รีเซต

สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจ.แพร่ ชวนดินเนอร์ขันโตกแบบไทยใหญ่ วิถีชีวิตชุมชนคนเมือง วัดสระบ่อแก้ว

สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจ.แพร่ ชวนดินเนอร์ขันโตกแบบไทยใหญ่ วิถีชีวิตชุมชนคนเมือง วัดสระบ่อแก้ว
มติชน
15 พฤศจิกายน 2565 ( 15:50 )
70
สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจ.แพร่ ชวนดินเนอร์ขันโตกแบบไทยใหญ่ วิถีชีวิตชุมชนคนเมือง วัดสระบ่อแก้ว

เมื่อเร็วๆนี้ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ ร่วมกับสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดแพร่ จัดกิจกรรมเที่ยวเท่ห์ๆ เสน่ห์แพร่ โดยได้รวมเอาเสน่ห์ อันชวนให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสเมืองแพร่ในหลายๆ รูปแบบ และหนึ่งในนั้นคือ เสน่ห์ในเรื่องอาหารพื้นถิ่น ที่มีมาแต่โบราณ โดยเฉพาะในเรื่องของวัฒนธรรมการกินอาหารแบบขันโตก

 

ในส่วนของจังหวัดแพร่ ได้มีการยกเอาการรับประทานอาหารแบบขันโตกโบราณของชาวไทยใหญ่ มาเป็นจุดขาย ซึ่งจะมีความแปลกในเรื่องของมีการสอดแทรกวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวพม่า หรือชาวไทยใหญ่ ที่เข้ามารับจ้างทำไม้ในการทำสัมปทานไม้ในอดีต และยังคงหลงเหลือร่องรอยความเป็นชนชาวไทยใหญ่ในจังหวัดแพร่ ให้ได้เห็น โดยเฉพาะในเรื่องของอาหาร ที่เป็นเกร็ดความรู้ ในเรื่องของขันโตกชาวไทยใหญ่

 

นางเสาวลักษณ์ วิสุทธิผล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า ในช่วงของเทศกาลท่องเที่ยวในภาคเหนือ ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ในส่วนของจังหวัดแพร่ ถึงแม้จะเป็นเมืองเล็ก เมืองรอง จากเมืองท่องเที่ยวเมืองใหญ่ แต่แพร่ มีเสน่ห์มากมายหลายด้าน ในเรื่องต้นทุนการท่องเที่ยว ที่หยิบยกขึ้นมา ให้เป็นตัวชูโรงในปีนี้ คือ เรื่องของการ เที่ยวเท่ห์ๆ เสน่ห์เมืองแพร่ ในเรื่องของวัฒนธรรมการกินขันโตกแบบไทยใหญ่ โดย ที่ผ่านมา ได้มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจ และ ได้รองรับนักท่องเที่ยวหลายกลุ่ม ที่เข้ามายังจังหวัดแพร่ โดยกิจกรรมการรับประทานอาหารแบบขันโตกนั้น จัดขึ้นที่วัดสระบ่อแก้ว หรือในอดีต เรียกชื่อว่า วัดจองกลาง ที่สร้างขึ้นโดยชาวพม่าที่เรียกกันว่าชาวไทใหญ่ หรือ เงี้ยว ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยที่ชาวไทใหญ่ได้เข้ามาประกอบธุรกิจ และใช้แรงงาน ในแพร่ ในบริษัทที่ทำสัมปทานทำไม้ และ ขุดพลอยในพื้นที่

 

ดังนั้น วัดสระบ่อแก้ว จึงเป็น 1 ใน 3 วัดในจังหวัดแพร่ ที่มีความเป็นมาที่น่าสนใจ จองเหนือ คือวัดจอมสวรรค์ จองกลาง คือวัดสระบ่อแก้ว และ จองใต้ คือวัดต้นธง โดยชาวไทยใหญ่ ได้ทิ้งร่องรอยวัฒนธรรมการกินขันโตก ที่มีอาหารแบบไทยใหญ่ผสมผสานเข้าไปด้วย ที่ขึ้นชื่อคือแกงฮังเล ที่มีผงปรุง โดยชาวไทยใหญ่ที่ชื่อหม่องโพเส่ง เป็นคนนำมาเผยแพร่ และปัจจุบัน โรงงานผลิตผงแกงฮังเล ที่ขึ้นชื่อที่สุด อยู่ที่จังหวัดแพร่ โดยทายาทของหม่องโพเส่งเป็นผู้ดำเนินกิจการสืบต่อมา

 

สำหรับอาหารในสำรับโตกของนักท่องเที่ยว จะได้ลิ้มลอง คือแกงฮังเล น้ำพริกอ่อง ข้าวซอย 3 อย่างนี้คือ อาหารของชาวไทยใหญ่ที่สืบทอดมา และภายในโตก จะมีหมูทอด และซุปให้พร้อมข้าว และผลไม้ ขนมไทย ในเซต อาหารภายใน 1 โตก สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนได้ ไม่ต่ำกว่า 5 คน โดยแต่ละคนมีส่วนร่วมในการทำอาหาร ทำขนม และอื่นๆ เป็นการกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชน และ ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่

 

กิจกรรม ดังกล่าว ททท.สำนักงานแพร่ ร่วมกับ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ จัดโปรแกรม “เที่ยวเมืองแพร่แลเมืองเก่า ร่วมสืบสานวัฒนธรรม กิ๋นขันโตก ไทยใหญ่ ณ วัดสระบ่อแก้ว” แพ็คเกจสำหรับรับประทานอาหารขันโตกยามค่ำ ชมการแสดงวัฒนธรรมแบบไทยใหญ่ฟ้อนกิงกะหร่าผสมผสานการฟ้อนแบบล้านนาและเชื่อมโยงประวัติศาสตร์เมืองเก่าแพร่ ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม และไฮไลท์คือวัดสระบ่อแก้วที่เป็นวัดศิลปะไทยใหญ่ มีการจัดงานประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ดทุกปี และจุดผางประทีปเพื่อขอพรพระอุปคุต กิจกรรมเริ่มตั้งแต่บัดนี้จนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2566 กิจกรรมนี้รับเป็นหมู่คณะตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป ติดต่อสอบถามโทร. 098 226 4266,080 103 1938 นางเสาวลักษณ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง