สรรพสามิต ทุ่ม 100 ลบ. เปิดศูนย์ปราบปรามสินค้าเถื่อนออนไลน์ ยัน ภาษีบุหรี่ใหม่ ไม่ต่ำกว่าเดิม
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ภายในปี 2564 จะเปิดศูนย์ปราบปราบการกระทำความผิดสินค้าที่อยู่ในการควบคุมของกรมสรรพสามิต (สินค้าออนไลน์) เพื่อช่วยตรวจสอบ ตรวจจับการค้าขายสินค้าออนไลน์ ที่ไม่ชำระภาษีสรรพสามิตอย่างถูกต้องเรียกว่าสินค้าหนีภาษี โดยกรมสรรพสามิต ได้รับอนุมัติงบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ซอฟต์แวร์และระบบตรวจสอบการค้าขายสินค้าออนไลน์หนีภาษี และคาดว่าหวังเมื่อเปิดใช้บริการอย่างเต็มรูปแบบ การตรวจสอบ จับกุมสินค้าหนีภาษีได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ค้าขายออนไลน์ ต้องค้าขายอย่างถูกต้อง และควรเสียภาษีถูกต้องด้วย
“ปัจจุบันกรมสรรพสามิต ได้ตรวจพบว่าการจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมายทางช่องออนไลน์ มีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้กรมฯต้องพัฒนาระบบเพื่อตรวจสอบ ป้องกันและปราบปราม เพื่อให้คนที่ทำมาค้าขาย เสียภาษีอย่างถูกต้อง ให้เกิดความเท่าเทียมในภาคธุรกิจด้วย” นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ กล่าวว่า ผลการปราบปรามการกระทำผิดผ่านช่องทางออนไลน์ ในช่วง 6 เดือนปีงบประมาณ 2564 มีจำนวน 179 คดี คิดเป็นค่าปรับรวมประมาณ 23,149,893 บาท โดยสามารถจับกุมการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ผิดกฎหมายได้มากที่สุด จำนวน 90 คดี คิดเป็นค่าปรับ 8,826,583 บาท รองลงมา คือ รถยนต์ 48 คดี คิดเป็นค่าปรับ 9,320,792 บาท สุรา 17 คดี คิดเป็นค่าปรับ 2,389,948 บาท ยาสูบ 12 คดี คิดเป็นค่าปรับ 502,040 บาท ไพ่ จำนวน 1คดี คิดเป็นค่าปรับ 329,940 บาท และอื่นๆ 11 คดี คิดเป็นค่าปรับ 1,780,589 บาท
ความคืบหน้าการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ แทนโครงสร้างปัจจุบันที่จะสิ้นสุดเดือนกันยายนนี้ นั้น ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนจะหารือกับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในเร็วๆนี้ โดยจะให้ตอบโจทย์ใน 4 ด้าน คือ 1.ด้านสาธารณสุข 2.ด้านเกษตรกรผู้ปลุกใบยาสูบ 3.ด้านรายได้ของกระทรวงการคลัง และ 4.ด้านการแก้ไขเรื่องบุหรี่ผิดกฎหมาย ที่จะต้องไปด้วยกันให้ได้ในโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ โดยไม่ได้ให้น้ำหนักเรื่องใดเป็นเฉพาะ และละเลยด้านใดด้านหนึ่ง
จากการที่ได้หารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบ เรื่องโครงสร้างภาษีบุหรี่ จ่ายเงินชดเชย และปลูกพืชทดแทน ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็เห็นแล้วว่าเกษตรกรผู้ปลุกยาสูบได้รับผลกระทบจากเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีและการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลช่วยได้ คือ เรื่องของการเยียวยาและค้ำประกันรายได้ที่ ซึ่งได้เสนอของบกลางในปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 159 ล้านบาท เพื่อเยียวยาเกษตรกรกว่า 1 หมื่นราย
สำหรับรายละเอียดของโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ที่นำมาใช้หลังนั้น ไม่ได้มีเกณฑ์ตายตัวที่กำหนดว่าจะเป็น ลักษณะอัตราเดียว หรือหลายอัตรา ขึ้นอยู่กับบริบทละข้อจำกัดของแต่ละประเทศ ของไทยก็พยายามทำให้ตอบโจทย์ใน 4 ด้านที่กล่าวมา ส่วนจะสรุปว่ามีอัตราเดียว หรือ 2 อัตราแบบที่ใช้ในปัจจุบัน นั้น ต้องขอหารือกับระดับนโยบายก่อน ซึ่งได้มีหลายแนวทางที่จะเตรียมนำเสนอใน นายอาคม พิจารณา รวมทั้งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเมื่อใดนั้น ขึ้นอยู่กับนายอาคม พิจารณาเช่นกัน โดยแต่ละปีกรมสรรพสามิต สามารถจัดเก็บภาษีได้ราว 60,000 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่แล้ว การจัดเก็บรายได้ต้องไม่น้อยกว่าเดิมด้วย