รีเซต

APEC คืออะไร? รู้จัก "ประชุม APEC 2022" ครั้งที่ 29 วันที่ 14 - 19 พ.ย. 65

APEC คืออะไร? รู้จัก "ประชุม APEC 2022" ครั้งที่ 29 วันที่ 14 - 19 พ.ย. 65
Ingonn
16 พฤศจิกายน 2565 ( 10:58 )
14.3K
APEC คืออะไร? รู้จัก "ประชุม APEC 2022" ครั้งที่ 29 วันที่ 14 - 19 พ.ย. 65

ประชุม APEC 2022 ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยการประชุม APEC 2022 จะจัดขึ้นในวันที่ 14 - 19 พ.ย. 65 และครม.ได้อนุมัติ วันที่ 16 - 18 พ.ย. 65 เป็น วันหยุดราชการกรณีพิเศษ เฉพาะ กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ เนื่องจากเป็น สัปดาห์ประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ 29 วันนี้ TrueID จะพามารู้จัก "APEC" คืออะไร และมีรายละเอียดการประชุมอะไรบ้าง

 

ประเทศไทย ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 หรือ ประชุม APEC 2022 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร  กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 19 พฤศจิกายน 2565  โดยวันที่ 14 - 16 พ.ย. 65 เป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส วันที่ 17 พ.ย. 65  เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี และ วันที่ 18 - 19 พ.ย. 65 เป็นการประชุมผู้นำและกิจกรรมคู่สมรส  

 

ประชุม APEC คืออะไร

เอเปค หรือ APEC ย่อมาจาก Asia-Pacific Economic Cooperation คือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก กรอบความร่วมมือนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2532 เพื่อตอบสนองต่อภาวะการพึ่งพาซึ่งกันและกันของเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิกที่ เพิ่มมากขึ้น จาก จุดเริ่มต้นด้วยการหารืออย่างไม่เป็นทางการในระดับรัฐมนตรีด้วยสมาชิกเพียง 12 ราย เอเปคได้พัฒนาจนกลายมาเป็นเวทีในระดับภูมิภาคที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเอเปคได้เริ่มจัดการพบปะระหว่างผู้นำเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 เป็นต้นมา ปัจจุบัน เอเปคมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากรรวมกันประมาณ 2,500 ล้านคน (ประมาณ ร้อยละ 42 ของประชากรโลก) มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติรวมกันกว่า 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2544 และการค้าระหว่างประเทศกว่า ร้อยละ 69 ของไทยเป็นการค้ากับสมาชิกเอเปค ด้วยศักยภาพข้างต้น เอเปคได้กลายมาเป็นพลังผลักดันการค้าแบบเปิดและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและ วิชาการอย่างแท้จริง

 

ประชุม APEC 2022 วันไหน จัดที่ไหน

ประชุม APEC 2022 การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย.65 ที่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยประเทศไทยขับเคลื่อนวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปค ภายใต้หัวข้อ “Open. Connect. Balance.” เช่น การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน การฟื้นฟูความเชื่อมโยงโดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม 

 

สัญลักษณ์ประชุม APEC 2022

สัญลักษณ์การประชุมเอเปค คือ “ชะลอม” เครื่องจักสานของไทย ที่เป็นสัญลักษณ์ของการค้าขายมาแต่โบราณ เส้นตอกไม้ไผ่ ที่สอดประสานกันทั้งแข็งแรง และยืดหยุ่นเหนียวแน่นและคงทน ช่วยโอบอุ้มเศรษฐกิจภูมิภาค ให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยที่เน้นให้ประชาชนไทย “ตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ มีส่วนร่วม”

 

ประชุม APEC 2022 มีประเทศอะไรบ้าง

ประชุม APEC 2022 มีผู้นำและคู่สมรส ผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค จำนวน 20 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป สหรัฐอเมริกา และเวียดนามเข้าร่วม สำนักเลขาธิการเอเปค

 

ผู้สังเกตการณ์ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) สภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิก (Pacific Economic Cooperation Council - PECC) และกรอบการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Forum - PIF) รวมถึงเขตเศรษฐกิจและองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกของเจ้าภาพด้วย 

 

ประชุม APEC 2022 เรื่องอะไรบ้าง

การประชุมครั้งนี้เน้นไปที่การขับเคลื่อนเอเปคไปสู่โลกยุคหลังโควิด หัวข้อหลักของการประชุม คือ เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล (Open. Connect. Balance.) นั่นคือเปิดกว้างสู่โอกาสด้านการค้าการลงทุน เชื่อมโยงและฟื้นฟูการเดินทาง การท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน สร้างสมดุลและส่งเสริมด้านเศรษฐกิจบนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model)

 

ประชุม APEC 2022 เป็นวันหยุดไหม

รัฐบาลได้กำหนดให้ วันที่ 16-18 พ.ย.65 เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษในเขต กทม. จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร อำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้เข้าร่วมการประชุม และการรักษาความปลอดภัยผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเป็นไปด้วนยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

สถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นวันทำการตามปกติ  โดยจะขอความร่วมมือ ให้หน่วยงานที่ไม่ได้ให้บริการประชาชนหรือไม่ใช่ส่วนงานที่มีความสำคัญต่อระบบสถาบันการเงิน (critical function) หากมีการหยุดชะงักอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานเน้นการทำงานที่บ้าน (WFH)   รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง  ภาคเอกชน และกระทรวงแรงงาน ให้พิจารณาความเหมาะสม โดยไม่ให้เกิดความเสียหายต่อราชการ หรือกระทบต่อการให้บริการประชาชน

 

 

ข้อมูล https://www.apec2022.prd.go.th

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง