จุดยืนพรรคร่วม แก้รธน.ไม่แตะม.112 -พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
TNN ช่อง16
22 ตุลาคม 2567 ( 11:30 )
11
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยจุดยืนต่อรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมว่า ต้องไปดูที่สภาฯ ซึ่งเมื่อวานนี้นายกรัฐมนตรีได้ตอบไปแล้ว ไม่ต้องถามซ้ำ โดยนายกรัฐมนตรีบอกว่า ทุกพรรคเห็นเหมือนกัน คือไม่เอามาตรา 112 เพราะเป็นเงื่อนไขในการตั้งรัฐบาล ซึ่งเมื่อวานได้รับประทานอาหารร่วมพรรคร่วม ถือว่า ได้พูดคุยกัน อะไรที่เป็นวิธีทำงานที่ทุกคนร่วมมือกันได้ก็ทำกัน ส่วนฝ่ายสภาฯ ก็มีวิปดูแล ที่ต้องดำเนินการในกฎหมายแต่ละฉบับ ซึ่งจะเห็นเหมือนหรือเห็นต่างก็มาว่ากันในรายละเอียด เพราะฉะนั้น 2 อำนาจนี้ได้แยกกันชัดเจน
ขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยถึงงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลค่ำวานนี้ ได้พูดถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยหลังจากนี้ก็จะมีการพูดคุยกันโดยตรงสองต่อสอง และการหารือภารกิจของแต่ละกระทรวง ซึ่งการเสนองานของแต่ละกระทรวงกว่า จะถึงนายกรัฐมนตรีมีความล่าช้า ดังนั้นการพูดคุยกันบ่อยขึ้นจะได้เป็นการสนับสนุนงานซึ่งกันและกัน
พร้อมยอมรับว่าในที่ประชุมได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องนิรโทษกรรม แต่บอกว่าเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติและงานของสภา แต่ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนามีท่าทีชัดเจนว่าจะไม่รวมผู้ที่มีคดีในมาตรา 112 ไม่รวมเรื่องของการทุจริต ซึ่งถือเป็นจุดยืนของพรรคมาแต่แรก ทุกพรรคจะมีแนวทางคล้ายคลึงกัน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติของสภาจะมีแนวทางอย่างไร
ส่วนท่าทีพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรคและสส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุถือเป็นข้อสรุปที่ชัดเจน หลังจากที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำรัฐบาล ได้ร่วมพูดคุยรับประทานอาหารค่ำกับหัวหน้าพรรคร่วมทุกพรรคเมื่อค่ำวานนี้ ) โดยนายกฯพูดชัดเจน เรื่องประเด็นการนิรโทษกรรม ไม่แตะมาตรา 112 รวมถึงหากจะแก้รัฐธรรมนูญไม่แตะหมวด1-2 นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่รัฐบาลโดยการนำของพรรคเพื่อไทยยืนยันจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. รับคำร้องกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ครอบงำพรรค เพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ระบุไม่มีข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ส่วนประเด็นที่กล่าวหาว่าครอบงำคงไม่ใช่ เพราะพรรคการเมืองทุกพรรค แม้กระทั่งการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาลก็จะต้องมีการไปประชุม ใช้เวลาในการประชุมเป็นวัน แต่เนื่องจากวันนั้น(14 ส.ค) มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสิน ให้นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเนื่องจากความเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้มีการพบปะพูดคุยกัน ซึ่งยืนยันว่า ไม่มีใครมาชี้นำหรือครอบงำ เพราะทุกอย่างมีกฎหมายล็อคไว้อยู่แล้ว