รีเซต

กกร.ผวา! “ค่าไฟฟ้าแพง ดอกเบี้ยสูง ค่าจ้างขึ้น” ดันต้นทุนเพิ่ม

กกร.ผวา! “ค่าไฟฟ้าแพง ดอกเบี้ยสูง ค่าจ้างขึ้น” ดันต้นทุนเพิ่ม
TNN ช่อง16
8 กันยายน 2565 ( 10:23 )
40
กกร.ผวา! “ค่าไฟฟ้าแพง ดอกเบี้ยสูง ค่าจ้างขึ้น” ดันต้นทุนเพิ่ม

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วยสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกร. มีความกังวลในเรื่องต้นทุนของภาคธุรกิจ ที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า จากปัจจัยเหล่านี้ คือ

1.การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ที่จะมีผลบังคับใช้ ในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนการประกอบการ โดยภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยร้อยละ 20 - 30 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และในส่วนของภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรม มีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเกือบร้อยละ 30 ของต้นทุนทั้งหมด 

2.การปรับขึ้นค่าธรรมเนียม หรือเงินนำส่ง FIDF (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่จะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 

ทั้งนี้ การจ่ายค่า FIDF นั้น ปัจจุบันได้รับการลดหย่อนที่ร้อยละ 0.23 จากอัตราเดิมที่ร้อยละ 0.46 จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2566 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยกับกระทรวงการคลังถึงแนวทางที่เหมาะสม 

3.ต้นทุนด้านแรงงาน จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 และรวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่เป็นปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจ ซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่ยังมีความเปราะบาง

ที่ประชุม กกร.จึงขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ขอให้ทยอยการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าออกเป็น 2 ระยะ แทนการปรับขึ้นครั้งเดียว 

เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งควรรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ กกร.ยังประเมินว่า เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงที่จะชะลอตัวกว่าที่คาด เห็นได้จากประมาณการเติบโตของจีดีพีในประเทศสำคัญๆทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ถูกปรับลดลง 

อย่างไรก็ดี ที่ประชุม กกร.ประเมินเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้จากการเปิดประเทศ และการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ตามมา แต่จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ตลาดต่างประเทศอย่างใกล้ชิดขึ้น 

โดยที่ประชุม กกร.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ซึ่งจะขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 2.75- 3.5 ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่ายังขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 6.0 -8.0 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบร้อยละ 5.5 - 7.0 และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 มีโอกาสแตะระดับ 9 - 10 ล้านคน

ข้อมูลจาก : TNN ONLINE

ภาพจาก : TNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง