รีเซต

ทำไม 'ทุเรียนไทย' ครองใจผู้บริโภคในตลาดจีน?

ทำไม 'ทุเรียนไทย' ครองใจผู้บริโภคในตลาดจีน?
Xinhua
16 เมษายน 2567 ( 23:23 )
75

(แฟ้มภาพซินหัว : ทุเรียนไทยที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)

หนานหนิง, 16 เม.ย. (ซินหัว) -- ยามฤดูเก็บเกี่ยวและจำหน่าย "ราชาแห่งผลไม้" อย่างทุเรียนเวียนมาถึง ทุเรียนจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะทยอยเข้าสู่ตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง โดยรสชาติที่อร่อยและกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ทุเรียนเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้น กลายเป็นหนึ่งในผลไม้ตัวเลือกของหลายครอบครัวชาวจีน

"ไทย" ถือเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตและส่งออกทุเรียนแห่งสำคัญของโลก แต่ละปีส่งออกทุเรียนสู่จีนเป็นปริมาณมาก โดยปริมาณการส่งออกทุเรียนของไทยสู่จีนในปี 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.7 เมื่อเทียบปีต่อปี และทุเรียนที่ส่งออกสู่จีนคิดเป็นร้อยละ 70 ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของไทย ขณะความนิยมทุเรียนในจีนเพิ่มขึ้นไม่หยุดและความต้องการของตลาดยังคงแข็งแกร่งในปี 2024

"ทุเรียนไทยอร่อยและมีกลิ่นหอมมาก แต่ละปีครอบครัวต้องซื้อทุเรียนหมอนทองของไทยมารับประทานกัน โดยตอนนี้นอกจากทุเรียนไทยแล้วยังมีทุเรียนเวียดนามให้เลือกซื้อ นี่เป็นเหมือนโบนัสของคนรักทุเรียน" หวังอวิ๋นเจวียน ผู้บริโภคในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีนกล่าว

(แฟ้มภาพซินหัว : คนดูทุเรียนหมอนทองที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)[/caption]

ยามเดินเข้าตลาดค้าส่งผลไม้ไห่จี๋ซิงในนครหนานหนิงจะพบพ่อค้าแม่ค้ามากมายที่จำหน่าย "ทุเรียนไทย" โดยกวนฉ่ายเสีย ผู้ดูแลร้านผลไม้แห่งหนึ่ง บอกว่าทุเรียนหมอนทองของไทยมักวางตลาดช่วงปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม และเป็นทุเรียนที่มีฐาน "แฟนคลับ" ในจีน ถึงขั้นที่ผู้บริโภคบางส่วนมาสั่งจองล่วงหน้ากันแล้ว

คนวงในอุตสาหกรรมวิเคราะห์ว่าผู้บริโภคชาวจีนสนใจวัฒนธรรมและสินค้าพื้นเมืองของไทยด้วยอานิสงส์จากการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการค้าระหว่างจีนและไทยที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทำให้ยอดจำหน่ายทุเรียนไทยในตลาดจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันตลาดจีนมีทุเรียนเวียดนามเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยจุดเด่นด้านราคา คุณภาพ และการขนส่ง

ด้วยเหตุนี้ คนวงในอุตสาหกรรมมองว่าทุเรียนไทยอาจเผชิญการแข่งขันในอนาคต แม้ความต้องการทุเรียนไทยในตลาดจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

(แฟ้มภาพซินหัว : พนักงานโชว์ทุเรียนไทยที่จำหน่ายในร้านผลไม้ที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)

หูเชา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี เผยว่าหลายปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนจากไทยเป็นสัดส่วนสูงสุด แต่เวียดนามกำลังชิงส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามต่างแข่งขันและเกื้อกูลกัน ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกชนิดพันธุ์และราคาเพิ่มขึ้น ส่วนสายพันธุ์ที่ต่างกันของสองประเทศได้แก้ปัญหาขาดแคลนสินค้าเมื่อสิ้นฤดู

การเข้าสู่ตลาดจีนของทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามในเวลาที่แตกต่างกัน ช่วยให้ผู้บริโภคชาวจีนสามารถซื้อทุเรียนสดได้ในระยะเวลาที่ยาวนานมากขึ้น ขณะความชอบทุเรียนสายพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่เหมือนกันอาจทำให้ทุเรียนบางสายพันธุ์ขาดตลาดในระยะสั้น ซึ่งจุดนี้ทุเรียนอีกสายพันธุ์จะเข้ามาทดแทนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยหูชี้ว่าตราบเท่าที่คุณภาพดี ราคาดี และรสชาติดี ย่อมเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีน

ปัจจุบันการพัฒนาอันรวดเร็วของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและระบบโลจิสติกส์ได้สนับสนุนความนิยมทุเรียนในตลาดจีนอย่างมาก ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อทุเรียนจากกลุ่มประเทศอาเซียนผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างสะดวกสบาย โดยเผิงเสวี่ยเยี่ยน ผู้จัดการบริษัทจำหน่ายสินค้าต่างประเทศแห่งหนึ่ง เผยว่าทุเรียนเป็นของขวัญชั้นดีและเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีนเสมอ

บริษัทของเผิงได้ติดต่อสื่อสารและร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยอย่างแข็งขัน เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทุเรียนที่มีคุณภาพสูงเข้าสู่ตลาดจีนเพิ่มขึ้น โดยการพัฒนาและยกระดับทางเทคโนโลยีโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุเรียนไทยสามารถรักษาความสดใหม่ได้ดีขึ้นระหว่างการขนส่ง ซึ่งช่วยรับประกันคุณภาพและรสชาติ

(แฟ้มภาพซินหัว : ทุเรียนไทยที่วางจำหน่ายในร้านผลไม้ที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)[/caption]

หลิวหมินคุน รองคณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกว่างซี เสริมว่าความนิยมทุเรียนไทยในตลาดจีนเป็นผลจากหลายปัจจัย ทั้งคุณภาพยอดเยี่ยม ข้อได้เปรียบด้านห่วงโซ่อุปทาน ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองประเทศ และการพัฒนาอันรวดเร็วของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและระบบโลจิสติกส์

อนึ่ง ช่วงไม่กี่ปีมานี้ การค้าจีน-อาเซียนเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยโอกาสที่เกิดจากระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) กอปรกับระบบโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนที่พัฒนาดีขึ้น ช่องทางการขนส่งทุเรียนอาเซียนสู่ตลาดจีนจึงมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง