Blue Origin เตรียมส่งจรวด New Glenn ลำแรกในสัปดาห์หน้า
บริษัท บลู ออริจิน (Blue Origin) บริษัทอวกาศเอกชนที่ก่อตั้งโดยมหาเศรษฐี เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้งแอมะซอน (Amazon) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีของโลก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวงการค้าปลีกและอุตสาหกรรมดิจิทัล เตรียมเข้าสู่ตลาดจรวดขนาดใหญ่ด้วยการเปิดตัวจรวดนิว เกล็นน์ (New Glenn) ในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม วันและเวลาที่แน่ชัดสำหรับการปล่อยจรวดทดสอบครั้งแรกยังไม่ได้รับการยืนยัน
หลังจากการพัฒนามายาวนานตั้งแต่ปี 2016 จรวดนิว เกล็นน์ (New Glenn) มีความพร้อมสำหรับการทดสอบปล่อยครั้งแรก โดยข้อมูลจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ระบุว่าช่วงเวลาเปิดตัวที่เป็นไปได้จะเริ่มในวันที่ 6 มกราคม ตั้งแต่เวลา 01.00 น. ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา จากบริเวณบนแท่นปล่อยจรวด Space Launch Complex 36 ที่แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา
จรวดนิว เกล็นน์ (New Glenn) เป็นจรวดขนาดใหญ่ที่ออกแบบให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ตัวจรวดจัดอยู่ในประเภทจรวดเชื้อเพลิงเหลวออกซิเจนเหลว (Liquid Oxygen หรือ LOX) และก๊าซมีเทนเหลว (Liquid Methane หรือ CH₄) โดยจรวดขั้นแรกสามารถลงจอดบนแท่นลอยน้ำกลางมหาสมุทร เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่ใช้ในจรวด Falcon และ Starship ของ SpaceX Blue Origin คาดว่าจรวดนิว เกล็นน์ (New Glenn) จะสามารถบินได้มากถึง 25 เที่ยวต่อการใช้งานบูสเตอร์หนึ่งชุด
จรวดนิว เกล็นน์ (New Glenn) มาพร้อมแฟริ่งขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 23 ฟุต (7 เมตร) ซึ่งใหญ่กว่าแฟริ่งขนาดมาตรฐานถึงสองเท่า จรวดสามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากถึง 13 เมตริกตัน สู่วงโคจรค้างฟ้า และ 45 เมตริกตัน สู่วงโคจรต่ำของโลก ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบรรทุกอุปกรณ์และภารกิจในอนาคต
สำหรับการปล่อยจรวดครั้งแรกของบริษัท บลู ออริจิน (Blue Origin) จะไม่บรรทุกภารกิจเชิงพาณิชย์ แต่จะทดสอบด้วยการบรรทุกน้ำหนักจำลอง Blue Ring Pathfinder ที่มีน้ำหนัก 20,411 กิโลกรัม ระบบนี้จะช่วยทดสอบการสื่อสาร การควบคุมการบิน และระบบติดตามอื่น ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจจริงในอนาคต
“ยานอวกาศสาธิตประกอบด้วยระบบสื่อสาร ระบบไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์การบินที่ติดอยู่กับวงแหวนอะแดปเตอร์บรรทุกสัมภาระสำรอง ระบบนำทางจะตรวจสอบความสามารถในการสื่อสารของ Blue Ring จากวงโคจรถึงพื้นดิน ภารกิจนี้ยังจะทดสอบระบบโทรมาตรหรือระบบที่ใช้สำหรับเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานะ การทำงาน หรือสภาพแวดล้อมของอุปกรณ์หรือยานพาหนะในอวกาศ ฮาร์ดแวร์ติดตามและสั่งการ และการติดตามเรดิโอเมตริกภาคพื้นดินที่จะใช้กับยานอวกาศผลิต Blue Ring ในอนาคตอีกด้วย” ตามการเปิดเผยของบริษัท บลู ออริจิน (Blue Origin)
ปัจจุบันบริษัท บลู ออริจิน (Blue Origin) มีพันธมิตรสำคัญหลายราย เช่น NASA สำหรับการส่งหัววัดดาวอังคาร ESCAPADE, Amazon สำหรับโครงการดาวเทียมอินเทอร์เน็ต Kuiper โครงการของบริษัท Amazon ที่มุ่งเน้นพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ที่การเข้าถึงเครือข่ายแบบดั้งเดิมเป็นเรื่องยากหรือไม่มีเลย เช่น พื้นที่ห่างไกลในชนบทหรือพื้นที่ที่ยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงโครงการ AST SpaceMobile สำหรับการสื่อสารจากอวกาศ
ที่มาของข้อมูล Space
ที่มาของรูปภาพ Blue Origin