รีเซต

สั่งปล่อยตัวสาวประจวบฯโกงงบหลวง 40 ล้าน พ้นเรือนจำ เหตุยังไม่สรุปสำนวนฟ้อง

สั่งปล่อยตัวสาวประจวบฯโกงงบหลวง 40 ล้าน พ้นเรือนจำ เหตุยังไม่สรุปสำนวนฟ้อง
มติชน
16 กันยายน 2563 ( 10:25 )
77
สั่งปล่อยตัวสาวประจวบฯโกงงบหลวง 40 ล้าน พ้นเรือนจำ เหตุยังไม่สรุปสำนวนฟ้อง

จากกรณี น.ส.ขนิษฐา หอยทอง อายุ 28 ปี พนักงานราชการ สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บุตรสาวของ อดีตกำนัน ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบฯคนสนิทอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์รายหนึ่ง ถูกแจ้งดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารของทางราชการ และใช้เอกสารปลอม หลังจากนำเงินงบประมาณของทางราชการกว่า 40 ล้านบาท โอนผ่านระบบการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS เข้าบัญชีส่วนตัว และ พบการกระทำความผิดในการทำข้อมูลหลักฐานเท็จจากการปลอมเช็คและการเบิกจ่ายรวม 165 ครั้ง ต่อมาศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ออกหมายจับเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563 และไม่ให้ประกันตัวตั้งแต่การฝากขังผัดแรก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563

 

ความคืบหน้า วันที่ 16 กันยายน พ.ต.อ.ธนากร วงศ์สิริลักษณ์ ผกก.สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้อัยการคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 จ.สมุทรสงคราม มีคำสั่งปล่อยตัว น.ส.ขนิษฐา หอยทอง จากการคุมขังที่เรือนจำกลาง จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา เนื่องจากที่ผ่านมาได้ครบกำหนดฝากขังครั้งละ 12 วัน จำนวน 7 ผัด รวม 84 วัน หลังจากก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองฯได้ควบคุมนำตัวผู้ต้องหาจากเรือนจำ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปขออำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ทำการฝากขังพร้อมคัดค้านการประกันตัวเนื่องจากคดีดังกล่าวมีการทุจริตวงเงินสูงและเกรงจะหลบหนี

 

พ.ต.อ.ธนากร กล่าวว่า ขณะนี้พนักงานอัยการยังไม่สรุปสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลคดีทุจริตในระบบไต่สวน จึงทำให้ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัว ยืนยันว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ทำงานล่าช้า แต่คดีนี้มีเอกสารจำนวนมากจากการทำธุรกรรมทางการเงินในระบบอีเลคทรอนิคส์ ที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และจะเร่งสรุปสำนวนให้เสร็จโดยเร็ว จากนั้นจะนำตัวผู้ต้องหาทุกรายดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด

 

“พนักงานอัยการได้แจ้งให้พนักงานสอบ สภ.เมืองฯ สอบข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในระบบราชการบริหารส่วนภูมิภาค และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบสำนวนให้รัดกุม นอกจากนั้นจะต้องทำสำนวนรายละเอียดในการทุจริตทั้งหมด 165 กรรม จาการทุจริตต่อเนื่อง 165 ครั้งตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ถึงเดือนมิถุนายน 2563 โดยมีข้อมูลหลักฐานเชื่อมโยงกับการเบิกจ่ายงบประมาณ เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินหรือธนาคารของรัฐบางแห่ง ที่จะต้องให้ความร่วมมือมอบเอกสารหลักฐานกับพนักงานสอบสวนโดยไม่ประวิงเวลาให้ล่าช้า โดยเฉพาะการส่งเช็คเบิกจ่ายตัวจริง 78 ฉบับ เพื่อให้พนักงานสอบสวนนำไปตรวจสอบลายมือชื่อปลอมตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ “พ.ต.อ.ธนากร กล่าว

 

ผกก.สภ. เมืองประจวบคีรีขันธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ต้องหาภายหลังได้รับการปล่อยตัว ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการหลบหนี แม้ว่าที่ผ่านมา น.ส.ขนิษฐา ได้ให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ขณะที่ก่อนหน้านี้นางสายพิณ ดิบดีคุ้ม อายุ 60 ปี มารดาของน.ส.ขนิษฐา ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีเดียวกันได้รับการประกันตัวแล้ว

 

มีรายงานว่า สำหรับคดีดังกล่าวที่ผ่านมามีการอายัดบัญชีเงินฝากของมารดาผู้ต้องหาและผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นบุคคลทั่วไปรวม 9 ราย หลังตรวจสอบพบพิรุธจากการโอนเงินที่ได้จากการทุจริต และมีความเชื่อมโยงกับการโอนเงินบางส่วนผ่านเว็บพนันออนไลน์ ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงานจังหวัดทุกราย ที่มีการลงลายมือในเอกสารการเงิน ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่ยังไม่มีการอายัดบัญชีเงินฝากของข้าราชการรายใด รวมทั้งนางประชิต วงศ์ประภารัตน์ นักวิชาการการเงินและบัญชี ชำนาญการ สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายหลังพนักงานสบอสวนเรียกตัวมารับทราบข้อกล่าวหาในคดีดังกล่าวความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

ขณะที่ผลการสอบสวนข้อเท็จจริงในระดับจังหวัด ที่มีปลัดจังหวัดทำหน้าที่ประธานสอบสวน หลังจากตัวแทนภาคประชาชนได้ยื่นหนังสือผ่านผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดที่ศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานจังหวัด 2 เพื่อขอทราบผลการสอบข้อเท็จจริงปัญหาจากการใช้งบประมาณแผ่นดินที่มีข้อบกพร่อง ของคณะกรรมการทุกชุดในระดับจังหวัดให้ทราบโดยไม่ประวิงเวลา ล่าสุดศูนย์ดำรงธรรมยังไม่ตอบหนังสือให้ทราบ โดยอ้างว่าแม้จะมีกรรมการจะสอบสวนเสร็จแล้วในระดับจังหวัด แต่จะต้องส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาเพื่อลงโทษทางวินัยและทางละเมิดเพื่อชดใช้ค่าเสียหายกับข้าราชการหลายราย จึงไม่เข้าข่ายการรายงานผลสอบเบื้องต้นให้ทราบตามที่มีการยื่นของเอกสารตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ

 

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า ผลการสอบข้อเท็จจริงในระดับจังหวัดยืนยันว่ามีข้าราชการในสำนักงานจังหวัดมีความบกพร่อง จะต้องมีการตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยและรับผิดทางละเมิดเพื่อชดใช้ค่าเสียหายตามหลักเกณฑ์ที่กรมบัญชีกลางกำหนด นอกจากนั้นจังหวัดจะมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่แจ้งความเอาผิดกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งมีความบกพร่อง หลังจากปล่อยให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน จาการลงลายมือปลอมของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายในเช็คหลายฉบับ

 

จ่าเอกเสกสรรค์ จันทร แกนนำเครือข่ายต่อต้านการทุจริต จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ระหว่างการปล่อยตัวหากลูกจ้างที่ถูกดำเนินคดีหลบหนี พนักงานสอบสวนไม่สามารถนำตัวส่งศาลได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ขณะที่ผู้บริหารระดับจังหวัดควรชี้แจงผลสอบข้อเท็จจริงในประชาชนรับทราบโดยเร็ว เนื่องจากปัจจุบันทราบว่าสามีของผู้ต้องหารายนี้ยังทำงานเป็นลูกจ้างที่สำนักงานจังหวัดตามปกติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง