รีเซต

'ชลน่าน' ยันเปิดสมัยประชุมสภา 22 พ.ค. ชี้ รบ.ชุดนี้อาจไม่ได้รับความไว้วางใจบริหารงบปี'66

'ชลน่าน' ยันเปิดสมัยประชุมสภา 22 พ.ค. ชี้ รบ.ชุดนี้อาจไม่ได้รับความไว้วางใจบริหารงบปี'66
มติชน
14 เมษายน 2565 ( 17:21 )
92

ข่าววันนี้ 14 เมษายน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาตรา 151 ว่า ฝ่ายค้านยังไม่ได้มีการสรุปว่าจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อไหร่ แต่เรามีมติตั้งแต่การประชุมฝ่ายค้านนัดแรกแล้วว่าเราจะยื่นให้เร็วที่สุด ตั้งแต่เปิดสมัยประชุมและสมัยประชุมนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งคำว่าเร็วที่สุดบนพื้นฐานขอให้ไม่มีประเด็นอื่นมาเป็นปัญหา ดูสถานการณ์ว่ายื่นและได้ประโยชน์หรือไม่อย่างไร ตอนนี้จึงยังไม่สามารถกำหนดวันได้ แต่จะยื่นให้เร็วที่สุด

 

เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งอาจเป็นช่วงเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจังหวะในเรื่องการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว ฉะนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะต้องเกิดก่อน ซึ่งการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พอยื่นจะใช้เวลาในการตรวจสอบญัตติประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วบรรจุภายใน 7 วัน หากไม่มีปัญหาอะไร หลังจากการบรรจุญัตติก็จะถามไปที่คณะรัฐมนตรีว่าจะให้อภิปรายได้เมื่อไหร่ ทั้งนี้โดยรวมเวลาทั้งหมดหลังจากยื่นญัตติจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เปิดสภามาจะมีเรื่องร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รับหลักการในวันที่ 1 – 2 มิถุนายน ซึ่งเราเองอยากยื่นก่อนการพิจารณางบประมาณด้วยซ้ำ แต่เรื่องนี้เข้าก่อนตามปฏิทินของสภา ฉะนั้นเราก็ต้องดูหลังวันที่ 1 – 2 มิถุนายน ว่า การอภิปรายที่สภาเป็นอย่างไรเพื่อมาประกอบการพิจารณาการยื่น ซึ่งในขณะนี้มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลชุดนี้อาจจะไม่ได้รับความไว้วางใจให้บริหารงบประมาณประจำปี’66 แต่หากผ่านเราก็ต้องมาดูว่ามันมีประเด็นอื่นที่เรายื่นแล้วได้ประโยชน์หรือไม่ ถ้ามันมีความจำเป็นต้องยื่นเลยเพื่อไม่ให้เกิดมีการยุบสภาเราก็ยื่นหลังการงบประมาณเลย

 

อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงอย่างมากคือเรื่องของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. หรือกฎหมายลูก ว่าจะมีผลต่อกฎหมายลูกหรือไม่อย่างไร ซึ่งกฎหมายลูกที่พิจารณาอยู่ในขณะนี้คาดว่าสิ้นเมษาจะจบในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายลูก แต่ถ้ามันไม่จบก็ต้องเร่งให้จบก่อนที่จะมีการเปิดสภา จะได้สามารถเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ได้ในช่วงเปิดสภานี้ และในช่วงเดือนมิถุนายนจะมีโอกาสได้พิจารณากฎหมายลูก และถ้ากฎหมายลูกจบการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจะโล่งมาก ซึ่งเราก็จะพิจารณากันอย่างนี้

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าแล้วแนวโน้มกฎหมายลูกจะจบทันภายในเดือนนี้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เหลืออีก 2-3 สัปดาห์ที่จะประชุมกัน เราก็ต้องเร่งแต่เราตั้งเป้าหมายว่าจะให้จบภายในสิ้นเดือนเมษายน ก็อาจจะมีการเพิ่มวันประชุมอย่างในสัปดาห์หน้าตนก็ต้องประชุมทั้งในวันพุธ และพฤหัสบดี เพราะพยายามที่จะเร่ง

 

เมื่อถามว่าในขณะนี้การเตรียมข้อมูลภิปรายไม่ไว้วางใจมีติดขัดอะไรหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรามีคณะทำงานชุดเฉพาะกิจที่ดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งมี นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะทำงาน และมีตัวแทนจากทุกพรรคเข้ามานั่งปรึกษาหารือเตรียมข้อมูลเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ที่เป็นคณะเล็ก ไม่อยากให้เป็นคณะใหญ่ เนื่องจากเราเกรงข้อมูลจะรั่วไหล ซึ่งในวันที่ 26 เมษายนนี้ จะมีการนัดประชุมฝ่ายค้านทั้งหมด แล้วคณะทำงานชุดเฉพาะกิจก็จะแจ้งความก้าวหน้าว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าไม่มีติดขัดก็สามารถเขียนญัตติได้เลย หรือหากมีการปรับปรุงปรับเปลี่ยนก็ต้องทำให้เร็วที่สุดก่อนที่จะเข้าสู่เดือนพฤษภาคม หรือพูดง่ายๆในวันที่ 22 พฤษภาคม พร้อมที่จะยื่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง