รีเซต

กลใหม่มิจฉาชีพ เนียนกว่าเดิม 'ไม่โอนไม่เป็นไร' ส่งลิงก์กดตรวจสอบคดี ดูดเงินเกลี้ยงบัญชี

กลใหม่มิจฉาชีพ เนียนกว่าเดิม 'ไม่โอนไม่เป็นไร' ส่งลิงก์กดตรวจสอบคดี ดูดเงินเกลี้ยงบัญชี
มติชน
4 มิถุนายน 2565 ( 16:49 )
466
กลใหม่มิจฉาชีพ เนียนกว่าเดิม 'ไม่โอนไม่เป็นไร' ส่งลิงก์กดตรวจสอบคดี ดูดเงินเกลี้ยงบัญชี

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 มิถุนายน นายสาธิต อายุ 27 ปี ชาวกำแพงเพชร ร้องเรียนว่าถูกแก๊งคอลเช็นเตอร์ใช้กลลวงหลอกโอนเงิน ซึ่งผู้เสียหายยืนยันไม่ได้มีการโอนเงินจากแอพธนาคารหรือตู้ ATM แต่อย่างใด อยู่ๆ เงินก็หายจากบัญชีไปกว่า 6,100 บาท โดยมิจฉาชีพใช้กลลวงว่าผู้เสียหายได้ส่งพัสดุผิดกฎหมาย และมีประวัติฟอกเงินคดียาเสพติด จำนวน 9 ล้านบาท โดยได้โทรมาพูดคุยขอตรวจสอบบัญชี หากผู้เสียหายไม่โอนเงินให้ตรวจสอบก็ไม่เป็นไร ขอให้แอดไลน์พูดคุยพร้อมส่งลิงก์เว็บไชต์ https://66web.0581068.com/aqljxz.html เพื่อให้กรอกข้อมูลเพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน

ทั้งนี้หลังจากที่ยอดเงินหายไป ผู้เสียหายได้ไลน์ไปสอบถามว่าเงินหายไปไหน ผู้อ้างว่าเป็นผู้กำกับฯ ระบุว่า เป็นขั้นตอนในการตรวจสอบ “คุณไม่โอน ผมเลยโอนเอง” ทั้งยังอ้างว่าเป็นเพียงขั้นตอนการตรวจสอบ หลังตรวจสอบจนเสร็จสิ้นคดีก็จะโอนคืนเอง 

โดยรายละเอียดทั้งหมดมีดังนี้

ผู้เสียหาย เล่าว่า แก๊งคอลเช็นเตอร์ ใช้เบอร์ 095-3621315 อ้างว่าโทรมาจาก ไปรษณีย์ไทย บอกว่าตนเองส่งพัสดุวันที่ 28 พ.ค.65 เวลา 13.50 น. (ทั้งที่ไม่ได้ส่ง) อ้างว่าผู้เสียหายใช้ที่อยู่จัดส่ง โดยมีผู้รับพัสดุปลายทางชื่อ “นายลี” ชาวอำเภอแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีหมายเลขอ้างอิงคัดแยก 490897 โดยมิจฉาชีพบอกว่า ของที่ส่งเป็นพาสปอร์ตของชาวเมียนมาร์ จำนวน 12 เล่ม มี ATM จำนวน 9 ใบ สมุดบัญชี จำนวน 9 เล่ม ( 3 ใน 9 เล่ม มีสมุดบัญชีของตนเองซ่อนอยู่ในเสื้อผ้า 10 ชุด) โดยมีรายชื่อผู้แจ้งข้อมูลให้ตรวจสอบคือ นายวุฒิชัย เจ้าหน้าที่หน่วยงานจัดแจ้งพัสดุ 028313550 ที่อยู่หลัก 4 กทม. โดยมิจฉาชีพบอกให้จดข้อมูลนี้ไปแจ้งตำรวจที่จะโอนสายมาพูดคุยด้วย

 

โดยจากนั้นมิจฉาชีพที่อ้างว่าเป็นตำรวจ ได้โทรมาพูดคุยขอแอด LINE ผู้เสียหาย โดยใช้ชื่อ “สภ.แหลมฉบัง” และบอกให้ผู้เสียหายบันทึกภาพหน้าจอจำนวนเงินในแอพพ์ธนาคารที่ตนเองมี จำนวน 6,112.97 บาท ส่งให้ทางไลน์ ซึ่งในระหว่างการสนทนามิจฉาชีพก็ทำทีใช้วิทยุสื่อสารกับตำรวจ และบอกว่าผู้เสียหายนั้นยังมีคดีฟอกเงินกับยาเสพติดด้วย ระหว่างนั้นผู้เสียหายก็ปฎิเสธ ซึ่งมิจฉาชีพก็อ้างอีกว่าหากปฎิเสธให้คุยกับผู้กำกับ สภ.แหลมฉบัง

ผู้เสียหายจึงได้แอดไลน์คุยกัน จากนั้นบอกให้ผู้เสียหายโอนเงินไปบัญชีกลางของตำรวจ ผู้เสียหายเริ่มเอะใจกลัวเป็นมิจฉาชีพเลยปฎิเสธ หลังจากนั้นมิจฉาชีพอ้างถ้าไม่โอนเงิน มีอีกวิธีที่จะสามารถตรวจสอบได้ โดยให้ตนเองถ่ายรูปบัตรประชาชนส่งไปในไลน์เพื่อใช้ข้อมูลจากบัตรประชาชนตรวจสอบ โดยผู้เสียหายก็ได้ถ่ายบัตรประชาชน และรูปหน้าตรงปัจจุบันส่งไปให้ และได้บอกให้กดลิงก์เว็บไชต์ที่ส่งให้อ้างว่าเป็นเว็บของกรมบัญชีกลาง และให้กดที่โลโก้ตำรวจ เมื่อกดไปก็ให้กรอกข้อมูลตามหัวข้อต่างๆ

หลังจากนั้นมิจฉาชีพก็อ้างว่าไม่มีการโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหายแน่นอน ซึ่งผู้เสียหายก็ได้กรอกรหัสทุกอย่างตามแบบฟอร์มในเว็ปไชต์พร้อมยืนยัน ซึ่งในระหว่างทำการกรอกข้อมูลทั้งหมดก็คุยสายกับมิจฉาชีพตลอด (รวมเวลาเกือบกว่า 2 ชั่วโมง) โดย 1.30 ช่วงโมงแรกคุยแต่เรื่องคดี และครึ่งช่วงโมงสุดท้ายคุยเรื่องเงินในบัญชีจนวางสาย ผู้เสียหายเอะใจเลยเข้าไปในแอพพ์ธนาคาร พบว่าเงินในบัญชีหายไป 6,100 บาท เหลือติดบัญชีแค่ 12.97 บาท

ผู้เสียหาย ได้โทรกลับไปที่ไลน์ของวิชาชีพ เพื่อสอบถามว่าเงินบัญชีตนเองหายไปได้ไง ปลายสายทำท่าทีตกใจ และพูดว่าเกิดขึ้นได้ยังไงทางเราไม่ได้โอนออกนะ เดี่ยวจะตรวจสอบให้ จากนั้นก็วางสายไป ผู้เสียหายก็ได้แช็ตพูดคุยทางไลน์ โดยมิจฉาชีพอ้างว่า ก็ผู้เสียหายไม่ยอมโอน เลยจัดการโอนเงินเองเลย ผู้เสียหายถึงรู้ว่าโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเข้าแล้ว จึงรีบนำเรื่องนี้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.คลองขลุง ทันทีเพื่อดำเนินคดี

นายสาธิต อายุ 27 ปี ซึ่งเป็นผู้เสียหาย เล่าว่า ตนเอะใจตั้งแต่แรกแล้วว่าเป็นมิจฉาชีพ แต่กลอุบายในการหลอกครั้งนี้มันทำให้เชื่อได้ว่าจะเป็นเรื่องจริง ยิ่งบอกว่าหากไม่โอนเงินก็สามารถตรวจสอบได้ถึงความบริสุทธิ์ของตน ทำให้ตนเชื่อสนิทใจว่าเป็นเรื่องจริง ทั้งเว็บไชต์ และเสียงการสนทนาทั้งหมดมันเหมือนจริงหมด และสุดท้ายตนเองก็ถูกโอนเงินออกไปจากบัญชีธนาคารทั้งๆที่ไม่ได้โอนจากแอพและ ATM แต่อย่างใด ซึ่งนับว่าถือเป็นวิธีการหลอกลวงที่อันตรายมาก เลยนำเรื่องนี้ไปแจ้งความและร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวให้นำเสนอเป็นอุทาหรณ์เตือนภัยสังคม พร้อมกับขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยเร่งติดตามคดีนี้ให้ตนเองด้วย โดยตำรวจก็ฝากเตือนประชาชนให้ระวังแก๊งคอลเช็นเตอร์ที่หากลโกงแบบต่างๆมาหลอกประชาชนให้ตกเป็นเหยื่ออยู่บ่อยครั้ง ห้ามคุย ห้ามทำอะไรทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นอาจตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพก็ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง