รีเซต

เกษตรกรอ่างทองพอใจ มาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง หลัง “เฉลิมชัย” สั่งเข้มช่วยด่วน

เกษตรกรอ่างทองพอใจ มาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง หลัง “เฉลิมชัย” สั่งเข้มช่วยด่วน
มติชน
20 กรกฎาคม 2563 ( 14:03 )
62

“เฉลิมชัย”ตามติดแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่อ่างทอง สั่งเข้มเร่งทำความเข้าใจ และช่วยเหลือเต็มที่ พร้อมผันน้ำจากแม่น้ำน้อยเพิ่มเป็น 20 ลบ./วินาที ทำให้มีน้ำทำเกษตรได้เพิ่มขึ้น เกษตรกรพอใจกับมาตรการช่วยเหลือ พร้อมขอให้ทุกคนช่วยกันใช้น้ำอย่างคุ้มค่า

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่เกษตรกรในพื้นที่เขตอำเภอแสวงหา และ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ได้ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเพื่อทำนาปี และได้เรียกร้องขอให้ภาครัฐได้ดำเนินการช่วยเหลือ สำหรับความคืบหน้าในการให้ช่วยเหลือเกษตรกรของจังหวัดอ่างทองที่เดือดร้อนดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา และลงพื้นที่เพื่อพบปะพุดคุยกับเกษตรกรถึงแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการทำนาปีของปี 2563  รวมถึงชี้แจงสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ

“ พร้อมกันนี้ ทางกรมชลประทานได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำและหมุนเวียนการส่งน้ำเพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่นาปีที่ได้เพาะปลูกแล้ว โดยได้มีการเพิ่มการระบายน้ำเข้าสู่แม่น้ำน้อย เข้าสู่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร ซึ่งเป็นแหล่งน้ำชลประทานในเขตจังหวัดอ่างทอง จากเดิมที่อัตรา 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบกับในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีฝนตกลงพื้นที่จังหวัดอ่างทอง จึงทำให้มีปริมาณน้ำมากขึ้น สามารถไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวของเกษตรกรที่ปลูกได้ ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวนาปีในช่วงนี้ ได้มีการทำความเข้าในและขอความร่วมมือเกษตรกรให้รอฝนตกสม่ำเสมอก่อน คาดว่าตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมาย จะสามารถทำการเพาะปลูกได้”

“จากการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง จนถึงขณะนี้ได้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งยังติดตามผลการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และได้มีรายงานจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ว่า เกษตรกรรู้สึกพอใจกับมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกรมชลประทาน ซึ่งขอกราบเรียนให้เกษตรกรทุกคนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศให้ทราบอีกครั้งว่า ตนเองได้ให้ความสำคัญ และทุ่มเทอย่างเต็มที่กับการปัญหาภัยแล้งเป็นอย่างมาก นอกจากการแก้ไขปัญหาที่เกิดขี้นในขณะนี้แล้ว ยังได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำในอนาคตด้วยเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น “ นายเฉลิมชัยกล่าว

นายเฉลิมชัยกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคเกษตร จากที่ได้สั่งการให้กรมชลประทานได้เร่งดำเนินการแก้ไขและปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยทางกรมชลประทานได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำและหมุนเวียนการส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และส่งน้ำให้กับพื้นที่นาปีที่ได้เพาะปลูกแล้ว โดยได้มีการเพิ่มการรับน้ำเข้าสู่แม่น้ำน้อย จากอัตรา 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มการรับน้ำคลองชัยนาท-     ป่าสัก จากอัตรา 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีและเพิ่มการรับน้ำเข้าแม่น้ำท่าจีน จากอัตรา 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 21 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

“ การเพิ่มปริมาณการระบายน้ำดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ในระดับหนึ่ง ทำให้มีปริมาณน้ำส่งให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี2563ที่เพาะปลูกไปแล้ว 3.01 ล้านไร่ ซึ่งรวมถึงในส่วนของจังหวัดอ่างทองด้วย แต่สำหรับพื้นที่ส่วนที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีอีกจำนวน 5.09 ล้านไร่ ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรให้รอฝนตกสม่ำเสมอก่อนค่อยทำการเพะปลูก ซึ่งคาดว่า จะเริ่มมีฝนชุกตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมาย”นายเฉลิมชัยกล่าว

นายเฉลิมชัยกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้ร่วมกันใช้น้ำตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้อย่างเคร่งครัด และขอให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำให้มากที่สุด ใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้คุณค่า เพื่อให้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอสำหรับความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

นายเฉลิมชัยกล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการลดผลกระทบ จากสถานการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีน้อยในปีนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนทั้งด้านรถยนต์บรรทุกน้ำรวมทั้งหมด 106 คัน แบ่งเป็นภาคเหนือ 24 คัน,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 22 คัน, ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก 28 คัน, ภาคใต้ 14 คัน) ศูนย์ปฏิบัติการเครื่องจักรกลและส่วนกลาง (นนทบุรี) 18 คัน และเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่นาปี นาปรัง อุปโภคบริโภค พืชไร่ และอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2563 จำนวน 2,286 เครื่อง และได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแล้วในหลายพื้นที่ทั่วประเทศตามที่ร้องขอมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง