รีเซต

ปากีฯตัดสินโทษตาย6คน สังหารชาวศรีลังกา อ้างดูหมิ่นศาสนา

ปากีฯตัดสินโทษตาย6คน สังหารชาวศรีลังกา อ้างดูหมิ่นศาสนา
ข่าวสด
20 เมษายน 2565 ( 01:00 )
38
ปากีฯตัดสินโทษตาย6คน สังหารชาวศรีลังกา อ้างดูหมิ่นศาสนา

วันที่ 18 เม.ย. บีบีซี รายงานว่า ปากีสถานตัดสินประหารชีวิตชาย 6 คน ที่เข้าร่วมในม็อบศาลเตี้ย สังหารนายปริยันธา ดียาวาดานาเก ชาวศรีลังกา อายุ 48 ปี ผู้จัดการโรงงานในเมืองซิอัลโกต แคว้นปัญจาบ ทางตะวันออกของปากีสถาน และจุดไฟเผาศพเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว เนื่องจากกล่าวหาว่านายดียาวาดานาเกมีพฤติกรรมดูหมิ่นศาสนา

จำนวนผู้ถูกตัดสินมีความผิดดังกล่าวมีทั้งหมด 88 คน ในจำนวนนี้ 9 คน ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และที่เหลือจำคุกคนละ 2 ถึง 5 ปี คดีดังกล่าวสะเทือนไปทั่วปากีสถาน และนายอิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ระบุว่าคดีดังกล่าวเป็นวันแห่งความอัปยศอดสู

วิดีโอศาลเตี้ยที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์เผยฝูงชนโกรธแค้นลากนายดียาดานาเกาจากที่ทำงานและทุบตีเขาถึงแก่ความตายก่อนจุดไฟเผา โดยหลายคนในฝูงชนถ่ายภาพเซลฟี่กับศพ ขณะที่น.ส.นีลูชี ดิสสานายาคา บรรยายที่เห็นสามีถูกทุบตีบนโลกออนไลน์เป็นการกระทำไร้ความเป็นคนอย่างยิ่ง

 

เหตุการณ์ความรุนแรงของศาลเตี้ยปะทุขึ้นหลังข่าวลือแพร่สะพัดว่า นายดียาวาดานามีพฤติกรรมดูหมิ่นศาสนา ด้วยการฉีกโปสเตอร์ที่มีชื่อศาสดามูฮัมหมัด แต่เพื่อนร่วมงานที่รุดไปจุดเกิดเหตุเพื่อพยายามช่วยเหลือผู้ตาย บอกสื่อท้องถิ่นในเวลานั้นว่า นายดียาวาดานาเกเพียงแกะโปสเตอร์มูฮัมหมัดออก เนื่องจากอาคารดังกล่าวจะมีการทำความสะอาด

ความรุนแรงการสังหารอย่างโหดเหี้ยมของฝูงชนหลายร้อยที่เกี่ยวข้องกับศาลเตี้ยสร้างความสะเทือนไปทั่วประเทศและเกิดการรวมตัวกันอาลัยผู้ตาย แม้แต่นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน ในเวลานั้น ยังกล่าวว่า คดีดังกล่าวเป็นวันแห่งความอัปยศอดสูของปากีสถาน

 

ทั้งนี้ ความผิดดูหมิ่นหมายถึงการพูดอย่างดูถูกเกี่ยวกับศาสนาหรือพระเจ้า และในปากีสถานอาจมีโทษประหารชีวิตสำหรับผู้ดูหมิ่นอิสลาม กฎหมายดังกล่าวห้ามก่อกวนการชุมนุมทางศาสนา บุกรุกพื้นที่ฝังศพ ดูหมิ่นความเชื่อทางศาสนา หรือจงใจทำลายหรือทำให้สถานที่หรือวัตถุบูชามีมลทิน

นอกจากนี้ การแสดงความเห็นเสื่อมเสียต่อผู้นับถืออิสลามถือเป็นความผิด และในปี 2523 มีการเพิ่มบทบัญญัติโทษจำคุกตลอดชีวิตสำหรับการจงใจดูหมิ่นอัลกุรอานที่อย่าง ต่อมาในปี 2529 มีการเพิ่มบทบัญญัติแยกต่างหากเพื่อลงโทษผู้ดูหมิ่นมูฮัมหมัดและบทลงโทษคือตายหรือจำคุกตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม ในปากีสถาน แม้แต่ข้อกล่าวหาไร้มูล สามารถปลุกระดมให้ประชาชนประท้วงและใช้ความรุนแรงกับผู้ถูกกล่าวหา และนักสิทธิมนุษยชนระบุมาตลอดว่า ชนกลุ่มน้อยมักตกเป็นเป้าของข้อกล่าวหา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง