รีเซต

'หมอธีระวัฒน์' แนะ ทางสู้โอไมครอน ยืดหยุ่น-ยึดความจริงใจ เศรษฐกิจยังต้องเดินหน้า

'หมอธีระวัฒน์' แนะ ทางสู้โอไมครอน ยืดหยุ่น-ยึดความจริงใจ เศรษฐกิจยังต้องเดินหน้า
มติชน
19 กุมภาพันธ์ 2565 ( 22:11 )
54

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า

 

สิ่งที่น่าจะต้องทำในสถานการณ์โอไมครอนและต่อจากโอไมครอน
20-21/2/65
หมอดื้อ

 

ตามที่ได้คาดการณ์ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2564 ว่าวันวาเลนไทน์จะเป็นวันที่เริ่มเห็นตัวจริง ของโอไมครอน
นั่นก็คือตัวเลขที่ทะยานสูงขึ้นเป็นทวีคูณ
1- ตัวเลขที่เห็น ต่ำกว่าที่เป็นจริงมาก จากการที่ไม่สนับสนุนนัก ให้มีการตรวจพีซีอาร์และแม้กระทั่งเอทีเค โดยให้ทำในรายที่มีความเสี่ยง เท่านั้น และ พีซีอาร์ ในรายที่มีความจำเป็น ตามที่มีประกาศไปยังสถานพยาบาลน้อยใหญ่ทั่วประเทศ

 

2- แต่ประชาชนทุกคนมีความเสี่ยงทั้งหมด และการตรวจเอทีเคเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบเองโดยที่เอทีเคมีความแม่นยำไม่มากและโอกาสหลุดรอดมีครึ่งต่อครึ่ง

 

ดังนั้นตัวเลขที่เห็นจากพีซีอาร์และเอทีเค 32,473 ราย ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างน้อยสองเท่าขึ้นไป

 

3- การชักนำให้เป็นโรคธรรมดาตรวจก็ได้ไม่ตรวจก็ได้เ พื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจดีขึ้น เปิดการท่องเที่ยว เปิดประเทศ ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ก็ไม่สามารถลอกเลียน จากต่างประเทศได้ทั้งหมด

 

4- สิ่งที่ต้องทำเช่นในประเทศอังกฤษแม้จะมีการเปิดอิสระเสรีก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีการตรวจ

 

5- การตรวจที่ว่า ประกอบไปด้วยการประเมิน
ก-ตัวเลขติดเชื้อต่อวัน
ข-จำแนกตัวเลขของผู้ป่วยที่มีอาการจนถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาล
ค-ความรุนแรงเป็นระดับขั้น ที่ต้องเข้าโรงพยาบาล ทั้งระบบทางเดินหายใจและในระบบอื่นและที่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิตในระดับต่างๆ
ง- ความสามารถในการแบกรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลเกินสภาพของระบบสาธารณสุขหรือไม่
จ- ทั้งนี้ไม่ได้ยึดตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเดียว ซึ่งไม่สะท้อนสถานการณ์ของความรุนแรงของโรค ที่คนป่วยต้องครองเตียงในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน

 

6- ที่ประเทศไทยจะต้องทำนอกเหนือกว่านั้น ก็คือเตือนประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขว่า
โควิดปัจจุบันสามารถแสดงอาการแบบมาตรฐานคือทางระบบทางเดินหายใจ ไอ เจ็บคอ ไข้ และที่สำคัญก็คือ มีอาการนอกมาตรฐานทางระบบอื่น เช่น ปวดหัว ท้องเสีย ปวดเมื่อย เพลียจัด เหนื่อยจากระบบหัวใจ ความดันโลหิตตก จังหวะการเต้นหัวใจผิดปกติ ได้ หริอ อาการทางสมองอักเสบ ชัก ซึม ไม่รู้สึกตัว
และอาการนอกระบบดังกล่าวต้องนำมายืนยัน โดยไม่ใช่เอทีเคอย่างเดียว แต่ต้องเป็นพีซีอาร์และตัวอย่าง ที่นำมาตรวจไม่ได้จำกัดแต่ว่าจะต้องเป็นน้ำลายหรือสิ่งคัดหลั่งจากโพรงจมูก เท่านั้น แต่รวมถึงอุจจาระ และเลือด แล้วแต่อาการและระบบ ที่เป็น

 

7- โอไมครอน พี่ BA.1 ในที่สุดจะถูกทดแทนด้วยโอไมครอนน้อง BA.2 ที่มีความสามารถในการติดและการแพร่เก่งกว่า เกือบสองเท่าหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อคราวก่อนได้ แม้จะเป็นโอไมครอนตัวพี่ และหลีกหลบภูมิที่ได้จากการฉีดวัคซีนไม่ว่าจะยี่ห้อใดก็ตาม
ข้อสำคัญคือการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าทำให้เกิดมีความรุนแรงมากกว่าโอไมครอนตัวพี่

 

8- ความสามารถของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อขณะนี้ค่อนข้างจำกัดจนถึงเลวมาก โดยหวังป้องกันอาการหนักเท่านั้น
ดังนั้นการพิจารณาการฉีดในเด็กตั้งแต่ห้าถึง 11 ปีและจนกระทั่งหกเดือนจนถึงอายุสี่ปี เป็นเรื่องที่หาคำตอบชัดเจนไม่ได้ ทั้งนี้ เนื่องจาก

ก. เมื่อป้องกันการติดไม่ได้ในเด็ก ก็ยังสามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวได้ดังที่ปรากฏเห็นอยู่ชัดเจนในขณะนี้
ข. ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนในกลุ่มหกเดือนถึง 11 ปี จะได้ประโยชน์ในการป้องกันอาการหนักหรือเสียชีวิตได้หรือไม่ เนื่องจากอาการก็ไม่หนักมากอยู่แล้ว
และนอกจากนั้น ยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนจะสามารถป้องกันภาวะลองโควิด ที่เกิดตามหลังโอไมครอนได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตามหลังจากที่ติดไปแล้ว
ค. ผลแทรกซ้อนของวัคซีนไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหนก็ตามเป็นเรื่องจริงและต้องมีความโปร่งใสในการให้ข้อมูล ทั้งนี้ผลแทรกซ้อนดังกล่าวเกิดขึ้นได้ทุกอายุไม่ว่าจะมีโรคประจำตัวหรือไม่ก็ตามและมีปรากฏการณ์ได้ทุกระบบ

 

ทั้งนี้ การที่ต้องมีความโปร่งใสเ นื่องจากจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบในการนำวัคซีนมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งต้องมีการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น “อย่างสูงสุด” และเป็นที่มาถึงการต้องฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังซึ่งมีกลไกต่างกับการฉีดเข้ากล้ามและสามารถลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้

 

9- การประกาศโควิดเป็นหวัดธรรมดา แม้จนกระทั่งถึงการไม่ประกาศตัวเลขผู้ติดเชื้อหรือประกาศสัปดาห์ละครั้งเป็นที่ยอมรับได้

แต่การติดตามสถานการณ์อย่างเข้มข้นยังคงต้องทำตลอดแม้ว่าประชาชนจะไม่รู้เรื่องก็ตามและต้องสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายได้ทันทีทันใด

นั่นคือต้องมีความยืดหยุ่นโดยยึดความจริงใจ ความเป็นจริงของสถานการณ์ ถึงจะสู้กับความยืดหยุ่นของไวรัสได้ โดยที่เศรษฐกิจยังคงต้องเดินหน้าไปตลอด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง