รีเซต

ชี้ช่องส่งออก“สินค้าวัตถุดิบอาหาร”เจาะอินเดีย หลังรัฐบาลลดภาษีนำเข้าเพื่อสู้ของแพง

ชี้ช่องส่งออก“สินค้าวัตถุดิบอาหาร”เจาะอินเดีย หลังรัฐบาลลดภาษีนำเข้าเพื่อสู้ของแพง
มติชน
9 มีนาคม 2565 ( 14:54 )
34

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมฯ ติดตามโอกาสทางการค้าของไทยในประเทศต่าง ๆ และกรมฯ ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ถึงโอกาสในการส่งออกสินค้ากลุ่มวัตถุดิบอาหารเข้าสู่ตลาดอินเดีย หลังจากที่ปัจจุบันอินเดียเผชิญกับสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสถิติของอินเดีย ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของอินเดียในเดือนม.ค.2565 เพิ่มขึ้น 6.01% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า และสูงกว่า CPI ในเดือนธ.ค.2564 ซึ่งอยู่ที่ 5.66% และมีข้อมูลจากผู้ผลิตรายใหญ่ในอินเดีย เช่น Nestlé India , ITC , HUL , Dabur and Britannia พบว่าสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาเพิ่มขึ้น 4–20% อาทิ ชา กาแฟ บิสคิต ช็อคโกแลต บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องสำอาง และของใช้ในบ้าน ขณะที่สินค้าวัตถุดิบก็มีราคาเพิ่มขึ้นด้วย โดยดัชนีราคาค้าส่ง (WPI) ในเดือนม.ค.2565 มีระดับสูงถึง 12.96% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

นายภูสิต กล่าวว่า ทูตพาณิชย์มุมไบ ยังได้รายงานอีกว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้นในบางรายการสะท้อนถึงโอกาสของสินค้าไทยที่อาจส่งออกไปอินเดียได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่อินเดียมีแผนจะลดภาษีนำเข้าตั้งแต่เดือนพ.ค.2565 เป็นต้นไป และเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารในอินเดีย เช่น น้ำมันปาล์มดิบที่ลดจาก 7.5% เหลือ 5% ถั่วพิสตาชิโอลดจาก 30% เหลือ 10% อินทผลัมจาก 30% เหลือ 20% ส้มและมะนาว จาก 40% เหลือ 30% เม็ดมะม่วงหิมพานต์ จาก 30% เหลือ 2.5% และ บิสคิตและเวเฟอร์ จาก 45% เหลือ 30% นอกจากนี้ ราคาของกาแฟที่แพงขึ้น อาจเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกเพื่อทำตลาดระดับบนในช่วงนี้ด้วย

 

นอกจากนี้ ในการทำตลาดในอินเดีย ผู้ผลิตและผู้ส่งออก สามารถสำรวจราคาของคู่แข่งในตลาดอินเดียผ่านแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ได้ เช่น amazon.in โดยดูจากราคาสูงสุดสำหรับการขายปลีก (MRP) ที่ระบุไว้ที่ฉลาก ซึ่งเป็นราคาที่ครอบคลุมถึงค่าบรรจุภัณฑ์และค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมตลาด ส่วนต่างกำไรของผู้ผลิต (ประมาณ 20%) ค่าขนส่งและจัดเก็บ (ประมาณ 6%) ส่วนต่างกำไรของตัวแทนจำหน่าย/กระจายสินค้า (Stockist Margin ประมาณ 10%) รวมถึงส่วนต่างกำไรที่ร้านค้าส่งและค่าปลีก (ประมาณ 20%) เพื่อประเมินในเบื้องต้นว่าราคาของสินค้าไทยเมื่อรวมค่าขนส่ง ภาษีนำเข้า และภาษี GST แล้ว จะสามารถแข่งขันกับรายอื่นได้หรือไม่ เนื่องจากคนอินเดียส่วนใหญ่มีความอ่อนไหวในราคา รวมทั้งนำไปวางแผนปรับต้นทุนสินค้าเพื่อเข้าสู่ตลาดอินเดีย

 

คอมเม้นท์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง