รีเซต

มองอาการ 'ไทยดิ่ง' เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์พิษ 'ค้ามนุษย์'

มองอาการ 'ไทยดิ่ง' เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์พิษ 'ค้ามนุษย์'
มติชน
7 กรกฎาคม 2564 ( 07:02 )
54
มองอาการ 'ไทยดิ่ง' เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์พิษ 'ค้ามนุษย์'

 

กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง สำหรับปมปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานข้ามชาติ เมื่อกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานการติดตามและการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons Report-ทิปรีพอร์ต ประจำปี 2021 โดยไทยแลนด์ถูกลดระดับ จากเทียร์ 2 เมื่อปีที่แล้ว สู่เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ พูดง่ายๆ ว่า ถูกแปะป้ายประเทศที่ต้องจับตามอง

 

 

รายงานดังกล่าวระบุว่า รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงความพยายามมากพอ เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แม้จะนำข้อจำกัดในเรื่องโควิด-19 เข้ามาพิจารณาแล้วก็ตาม โดยเห็นได้ชัดว่ามีการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ค้ามนุษย์น้อยลง ดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยน้อยลง และลงโทษผู้กระทำผิดน้อยลง รายงานตัวเลขการค้าแรงงานข้ามชาติต่ำกว่าขอบเขตของปัญหา

 

 

หน่วยงานรัฐหลายแห่งไม่เคยรายงานว่าพบเหยื่อการค้าแรงงานเลย แม้จะมีการตรวจสอบเรือประมงหลายลำที่ท่าเรือหลายแห่งของไทย

 

 

ขณะที่บริการของรัฐที่จัดเตรียมให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อก็ยังไม่เพียงพอ ส่วนเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ต้องอาศัยอยู่ในสถานที่พักพิงของรัฐก็ถูกจำกัดการเดินทางและการสื่อสาร

 

 

ร้อนถึงกระทรวงการต่างประเทศต้องออกมายืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ซึ่งเป็น ‘วาระแห่งชาติ’

 

 

ธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แถลงว่ารู้สึกผิดหวัง ที่การจัดระดับไม่ได้สะท้อน ‘อย่างเป็นธรรม’ ถึงความพยายามและพัฒนาการความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นด้านการดำเนินคดี มีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้เวลาน้อยลง

 

 


การพิจารณาคดีกว่าร้อยละ 90 เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 1 ปี การลงโทษผู้กระทำผิดมีอัตราโทษสูงขึ้น โดยมีจำนวนผู้ได้รับโทษจำคุก 5 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 67 ของผู้กระทำผิดที่ได้รับโทษจำคุกทั้งหมด ให้ความสำคัญกับการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด และการปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบใหม่ทางออนไลน์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้น

 

 

โฆษก กต.ยังไม่ลืมที่จะบอกว่า ทิปรีพอร์ตเป็นการประเมินและจัดระดับประเทศต่างๆ จากมุมมองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศแต่อย่างใด

 

 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญการเมืองสหรัฐ และกฎหมายระหว่างประเทศอย่าง ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า สหรัฐอเมริกาไม่ได้ดูว่าความพยายามของเราคืออะไร แต่พิจารณาว่าความพยายามนำมาสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหรือไม่ ถ้าความพยายามมีมาก แต่ผลลัพธ์ไม่เกิด ก็ถือว่าไม่สำเร็จ

 

 

“ปัญหา คือ ประเทศไทยยังมีลักษณะการแก้ปัญหาที่คั่งค้าง ซึ่งสหรัฐอเมริกายังมองว่าเรายังปรับปรุงปัญหาไม่สำเร็จ กระบวนการเฝ้าจับตาดูจากสหรัฐ มีอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว และเขาก็ดูว่ารัฐบาลไทยจริงจังแค่ไหน ภายนอกที่แสดงออกมามันยังไม่จริงจังพอสมควร แม้ว่ารัฐบาลไทยจะบอกว่าจริงจังแล้ว แต่การจริงจังนั้นไม่ได้เป็นผลลัพธ์ที่จริงจัง แม้เราจะบอกว่าพยายามทำนู่นทำนี่แล้วก็ตาม แต่สหรัฐจะดูว่าความพยายามของรัฐบาลไทยก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามที่เขาคาดหวังไว้หรือไม่ ถ้าความพยายามมีมากแล้วแต่ผลลัพธ์ไม่เกิดเขาก็ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่รัฐบาลไทยก็ยังระบุว่าต้องให้เครดิตความพยายามสิ ซึ่งตรงนี้มันคือการมองภาพรวมของการทำงานที่ไม่ตรงกัน” ผศ.ดร.วิบูลพงศ์วิเคราะห์

 

 


ถามว่า รายงานที่ออกมา คำว่า ‘การเมือง’ มีเอี่ยวหรือไม่ นักวิชาการท่านเดียวกันนี้ ให้คำตอบว่า การจัดอันดับนี้อาจจะมีมรดกมาจากสมัย ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เพราะเป็นยุคที่แบ่งอย่างชัดเจนว่า ถ้าเอาจีน ต้องไม่เอาสหรัฐอเมริกา และเมื่อมาถึงยุค ‘โจ ไบเดน’ ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ เพราะก็ประกาศเช่นกันว่า จีนเป็นศัตรูสำคัญของสหรัฐอเมริกาในยุคนี้ ไม่ว่าจะเรื่องการค้า เศรษฐกิจ การทหาร และเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ถูกมองได้ว่า การทำงานของรัฐบาลไทยซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับจีนอยู่นั้น แม้ทางการไทยจะอธิบายว่าพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์แล้ว แต่ทางสหรัฐอเมริกาก็ยังมองว่าผลลัพธ์ไม่เกิด
ด้าน พัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ออกมาโต้ พร้อมกล่าวว่า การลดระดับไทยให้อยู่ในเทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ เป็นสิ่งที่รับไม่ได้

 

 

 

“ผลงานเราเยอะ ไม่ใช่ลดลง อย่างที่เขาติว่าคดีสอบสวนค้ามนุษย์ คดีผู้ต้องสงสัยลดลงก็ในสถานการณ์โควิด ก็ต้องน้อยอยู่แล้ว เพราะเราปิดพรมแดนทุกด้าน ทำให้คนลักลอบเข้ามาลดลง ฉะนั้น ยอมรับไม่ได้ ส่วนการไม่ให้อิสระผู้ถูกคุ้มครองสามารถออกจากสถานคุ้มครองได้นั้น ก็อย่างที่บอกว่าในช่วงโควิด การออกไปข้างนอกไม่ปลอดภัย จริงๆ ก่อนให้เข้าไป เราให้เลือกก่อนด้วยซ้ำว่าอยากอยู่ในสถานคุ้มครองไหน ขนาดใด รัฐหรือเอกชน แต่กลับถูกนำเรื่องนี้มาโจมตี ส่วนกรณีที่ถูกต่อว่ามาทุกปี อย่างเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วน เราก็รายงานว่าถูกดำเนินคดีไปถึงไหนแล้ว รวมถึงจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาระยะเวลาฟื้นฟูผู้เสียหายระดับชาติ โดยลดกระบวนการทางคดีน้อยลงเกินครึ่ง อย่างคดีใช้เวลา 1 ปี ลดเหลือ 6 เดือน ผ่านการสอบคดีทางระบบซูม” ปลัด พม.อธิบาย

 

 

จากมุมมองภาครัฐ มาคุยกับคนทำงานภาคสนาม อย่าง สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ที่บอกว่า “ก็ต้องเป็นไปแบบที่สหรัฐลดเทียร์ลงมา เพราะการแก้ปัญหาไม่เกิดขึ้นจริง”

 

 

ก่อนยกตัวอย่างประเด็น อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 (C188) ที่บังคับใช้แล้ว แต่คนงาน หรือลูกเรือประมง ยังไม่ได้รับสิทธิเท่าที่ควร เช่น เงินเดือนที่ต้องรับผ่านตู้ ATM แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ถือบัตร หรือเงินไม่ถูกโอนเข้า ไปจนถึงเรื่องเอกสารติดตัวที่คนงานส่วนมากไม่มี และรู้เรื่องสัญญาจ้างน้อยมาก

 

 

“เวลารัฐพูดอะไรออกมาเหมือนกับว่า ให้พ้นจากปากประชาคมโลก แต่ไม่ได้ลงพื้นที่ติดตามดูว่าเมื่อประกาศใช้แล้ว คนงานอยู่ได้ดีเหมือนที่กฎหมายเขียนไว้ดีหรือไม่” สุธาสินีกล่าว พร้อมลงลึกสาเหตุประการหนึ่งว่า รัฐบาลไทยไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น
อย่างจริงจัง

 

 

“เมื่อมีเงินเข้ามา ก็มีการคอร์รัปชั่น เอื้อประโยชน์ไปหมด จนทำลายการปราบปรามค้ามนุษย์ แม้กระทั่งกฎหมายที่มีก็ไม่ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง ทุกวันนี้ยังคิดแค่ว่า เขาข้ามชายแดนเอาโควิดมาให้ แต่ไม่ได้คิดว่า ใครไปหลอกลวงเอาเขามา ทำไมเขากล้าเสี่ยง ทั้งที่ประเทศไทยไม่ได้เปิดให้นำแรงงานเข้ามา แล้วทำไมถึงมาได้ ก็ต้องมีการชักชวน หลอกลวงมา แล้วก็เอามาทิ้ง เงินก็เรียกเก็บ ไม่ได้ชวนมาฟรีๆ แถมจ่ายมากกว่ามาแบบปกติ แทบจะเรียกว่าค้ามนุษย์อยู่แล้ว” สุธาสินีเผย พร้อมย้ำว่า แนวทางแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในตอนนี้คือ รัฐบาลไม่ควรคิดเองอยู่ฝ่ายเดียว

 

 

“ยังมีอีกหลายองค์กร หน่วยงาน ที่ทำงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ เวลาคิดแผนพัฒนา หรือนโยบาย ควรมีแนวคิดของคนอื่นเข้ามาร่วมหาทางออกด้วย ไม่อย่างนั้น ก็เกาไม่ถูกที่คันสักที” สุธาสินีทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง