รีเซต

'ธัญญา' ลงพื้นที่ตรวจสอบการฟื้นฟู 'บ้านเขียว' คาดใช้งบปี'64 ย้ำต่อไปนี้ต้องผ่านประชาพิจารณ์เท่านั้น

'ธัญญา' ลงพื้นที่ตรวจสอบการฟื้นฟู 'บ้านเขียว' คาดใช้งบปี'64 ย้ำต่อไปนี้ต้องผ่านประชาพิจารณ์เท่านั้น
มติชน
23 มิถุนายน 2563 ( 14:10 )
119
'ธัญญา' ลงพื้นที่ตรวจสอบการฟื้นฟู 'บ้านเขียว' คาดใช้งบปี'64 ย้ำต่อไปนี้ต้องผ่านประชาพิจารณ์เท่านั้น

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 23 มิถุนายน นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายสมหวัง เรืองนิรัติศัย รองอธิบดีกรมอุทยานฯ พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดแพร่ บริเวณสวนรุกขชาติเชตะวัน ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกรณีการทุบอาคาร 131 ปี ที่เป็นข่าว

 

นายธัญญากล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ มุ่งตรงมาในเรื่องของการตรวจสอบ และความเป็นไปได้ในการฟื้นฟู ให้อาคารหลังนี้กลับมาเหมือนเดิม โดยให้องค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาชนได้มีส่วนร่วม เข้าใจความรู้สึกของเรื่องที่เกิดขึ้น เรื่องของกระบวนการก็ว่ากันไปในเรื่องการตรวจสอบบุคคล ต้องบอกว่าบริเวณนี้ยังไงก็ต้องเหมือนเดิม ดีกว่าเดิม หรือใกล้เคียง

 

นายธัญญากล่าวว่า เราต้องดึงทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งกระบวนการ ไม่ว่าจะภาคีเครือข่าย พื้นที่ ชาวบ้าน และการดำเนินการต้องผ่านประชาพิจารณ์เท่านั้น ต่อไปนี้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ในส่วนของกรณีไม้หาย และมีกระแสข่าวมาจากหลายทิศทาง การตรวจสอบ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้ว่ากันตามกฎหมาย นอกจากนั้น ไม้ที่รื้อออกมาได้ดำเนินการทำบัญชีนำเสนอ เพื่อการคำนวณปริมาตรว่าจะต้องใช้ไม้เพิ่มเติมอย่างไร เมื่อถึงเวลาก่อสร้างอาคารคืนมาดังเดิม

 

ส่วนงบประมาณก่อสร้างหรือฟื้นฟู คาดว่าน่าจะใช้งบประมาณในปี 2564 เพราะในปี 2563 ไม่สามารถทำได้แล้ว เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ใช่เฉพาะกับอาคารบอมเบย์เบอร์มาแห่งนี้เท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงอาคารเก่าแก่ที่มี่ความเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ในทุกแห่งของประเทศไทย ว่ากรณีเช่นนี้ต้องคิดถึงจิตใจของคนพื้นที่ และต่อไปในกระบวนการฟื้นฟูก็จะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน” นายธัญญากล่าว

 

นายประยูร ธรรมจักร์ หัวหน้าคณะทำงานสำรวจออกแบบอนุรักษ์อาคารบอมเบย์เบอร์มา โครงการสำรวจออกแบบเพื่อการบูรณะโบราณสถาน กรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กรมศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการหาข้อมูลสืบค้น รูปทรงรูปแบบบ้านหลังนี้ ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล เข้าสู่กระบวนการออกแบบ โดยเริ่มงานวันที่เป็นวันที่ 2 แล้ว แต่ติดขัดในเรื่องตำแหน่งของเสา อาคาร ที่ต้องมีการรื้อซากอิฐออก เพื่อหาตำแหน่ง โดยทางหน่วยงานป่าไม้ได้ส่งรถแบ๊กโฮ เพื่อเข้ามาเคลียร์กองอิฐดังกล่าวนำไปเก็บไว้ที่บริเวณใกล้แอ่งน้ำท้ายที่ทำการสวนรุกขชาติ เพื่อเก็บไว้ทำการตรวจสอบ แต่ต้องรื้อออกจากกองฐานรากเพื่อหาตำแหน่งเสาของอาคาร และออกแบบประกอบกับไม้ที่เก็บรักษาว่าไม้ชิ้นไหนอยู่ตรงจุดไหนตามแบบที่ออก โดยอาศัยภาพเก่าที่มีอยู่

 

ด้านนายพัฒนา แสงเรือง ตัวแทนภาคีเครือข่าย อนุรักษ์บ้านเก่าจังหวัดแพร่ กล่าวว่า เรื่องการติดตามการอนุรักษ์ฟื้นฟูโบราณสถานอาคารบอมเบย์เบอร์มา ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานการตรวจสอบความจริง โดยการแต่งตั้งจากจังหวัด แนวทาง ขั้นตอน บทบาท หน้าที่ ในการติดตามข้อเท็จจริงในการรื้อถอนโบราณสถานเป็นไปตามขั้นตอน และเป็นไปในทางที่ทำให้รู้สึกดีว่ามีกระบวนการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้โปร่งใส เป็นไปตามนิติรัฐ และกำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงไม่สามารถที่จะทำให้ได้ข้อสรุปอย่างรวดเร็ว เพราะมีขั้นตอนที่ต้องลงรายละเอียด ทั้งด้านกฏหมายและหลักฐานที่ต้องขอเพิ่มเติม

 

นายพัฒนากล่าวว่า ขณะนี้ได้เริ่มมีการเข้าสำรวจรายละเอียด ทั้งวัสดุและการเริ่มเก็บรื้อเศษซากในบริเวณที่ตั้งของอาคาร และวางแผนในการฟื้นฟูสร้างซ่อมที่เป็นไปตามหลักฐานและหลักการจากทางกรมศิลปากร สามารถสรุปได้ว่า ทั้งฝั่งทางด้านกฏหมายและฝั่งของการฟื้นฟูได้เริ่มต้นขึ้น และเป็นไปในทางที่ดี คงต้องใช้ระยะเวลาและความรอบคอบรอบด้านที่จะทำงานให้เป็นไปด้วยดี สมประโยชน์ต่อคนแพร่และคนทั้งประเทศ และขอวิงวอนให้คนแพร่และคนไทยทั้งชาติว่าเราจะใช้ปัญญานำอารมณ์ ต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ เพราะทุกอย่างได้ทำตามขั้นตอนที่ทำให้ ทั้งการตรวจสอบและการฟื้นฟูอนุรักษ์ ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และขอสงวนสิทธิที่จะไม่ตอบคำถามด้านกฏหมายและขั้นตอนพิจารณาข้อเท็จจริงเรื่องโบราณสถานอาคารบอมเบย์เบอร์มา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง