รีเซต

เครือซีพี – CPP ผนึกภาครัฐ ร่วมสร้างเครือข่ายผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมในภาคเหนือต่อเนื่อง

เครือซีพี – CPP ผนึกภาครัฐ ร่วมสร้างเครือข่ายผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมในภาคเหนือต่อเนื่อง
TNN ช่อง16
26 ตุลาคม 2566 ( 18:45 )
62

เมื่อเร็วๆนี้ นางสาวพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วย สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CPP) และคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนบ้านเวียงแก้ว ระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จำนวน 40 คน ร่วมดำเนินโครงการค่ายผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ ENVI camp For young talent : LESS is more l Carbon credit ภายใต้หลักสูตร Sustainable Leadership Development Program : SLDP โดยมีเยาวชนต้นแบบ “แอนโทนี ปิยชนม์” ร่วมให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนภาคเหนือ เล็งเห็นถึงความสำคัญและตระหนักรู้ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียนรู้ และมีส่วนร่วมป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ ณ โรงเรียนบ้านเวียงแก้ว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

นางสาวพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในภาคเหนือ โดยเฉพาะปัญหาภูเขาหัวโล้น และหมอกควันไฟป่า ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่เครือซีพี ให้ความสำคัญ และเป็นความท้าทายที่ต้องเร่งและเข้ามาขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืน โดยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เครือฯ เข้าไปดำเนินงานในพื้นที่ 4 ต้นน้ำสำคัญ ได้แก่ ปิง วัง ยม น่าน เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอาชีพชุมชนบนพื้นที่สูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการรุกป่า ลดการเผา ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ เครือฯ ยังให้ความสำคัญในการปลูกฝังเด็กและเยาวชนในภาคเหนือ ให้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมในถิ่นฐานบ้านเกิดตนเอง จึงเกิดเป็นโครงการผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ SLDP โดยบูรณาการองค์ความรู้และกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถานศึกษาต่างๆ โดยมี เยาวชนต้นแบบ “แอนโทนี ปิยชนม์” ที่สามารถเป็นบุคคลต้นแบบและเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญแก่เยาวชนคนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี โดยกิจกรรมต่างๆ วางรูปแบบให้มีสาระบันเทิงพร้อมกับการสอดแทรกความรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเครือฯ มุ่งหวังว่าโครงการดังกล่าวฯ จะสร้างเครือข่ายเยาวชนผู้นำรักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะกลายเป็นบุคลากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในอนาคตได้

นายชัยชาญกิตติ์ รักนา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเวียงแก้ว กล่าวว่า โรงเรียนฯ เปิดการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งที่ผ่านมา โรงเรียนให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตลอด โดยทุกกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น จะมีการสอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ อาทิ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกต้นไม้และการดูแลรักษา การให้องค์ความรู้เรื่องประโยชน์ของต้นไม้ทั้งต่อตนเอง ต่อชุมชน และโลก อีกส่วนหนึ่งคือการมีส่วนร่วมเป็นจิตอาสาในชุมชน ปลูกป่าชุมชน ทำแนวกันไฟ ทำให้เด็กนักเรียนเกิดความผูกพัน รักผืนป่าชุมชนที่ปลูกเอง พร้อมกับสอดแทรกในเรื่องผลกระทบถ้าไม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้เกิด PM 2.5 ภาวะโลกร้อนจะตามมา ซึ่งในเรื่องนี้นักเรียนมีความสนใจมาก สำหรับโครงการค่ายกิจกรรมในครั้งนี้ รู้สึกดีใจมากที่ภาคเอกชนหรือซีพี ได้เห็นความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมกับชุมชนและโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะเชื่อว่า “การป้องกัน ดีกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ” ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดคือเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ และเมื่อชุมชนเห็นพลังของเด็กก็จะเกิดจิตสำนึกร่วมขึ้นมา จึงอยากให้มีกิจกรรมต่อเนื่อง

นายปิยชนม์ ภุมวิภาชน์ หรือ น้องแอนโทนี ยุวทูต องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAMEO วัย 18 ปี เปิดใจว่า มีความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านสันกอง ต.แม่ไร่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งรายรอบไปด้วยต้นไม้ป่าไม้ รวมถึงได้รับความรู้ความสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงคิดว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว รวมถึงเห็นปัญหาของฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เกิดขึ้นใน จ.เชียงรายและที่อื่นๆ ในภาคเหนือ โดยเฉพาะเมื่อปี 2022 ที่มีฝุ่นควันหนักที่สุด ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งจากการกระทำของมนุษย์ในการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการทำเกษตรกรรม การเผาวัสดุทางการเกษตร และเกิดจากไฟป่าธรรมชาติ จึงเริ่มมีแรงบันดาลใจและมีแนวคิดที่ว่า “ถ้าเราไม่ทำ ใครจะทำ” โดยเป้าหมายสูงสุด คือ การให้ทุกคนที่ทำโครงการหรือเรื่องราวดีๆ แต่ไม่มีกำลังมากพอ มีช่องทางนำเสนอที่สามารถเข้าถึงหน่วยงานต่างๆ ได้รับโอกาสในการสนับสนุนการทำงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ให้เกิดความยั่งยืน เหมือนที่ตนเองได้รับต่อไป โดยเชื่อว่า ในอนาคต ถ้าทุกคนและทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมมาช่วยกัน ปัญหา PM 2.5 ในภาคเหนือจะหมดไปได้อย่างแน่นอน

สำหรับการจัดค่ายในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากหลายหน่วยงาน อาทิ กรมป่าไม้ มาให้ความรู้ในเรื่องคุณค่าของป่าไม้ และประเภทของป่าไม้  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ในการวิเคราะห์ชุมชน กิจกรรมสำรวจชุมชน เพื่อให้เด็กๆร่วมออกแบบพัฒนาชุมชนในมิติต่างๆ และเครือซีพี มาร่วมให้ความรู้เรื่องก๊าซเรือนกระจก ภาวะโลกร้อน การวัดการเติบโตของต้นไม้ ในการกักเก็บคาร์บอน การเพาะเมล็ดผัก และสอดแทรกเกมสนุกๆ เพื่อสร้างสาระความบันเทิงให้แก่เด็กๆ ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน พร้อมๆไปกับการได้รับความรู้ไปอย่างเต็มเปี่ยม โดยมุ่งหวังว่า หลังจากนี้เด็กนักเรียนทุกคนจะสามารถเป็นกำลังสำคัญให้กับชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง