รีเซต

จับตา “พายุคมปาซุ” พายุเข้าไทยลูกใหม่ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไทยเจอพายุ 3 ลูก

จับตา “พายุคมปาซุ” พายุเข้าไทยลูกใหม่ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไทยเจอพายุ 3 ลูก
Ingonn
12 ตุลาคม 2564 ( 12:17 )
4.9K

เนื่องจากสถานการณ์ฝนตก น้ำท่วมยังไม่คลี่คลาย แต่ประเทศไทยเตรียมมีพายุเข้าต่อเนื่อง ตั้งแต่พายุ "ไลออนร็อก" เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จนล่าสุดได้มีพายุเข้าไทยลูกใหม่ "คมปาซุ" ที่ก่อตัวบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ และคาดว่ามีอิทธิพลให้เกิดฝนตกหนักกว่า "ไลออนร็อก"  และจ่อเป็นพายุเข้าไทย วันที่ 14 ตุลาคมนี้

 

 

รู้จักพายุโซนร้อน “คมปาซุ”

  • พายุโซนร้อนคมปาซุ หรือ KOMPASU (2118) แปลว่า กลุ่มดาววงเวียน พายุนี้ตั้งชื่อโดยประเทศญี่ปุ่น
  • พายุโซนร้อน “คมปาซุ” ซึ่งพายุลูกนี้ยังอยู่ที่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก หรือทางด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปินส์
  • พายุโซนร้อนกำลังแรง “คมปาซุ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 19.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 120.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

 

เส้นทางพายุ “คมปาซุ”

วันที่ 12 ตุลาคม พายุลูกนี้จะเคลื่อนเข้าสู่ทะเลจีนใต้ จะเริ่มแรงขึ้น ด้วยความเร็วลม 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

วันที่ 13 ตุลาคม พายุคมปาซุ จะเข้าเกาะไหหลำ และเมื่อขึ้นฝั่งที่ไหหลำ ความเร็วลมจะลดลงเหลือ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่มีคำเตือนอันตราย ความรุนแรงของพายุลูกนี้ เมื่อขึ้นฝั่ง จะมีความรุนแรงกินพื้นที่รัศมีมากถึง 190 กิโลเมตร

 

วันที่ 14 ตุลาคม คาดการณ์ว่า พายุลูกนี้จะเคลื่อนไปยังประเทศเวียดนามตอนบน โดยความเร็วลมยังเท่าเดิมคือ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อพายุมาถึงเวียดนาม จะเริ่มส่งผลกระทบกับประเทศไทยในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน และภาคเหนือ

 

วันที่ 15 ตุลาคม พายุลูกนี้จะเคลื่อนเข้าประเทศไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบทั่วไทย ก่อนที่พายุจะสลายตัว

 

 

พายุเข้าไทย 3 ลูก

“พายุไลออนร็อก” เป็นพายุลูกที่17 ของปีนี้ มีผลต่อประเทศไทย จะทำให้ วันที่ 10 -12 ตุลาคม มีฝนตกปานกลางถึงหนัก ในพื้นที่จังหวัดนครพนม สกลนคร บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และ มีฝนตกปานกลาง ในพื้นที่ภาคอิสาน ทั้งภาค และมีฝนตกหนักเป็นหย่อมๆ กระจายตัวอยู่ทั้งภาคอิสานด้วย

 

“พายุคมปาซุ” ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นพายุลูกที่ 18 ของปีนี้  มีโอกาสที่จะทำให้วันที่ 13- 15 ตุลาคม อาจจะมีฝนตกปานกลางกระจายตัว โดยมีฝนตกหนักกระจายตัวอยู่ ในพื้นที่ภาคอิสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก (กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์)


“พายุน้ำเทิน” ซึ่งก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกตามมา จากภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า อยู่ห่างมากและคาดว่า จะเคลื่อนตัวไปทิศทางอื่น ไม่ได้เข้าสู่ประเทศไทย

 

อิทธิพลพายุโซนร้อน “คมปาซุ” จะส่งผลให้ไทยมีฝนมากกว่าพายุดีเปรสชัน “ไลออนร็อก” ส่วนพายุโซนร้อน “น้ำเทิน” ซึ่งเกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกอีกลูก อยู่ห่างมากและคาดเคลื่อนที่ไปทิศทางอื่น

 

 

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อพายุ 3 ลูกเข้าไทย

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า พายุ 3 ลูกกำลังมา อะไรจะเกิดขึ้น ? ผมกับทีมงานลงพื้นที่น้ำท่วมภาคกลางมาตลอด  2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ระยะนี้แนวโน้มปริมาณน้ำเหนืออาจจะจะลดลง ผมค้นพบพฤติกรรมน้ำหลากที่น่าสนใจ กล่าวคือ ปริมาณน้ำเหนือในปีนี้แม้ว่าจะน้อยกว่าปี 2554 (เนื่องจากปริมาณฝนสะสมในภาคเหนือน้อยกว่าประมาณ 20%) แต่ระดับน้ำในหลายพื้นที่ยกระดับสูงขึ้นใกล้เคียงกัน หรือมากกว่า อยู่ในระดับอันตรายโดยดัชนีควาเข้มน้ำท่วม  (Flood intensity) เป็นไปตาม “ทฤษฎีน้ำล้นแก้ว” ซึ่งเกิดจากการยกระดับถนน และมีการก่อสร้างคันกั้นน้ำ การถมดินสิ่งก่อสร้างต่างๆ การบีบแม่น้ำ ลำคลองหลายสาย การแย่งที่น้ำอยู่ แต่ละเลยการประเมินความเสี่ยง และความรุนแรงของพฤติกรรมน้ำหลากในลุ่มน้ำ เมื่อระดับน้ำถูกยกให้สูงขึ้น จึงมีแรงดันสูงขึ้น ส่งผลให้คันกั้นน้ำแตกเกิดปรากฏการณ์ “Domino effect”  (อ.ไชโย อ.ปากโมก ต.โผงเผง จ.อ่างทอง อ.บางบาล ระดับน้ำสูงบริเวณเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น) เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชน และระหว่างชุมชนด้วยกันเอง  

 

จะเกิดอะไรขึ้นจากพายุ 3 ลูกนี้ (Lionrock, Kompasu, Low pressure/Depression) ผมได้ประเมินภาพรวมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่าจะมีปริมาณฝนสะสมเพิ่มขึ้นประมาณ 150-200 มม (ตั้งแต่วันที่ 11-18 ตุลาคม) ซึ่งจะส่งผลให้มีระดับน้ำสูงขึ้น < 0.50 m ความเสี่ยงจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (ที่มีน้ำเต็มเขื่อน) อาจต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้น ดังนั้นชุมชนที่อยู่ริมน้ำ หรือที่ท่วมอยู่แล้วจึงต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ใน จ.อ่างทอง จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี (ดูเฉดสีส้ม) แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อคันกั้นน้ำพื้นที่ กทม.(แต่ควรระวังน้ำท่วมรอการระบาย)

 

พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบสูงสุด ที่ปริมาณฝนสะสมอาจจะเพิ่มมากกว่า 200 มม. เป็นพื้นที่ภาคตะวันออกฉียงเหนือ (ตอนบน ตอนกลาง และตอนล่างประมาณวันที่ 13-18 ต.ค.) ภาคตะวันออก (ตลอดทั้งสัปดาห์ 10-18 ต.ค.) ภาคใต้ฝั่งตะวันตก (ตลอดทั้งสัปดาห์ 10-18 ต.ค.) อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และขนาดกลางหลายอ่างฯ ที่มีความจุใกล้เต็ม คันกั้นน้ำที่มีความเปราะบางหลายจุด จึงควรต้องเฝ้าระวัง สูงสุด !!! สัปดาห์หน้าทั้งสัปดาห์มีฝนตกหนักหลายพื้นที่น่ะครับ วางแผนการเดินทางด้วยครับ ผมไม่มีเวลาประเมินรายพื้นที่ แต่ถ้าพื้นที่ใดซึ่งมีความเสี่ยงสูงจะพยายามเรียนให้ทราบทันทีครับ อนึ่งยังไม่หมดฤดูพายุ โปรดติดตามตอนต่อไปน่ะครับ ?

 

 

 

อย่างไรก็ตามประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

ข้อมูลจาก กรมอุตุนิยมวิทยา , เพจเฟซบุ๊ก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง