รีเซต

สธ..ออกคำแนะนำตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฉบับใหม่ ใช้น้ำลายส่งตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัสได้

สธ..ออกคำแนะนำตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฉบับใหม่ ใช้น้ำลายส่งตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัสได้
TNN ช่อง16
7 มีนาคม 2565 ( 17:58 )
104

วันนี้ (7 มี.ค.65) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกแนวทางคำแนะนำการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับโรคโควิด-19 

โดยให้มีการปรับปรุงสิ่งส่งตรวจและเก็บสิ่งส่งตรวจจากทางเดินหายใจ เพื่อตรวจหาไวรัสหรือส่วนของไวรัส จากเดิมที่ตรวจหาสารพันธุกรรมที่เก็บจากการป้ายโพร่งจมูก ให้สามารถใช้น้ำลายในการตรวจหาสารพันธุกรรมได้ เนื่องจากผลของสิ่งส่งตรวจมีความใกล้เคียงกัน 

โดยสิ่งส่งตรวจที่เหมาะสมสำหรับการตรวจหาแอนติเจน คือ เป็นแบบ Professional use ที่ใช้ไม้แหย่จมูกถึงโพรงจมูก และ Home Use ที่เก็บจากโพรงจมูก หรือหากเป็นการใช้น้ำลาย ควรเป็นการตรวจหาเชื้อหลังตื่นนอนตอนเช้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดเนื่องจากมีการสะสมของเชื้อ และควรงดอาหาร

หากไม่ใช่หลังตื่นนอน ควรงดของขบเคี้ยว และเครื่องดื่มทุกชนิดก่อนการตรวจ 30-60 นาที โดยควรที่จะบ้วนน้ำลายออกมาจากส่วนลึกของลำคอ แต่ไม่ใช่เสลด

กรณีการเก็บสิ่งส่งตรวจของเด็ก ควรดูไม้และควรใช้ไม้ที่นิ่ม ขนาดส่วนปลายที่เหมาะสมสำหรับเด็ก หากเป็นไปได้แนะนำให้เก็บสิ่งส่งตรวจที่เป็นน้ำลายแทน

ส่วนจุดสำคัญของประกาศจากเดิมที่เป็นการตรวจยืนยันว่าป่วยด้วยโควิดหรือไม่ที่ใช้ RT-PCR เป็นหลัก 

แต่วันนี้มีเทคโนโลยีอื่นๆ ที่สามารถใช้ตรวจยืนยันได้ โดยต้องสามารถตรวจสอบสารพันธุกรรมขั้นต่ำได้ไม่เกิน 1,000  copies/ml แต่ต้องรวมเงื่อนไขที่ว่าจะต้องตรวจจีโนม 2 ตำแหน่งได้ด้วย 

เนื่องจากเวลาจะยืนยันว่าติดเชื้อโควิดหรือไม่นั้น หากตรวจที่ตำแหน่งเดียว แล้วเกิดไวรัสกลายพันธุ์มีโอกาสที่จะหลุดรอดออกไปได้ รวมถึงกรณีที่มีการปนเปื้อนของสารบางอย่าง ทำให้ต้องมีการตรวจยืนยัน 2 ตำแหน่ง หากพบเพียง 1 ตำแหน่ง ถือว่าไม่สามารถยืนยันได้

ขณะที่ การตรวจเชื้อโควิดยังคงยึดนโยบาย ATK First หากเป็นกลุ่มเสี่ยง มีอาการเข้าข่ายสงสัยโควิด ยังคงสามารถตรวจด้วยชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตัวเองได้ 

หากเป็นผลบวกประสานเข้าระบบ ประเมินอาการจากแพทย์ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่หรือประเมินอาการเบื้องต้นว่า ตัวเองมีโรคประจำตัวร่วมที่จะเสี่ยงอาการรุนแรงหรือไม่ หรืออาการสบายดี แข็งแรง สามารถรักษาได้แบบ OPD ผู้ป่วยนอก หรือ รักษาตัวที่บ้าน HI และ ศูนย์พักคอย CI

แต่หากมีความเสี่ยงเช่น อ้วน เบาหวาน หรือผู้สูงอายุมีโรคร่วม ให้ตรวจยืนยันด้วยวิธี NATTs หรือ วิธี RT-PCR จะเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาล หรือหากเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่ตรวจ ATK ผลเป็นลบไม่มีอาการ ให้ตรวจ ATK ทุก 3 วันหรือเมื่อมีอาการ

ทั้งนี้ การตรวจด้วย ATK หากพบผลเป็นบวก อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ทุกรายไม่จำเป็นที่จะต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ และไม่แนะนำให้ใช้วิธีการตรวจ RT-PCR ในการคัดกรองเชิงรุก เพื่อหาผู้ป่วยโควิด เนื่องจากมองว่าจะไม่เกิดความคุ้มค่า ใช้กำลังคน และค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง

โดยประเทศไทยได้มีการตรวจไปแล้วกว่า 20 ล้านตัวอย่าง หากเฉลี่ยรายละ 2,000 บาท รวมทั้งหมดอยู่ที่หมื่นล้านบาท ซึ่ง ATK ก็สามารถมาช่วยในการตรวจเชื้อโควิดได้ ส่วน RT-PCR จะใช้ตรวจก็ต่อเมื่อมีความเสี่ยงทางการแพทย์และต้องรักษาในโรงพยาบาล 

นอกจากนี้ ให้ปรับปรุงการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มที่เดินทางมา จากต่างประเทศยังคงใช้วิธี RT-PCR เป็นหลัก แต่ค่าใช้จ่ายยังคงสูง ถึงแม้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะลดราคาอยู่ที่ 900 บาท แต่หากเดินทางไปตรวจเองยังคงต้องจ่ายในราคาสูงอยู่

ดังนั้น จึงปรับให้สามารถตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธีอื่น ในการช่วยในการช่วยคัดกรองตัวอย่าง สำหรับการคัดกรองตัวอย่างจำนวนมาก แต่ยังคงต้องมีความรวดเร็วในการออกผล


เช่น การคัดกรองตามด่านระหว่างประเทศ อาจพิจารณาให้ใช้วิธีการตรวจหาแอนติเจนด้วยเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ หรือวิธีการตรวจสารพันธุกรรม NAATs  ที่สามารถตรวจตัวอย่างได้ครั้งละจำนวนมาก และใช้เวลาตรวจไม่นานโดยมีความแม่นยำสูงกว่าชุดตรวจ ATK ซึ่งสามารถพิจารณาได้ตามสถานการณ์ เนื่องจากวิธีตรวจ RT-PCR จะใช้ระยะเวลาการรอผลประมาณ 3 ชั่วโมง

และอาจพิจารณาใช้การตรวจหาแอนติเจนด้วยเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ (Machine based assay : MBA) โดย 1 เครื่องตรวจได้ 200 เทสต์ต่อชั่วโมง หรือเครื่องตรวจสารพันธุกรรมที่ตรวจตัวอย่างได้ครั้งละมากๆ และใช้เวลาตรวจไม่นานมาใช้ได้ แต่ตรงนี้ขึ้นกับฝ่ายนโยบายพิจารณาจะนำมาใช้หรือไม่




ภาพจาก แถลงข่าวกระทรวงสาธารณสุข , กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง