวก็พบว่าอาจจะเกิน ขอให้ทางจังหวัดช่วยกำชับว่ายังไม่ได้ผ่อนคลายจนถึงขีดสุด ต้องค่อยเป็นค่อยไป หากจะไปร่วมงานก็ขอให้ดูแลสุขอนามัยของตัวเอง และเฝ้าระวังคนใกล้ชิด หากเจอเพื่อน หรือคนรอบตัวที่อาจจะละเลยช่วยตักเตือนกันด้วยความเข้าใจ และถ้อยทีถ้อยอาศัยจะทำให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง