รีเซต

ส่อง ‘ไส้ใน’ ฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว รัฐระดมสรรพกำลังต่อลมหายใจ

ส่อง ‘ไส้ใน’ ฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว รัฐระดมสรรพกำลังต่อลมหายใจ
มติชน
25 มกราคม 2564 ( 07:37 )
160
ส่อง ‘ไส้ใน’ ฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว รัฐระดมสรรพกำลังต่อลมหายใจ

เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยรอบแรก ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และทวีความรุนแรงจนรัฐบาลต้องประกาศใช้มาตรการฉุกเฉิน ล็อกดาวน์และปิดน่านฟ้า เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด ปิดประตูการเดินทางทั้งคนในประเทศ และการเข้ามาท่องเที่ยวในไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้มงวดสกัดกันทุกทาง ทำให้สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลง เหลือไม่กี่คนต่อเนื่องหลายเดือน จนรัฐบาลตัดสินใจเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เป็นเฟสๆ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563

 

ครั้งนั้น เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ประชาชนคลายความกังวลลง ก็เริ่มเดินทางข้ามจังหวัดและท่องเที่ยวระยะสั้นๆ กันอีกครั้ง ดูจากจำนวนผู้เดินทางเดือนกันยายนมากสุดในรอบปี 2563 ก็ว่าได้ การเดินทางท่องเที่ยวดีขึ้น ก็กระทบไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวคึกคักขึ้นอีกครั้ง ตั้งแต่โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร นวด/สปา รวมถึงจุดพักผ่อนแบบง่ายๆ ถึงเดือนตุลาคม จำนวนการท่องเที่ยวดีขึ้นจนผิดตาจนถึงเดือนพฤศจิกายน เข้าช่วงฤดูหนาว อากาศเย็นสบาย ถือเป็นช่วงไฮซีซั่นภาคท่องเที่ยว ยอดเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นทะลุ 15 ล้านคน-ครั้ง กลับมาอยู่ในระดับเทียบเท่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19

 

⦁โควิดรอบใหม่ทุบศก.ช้ำ

เข้าเดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปี ความหวังมากมาย ทั้งประชาชนเตรียมซื้อตั๋ว จัดตารางการหยุดงานและเวลาท่องเที่ยวไว้พร้อม หวังช่วงหยุดยาวคริสต์มาสถึงปีใหม่ จะได้เดินทางกลับไปเยี่ยมญาติในบ้านเกิดกลับภูมิลำเนา หรือพักผ่อน ผู้ประกอบการก็เตรียมพร้อมปัดกวาดสถานที่ และเตรียมโปรแกรมพิเศษเพื่อดึงดูดการฉลองปีใหม่ 2564 หวังเป็นปีฉลูทอง แต่ทุกอย่างก็หมดลงเมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่จังหวัดสมุทรสาคร ในวันที่ 17 ธันวาคม จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งไม่แค่คนในจังหวัด แต่คนที่เดินทางหรือค้าขายในแหล่งนั้นออกมาติดในจังหวัดที่พักอาศัยด้วย ลุกลามไปกว่า 30 จังหวัด จนต้องล็อกดาวน์ในจังหวัดต้นตอและพื้นที่อื่นๆ ซึ่งกำหนดล็อกดาวน์ไว้ 30 วัน ก็จะครบกำหนดในปลายเดือนมกราคมนี้

 

จากนั้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาภาคท่องเที่ยวเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบทันที ทั้งผลกระทบทางตรงกับผู้มีอาชีพในภาคท่องเที่ยว และธุรกิจห่วงโซ่จากภาคท่องเที่ยว ประเมินตัวเลขแรงงานรวมกันหลักหลายล้านคน เพียงปีเดียวหลังโควิดระบาด จากธุรกิจเฟื่องฟู ทำเงินดี กลายเป็นธุรกิจที่เจ้าของมีหนี้รุงรัง แรงงานไม่มีสวัสดิการ ถูกลดเงินเดือน ลดชั่วโมงจ้างเคยทำ 8-10 ชั่วโมง ต้องให้เหลือ 4-5 ชั่วโมง แลกกับการไม่ถูกเลิกจ้าง แต่ก็ไม่น้อยถูกเลิกจ้างแล้ว เริ่มเห็นการขายกิจการโรงแรมเก่าแก่มากขึ้น โดยเฉพาะในภาคเหนือและใต้

 

⦁เสี่ยงตกงานเพิ่มอีกแสนราย

ตามรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุถึงผลกระทบจากโควิดระบาด ส่งผลโดยตรงกับภาคการท่องเที่ยว ที่มีต่อแรงงาน สำหรับรอบแรกช่วงไตรมาส 2/2563 มีแรงงานในภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบประมาณ 2.5 ล้านคน จากการจ้างงานทั้งหมดประมาณ 3.9 ล้านคน และไตรมาส 2/2563 มีผู้ว่างงานเพิ่มในทุกสาขาอาชีพอีกกว่า 7.5 แสนคน และเมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ขึ้นในประเทศไทย มองว่าจะส่งผลกระทบต่อการตกงานของแรงงานจำนวนมาก โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินไว้ว่าโควิด-19 รอบนี้ ส่งผลกระทบกับแรงงานกว่า 4.7 ล้านคนและมีประมาณ 1.2 ล้านคน อาจเป็นผู้เสมือนว่างงาน โดยเฉพาะลูกจ้างในสาขาโรงแรม เสี่ยงจะตกงานเพิ่มอีกกว่า 1 แสนคน

และที่ผ่านมา ธุรกิจและแรงงานในภาคท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง ร้องทุกข์และวอนขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาและประคองให้อยู่รอดมาตลอด หลังจากที่เจอผลกระทบหนักและแบกรับแรงกดดันมานานหลายเดือน ภาคการท่องเที่ยวเกี่ยวพันกับกลุ่มประชาชนที่หาเช้ากินค่ำหรือกลุ่มฐานรากอย่างแท้จริง ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องยนต์หลักการสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำ และภาคการท่องเที่ยวมีอยู่ 13 สาขาอาชีพที่เกี่ยวข้อง

 

⦁ขุนคลังรับปากเร่งอุ้มธุรกิจ

หนึ่งในทีมเศรษฐกิจอย่าง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุไว้ว่า ผลกระทบโควิด-19 ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ยอมรับว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้กลับไปเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ต้องใช้เวลายาวขึ้น คาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีก 3-4 ปี แต่การดำเนินชีวิตภายในประเทศยังต้องมี ต้องเริ่มภายในปีนี้ หากยุติการแพร่กระจายเชื้อได้เร็ว ชีวิตปกติของคนไทยจะกลับมาได้เร็วขึ้น ขณะที่มาตรการภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ทั้งโครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ ที่แจกเงินเยียวยาให้ประชาชนคนละ 3,500 บาท ต่อเนื่อง 2 เดือน จะใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ ในหมวดเยียวยาที่เหลือส่วนหนึ่ง และโยกวงเงินจากหมวดฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท อีกก้อนหนึ่ง ก้อนแรก 50,000 ล้านบาท ซึ่งรวมแล้วเชื่อว่าเพียงพอสำหรับการจ่ายบรรเทาความเดือดร้อน

หลังจากมีการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 การดูแลเศรษฐกิจไทยปี 2564 ภาครัฐจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน ทั้งการลงทุนและการกระตุ้นการบริโภค เนื่องจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่นได้รับผลกระทบหมด ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่แน่ใจ ว่าจะถึง 5 ล้านคนตามประมาณการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือไม่

ขณะที่ส่งออกปี 2564 ประเมินว่าจะโตเพียง 3.6% เท่านั้น ต้องดูว่ายังมีความต้องการ (ดีมานด์) อยู่หรือไม่ โดยรัฐบาลได้ประเมินว่าประเทศไทยจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เดือนกุมภาพันธ์นี้ หากการระบาดจบลงใน 2 เดือน น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 ยังมีโอกาสขยายตัว 3.5% ต่อปี จากที่กระทรวงการคลังประเมินการขยายตัวทั้งปี 2564 ไว้ที่ 3.5-4.5%

สิ่งสำคัญขณะนี้คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ต้องต่อเนื่องมาจากปี 2563 เพราะปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ จึงจะเห็นว่าเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ดีมานด์จากข้างนอกยังไม่มา รัฐบาลก็ต้องเน้นเรื่องการทำอย่างไรให้เศรษฐกิจภายในประเทศเดินได้ ซึ่งภาคการส่งออกเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้น แม้จะเห็นว่าตัวเลขการเติบโตค่อนข้างน้อย แต่ก็ยังสามารถไปได้ โดยสิ่งที่ต้องเร่งช่วยเหลือและพาให้ฟื้นกลับมาคือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มต่างชาติทำงานในเมืองไทย นักการทูต นักธุรกิจ
โดยการช่วยเหลือนโยบายการเงินก็มีมาตรการด้านสินเชื่อ ทั้งการพักชำระหนี้ และการเติมสภาพคล่อง รวมถึงได้เสนอขยายเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% อีก 1 ปี เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ถือครองทรัพย์สิน ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงการลดค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 0.01% สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายเวลามาตรการเดิมอีก 1 ปี เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ กระตุ้นให้คนที่มีกำลังซื้อที่อยากจะซื้อบ้าน

 

⦁จี้แบงก์ปล่อยซอฟต์โลน

ส่วนมาตรการซอฟต์โลน (สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศขยายเวลาให้ยื่นคำขอพักชำระหนี้ และขอสินเชื่อซอฟต์โลนออกไปถึงเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากมีความเดือดร้อนจากพื้นที่ที่เป็นต้นตอการระบาด และพื้นที่สีแดงคุมเข้ม ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่าย หรือสภาพคล่อง หรือบางรายอาจจะปิดกิจการไป รวมถึงการดูแลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยนโยบายการช่วยเหลือครั้งนี้จะเน้นไปยัง 2 กลุ่ม คือ ภาคการท่องเที่ยวที่ค้างมา 1 ปีแล้ว และกลุ่มพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด ซึ่งให้แบงก์รัฐเน้นไปที่พื้นที่นี้ก่อน
“ยอมรับว่าที่ผ่านมาซอฟต์โลนยังติดเงื่อนไขที่ทำให้แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ เพราะมีเงื่อนไขการตั้งสำรองที่ยังเข้มอยู่ ทำให้แบงก์กลัวว่าถ้าปล่อยกู้ไปแล้วเป็นหนี้เสียขึ้นมา ก็ต้องกันสำรอง 100% แบงก์ก็อาจไม่ไหว ขณะนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างผลักดันแก้กฎหมายซอฟต์โลน เพื่อผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งจะผ่อนปรนให้ทั้ง 2 ข้าง ทั้งฝั่งแบงก์พาณิชย์ และลูกหนี้ รวมถึงให้สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมได้ด้วย แต่การปรับแก้กฎหมายต้องใช้เวลา” อาคมกล่าวไว้

 

⦁ธุรกิจวอนรัฐต่อลมหายใจ

มาฟังเสียงภาคเอกชน ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องออกมาทวงถามรัฐบาลตลอด ถึงแนวทางช่วยเหลือเยียวยาจากระบาดครั้งแรกถึงครั้งที่สองนี้ ก็ยังไม่คืบ!! ทั้งจากสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) และสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) โดยข้อเสนอที่ภาคเอกชนต้องการให้ช่วยเหลือ ได้แก่ การร่วมกันจ่ายค่าจ้างให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยว ในลักษณะร่วมกันจ่ายระหว่างรัฐบาลและเอกชน หรือโคเพย์ (โค-เพย์) ในสัดส่วนฝ่ายละ 50% จำนวนเงินไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน เพื่อรักษาอัตราการจ้างงานไว้ การช่วยลดค่าไฟฟ้าในอัตรา 15% ต่อหน่วย ไม่จำกัดปริมาณการใช้ไฟของโรงแรมแต่ละแห่ง และการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน)

เรื่องนี้ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า เตรียมหารือกับ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือแรงงานภาคการท่องเที่ยวทั้งระบบ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เบื้องต้นรัฐบาลอาจนำแนวทางการร่วมจ่ายเงินค่าจ้าง (โค-เพย์) มาใช้ โดยรัฐบาลและผู้ประกอบการจะร่วมกันจ่ายค่าจ้างให้พนักงานคนละครึ่ง ฝ่ายละ 7,500 บาทต่อเดือน เพื่อพยุงการจ้างงานเอาไว้ในระบบต่อไป โดยทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯได้รวบรวมข้อเสนอและทำการยื่นให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว คาดว่าขณะนี้น่าจะอยู่ระหว่างการพิจารณา และยื่นให้กระทรวงการคลังพิจารณาประเมินความเป็นไปได้อีกครั้ง

โดย รมว.ท่องเที่ยวย้ำว่า “ขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายรายได้รับความเดือดร้อนและอาจจำเป็นต้องปิดกิจการลงหากไม่มีแนวทางมาช่วยเหลือ การพยุงการจ้างงานเอาไว้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งทำทันที โดยที่ไม่ต้องรอให้การระบาดของโควิด-19 จบลงก่อนแล้วค่อยมาทำ เพราะถ้ารอถึงตอนนั้นธุรกิจท่องเที่ยวหลายกลุ่มทั้งโรงแรม ห้องพักบริษัททัวร์ ร้านอาหาร อาจต้องปิดกิจการลงไปอีกมาก”

 

⦁บ.ทัวร์เร่งรัฐล้างเชื้อโควิด

ฟากเอกชน ธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้มีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวสูงมากกว่ารอบแรก เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ใช้เงินสะสมหรือเครดิตทางการเงินที่มีอยู่ หมดไปกับการแพร่ระบาดครั้งแรก ที่ใช้เวลากว่า 6 เดือน จึงเริ่มมีการกลับมาฟื้นฟูกิจการ และการจ้างพนักงานในช่วง 1-2 เดือนของพนักงาน ซึ่งต้องหยุดกิจการอีกครั้งทำให้บริหารต้นทุนได้ยาก รวมถึงความเชื่อมั่นในภาคการท่องเที่ยวหายไป โดยนักท่องเที่ยวเกิดความกังวลและไม่กล้าเดินทาง

ทางสมาคมจึงขอให้รัฐบาลควบคุมโรคระบาดระลอกใหม่ให้ได้เร็วที่สุด และปลดล็อกการเดินทางทั่วประเทศไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้กิจกรรมของภาคการท่องเที่ยวในประเทศ สามารถเริ่มต้นได้ภายในเดือนมีนาคม 2564 โดยรัฐบาลจะต้องใช้กลไกหรือนโยบายภาครัฐที่มีอยู่ มาปรับปรุงและเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงทำนโยบายที่ช่วยให้ทุกคนเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

“ขณะนี้เอกชนต้องการให้ปรับใช้วงเงินกู้ 20,000 ล้าน ที่เหลือมาใช้ในมาตรการที่ต้องทำเร่งด่วน โดยภาคการท่องเที่ยว ต้องการแนวทางการควบคุมโควิด-19 และเงื่อนไขเวลา ที่ชัดเจน เพื่อดึงความเชื่อมั่นกลับมา มีมาตรการป้องกันการระบาดระลอกใหม่ ในอนาคต การเพิ่มเงื่อนไขโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ให้บริษัทนำเที่ยวเข้าไปใช้บริการ เพื่อรองรับการเดินทางแบบคณะได้ โดยมีมาตรการในการตรวจสอบความถูกต้องโปร่งใสที่ชัดเจน และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการท่องเที่ยว ภายใต้วงเงิน 100,000 ล้านบาท ในรูปแบบกองทุนหมู่บ้าน และการจัดจ้างแรงงานภาคการท่องเที่ยว ทำงานฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราวจำนวน 100,000 อัตรา ในระยะเวลา 2 เดือน มีวงเงินงบประมาณให้จังหวัดที่ปลอดโควิด-19 สามารถจัดอีเวนต์ เพื่อกระตุ้นตลาดภายในจังหวัด จังหวัดละ 5 ล้านบาทและหลังจากปลอดโควิด-19 แล้ว ให้จัดเที่ยวเพื่อชาติ แบบรัฐจ่าย 50% คนละ 3,000 บาท จำนวน 2 ล้านคน”

 

⦁ททท.วิ่งรอบทิศหาทางช่วย

เมื่อเอกชนสะท้อนเสียงมาอย่างชัดเจน ผู้ที่ต้องรับไม้ต่อเพื่องัดทุกวิธีในการหาช่องทางช่วยเหลือผู้ประกอบการต่อไป คงหนีไม่พ้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำโดย ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่าททท.เตรียมนำข้อเรียกร้องของภาคเอกชนท่องเที่ยว ที่รวบรวมเป็นมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาวะโควิด-19 เสนอต่อรัฐบาลผ่านกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่วนใหญ่เป็นมาตรการช่วยเหลือแรงงาน มาตรการด้านภาษี มาตรการด้านการเงิน เสริมสภาพคล่องด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนี้ ททท.ยังมองไปถึงการเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาจใช้เงินจากภาษีบาปประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพื่ออบรม หรือเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวด้วย

โดย ททท.คาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดโควิด-19 ในกรณีร้ายแรงที่สุด ภาคท่องเที่ยวอาจสูญเสียรายได้เฉลี่ยเดือนละ 4.6 หมื่นล้านบาท หากกินเวลาเกิน 3 เดือนขึ้นไป หรือนับตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2564 อาจสูญเสียรายได้รวมกว่า 1.38 แสนล้านบาท หลังจากที่ปี 2563 มีรายได้การท่องเที่ยวภายในประเทศที่ 4.8 แสนล้านบาท ลดลง 55% เทียบกับปี 2562 ปิดที่ 1.08 ล้านล้านบาท ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวไทยปีที่แล้วอยู่ที่ 90.74 ล้านคน ลดลง 47% หากเทียบกับปีก่อนหน้า เมื่อรวมกับรายได้การท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศอีก 3.32 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงกว่า 82% เทียบกับปีก่อนหน้า จากฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.69 ล้านคน ลดลง 83% ทำให้ตลอดปี 2563 ไทยมีรายได้การท่องเที่ยวรวม ปิดที่ 8.12 แสนล้านบาท ลดลง 73%

ปี 2564 ททท.คงเป้าหมายการทำตลาด ให้มีรายได้การท่องเที่ยวรวมที่ 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% เทียบกับปี 2563 แบ่งเป็นรายได้การท่องเที่ยวจากตลาดในประเทศที่ 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% เทียบกับปีที่แล้ว จากเป้าหมายนักท่องเที่ยวไทย 120 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 33% เป้าหมายรายได้การท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศวางไว้ที่ 5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% เทียบกับปีที่แล้ว จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน เพิ่มขึ้น 49%

 

⦁กระหน่ำลดราคาดึงต่างชาติ

แนวทางการทำตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดย ททท.ในฐานะหน่วยงานด้านการตลาดต้องส่งสัญญาณว่าพร้อมทำตลาด โดยเริ่มขายแพคเกจท่องเที่ยวแบบลดราคาสูง (ฮาร์ดเซลล์) ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 ตรงกับเทศกาลอีสเตอร์ของยุโรป เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เริ่มเดินทางเข้าไทยในช่วงไตรมาส 3/2564 คาดว่านักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกล ทั้งยุโรปและอเมริกา จะเดินทางเข้ามาได้ก่อนตลาดระยะใกล้ อย่างอาเซียนและเอเชียตะวันออก โดยจีน เกาหลี และญี่ปุ่น คงเข้มงวด ขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ หากไม่จำเป็น

ททท.เริ่มคุยกับพันธมิตรสายการบิน อาทิ สายการบินจากภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างเอมิเรตส์และกาตาร์แอร์เวย์ส รวมถึงโรงแรมและบริษัทผู้รับจัดบริการเดินทางที่เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย เพื่อขายแพคเกจท่องเที่ยวแบบไร้ข้อจำกัด หรือรวมค่าใช้จ่ายในการให้บริการอาหารเช้า กลางวัน เย็น รวมค่าเครื่องดื่มทั้งไม่มีแอลกอฮอล์ และมีแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อมาตรฐานปานกลาง แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ มุ่งเพิ่มยอดการใช้จ่ายต่อทริปต่อคน ด้วยการพัฒนารูปแบบกิจกรรมท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์ความหลากหลายและมีมูลค่าสูง

ส่วนแนวโน้มตลาดต่างชาติมาเที่ยวไทยถึง 10 ล้านคน ในปีนี้ตามเป้าหมายของ ททท.หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ 5 ปัจจัย ว่าจะได้รับการผ่อนปรนมากเท่าใด ได้แก่ ความเชื่อมั่นของคนไทยในฐานะเจ้าบ้าน สถานการณ์การเข้าถึงวัคซีนทั้งในไทยและต่างประเทศ การอำนวยความสะดวกในการเข้าเมือง นโยบายการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศของประเทศต้นทาง และมาตรการด้านสาธารณสุขในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย แต่ถ้ายังมีเงื่อนไขการกักตัว 14 วัน ก็ยากที่จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว

 

⦁ชงใช้‘พาสปอร์ตแสดงผลวัคซีน’

ต้องติดตามเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯให้ ททท.หาวิธีดึงชาวต่างชาติกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเข้ามาเที่ยวไทย โดยอยากให้มีพาสปอร์ตแสดงผลวัคซีน และให้หารือร่วมกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (เอ็นทีโอ) ประเทศต่างๆ ในอาเซียน เพื่อออกเป็นพาสปอร์ตวัคซีนร่วมกัน ภายใต้มาตรฐานเดียว ที่หากฉีดแล้ว สามารถเดินทางเข้าประเทศนั้นๆ ได้แบบไม่ต้องกักตัว และการมองไปถึงปี 2565 ตั้งเป้าท่องเที่ยวไทยคือรัฐบาลต้องการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัว 50% ของปี 2562 หรืออยู่ที่ 20.8 ล้านคน จากปีก่อนหน้า ปิดที่ 39.92 ล้านคน แต่ต้องการเห็นรายได้การท่องเที่ยวรวมในประเทศและต่างประเทศฟื้นตัว 80% หรืออยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท เท่ากับว่า ททท.ต้องเร่งเครื่องเพิ่มค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 4.78 หมื่นบาทต่อคนของเมื่อปี 2562 เพิ่มขึ้นถึง 30% เป็น 6.25 หมื่นบาทต่อคนให้ได้ในปี 2565

ขณะที่ ททท.มองข้ามถึงปี 2565 แต่เอกชนกลับส่งเสียงมาว่าตอนนี้ขอแค่ผ่านไปให้ได้วันต่อวัน ถือว่าดีมากแล้ว หากรัฐบาลไม่มีมาตรการออกมาช่วยเหลือที่ชัดเจน แน่นอนว่าภาพการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย อาจกลับกลายเป็นการทยอยล้มหายตายจากของธุรกิจเข้ามาแทน

ทีมข่าวเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง