รีเซต

อธิบดีกรมชลประทานเร่งรัดสร้าง 4 ประตูระบายน้ำ ลุ่มน้ำยมตอนล่าง บรรเทาท่วม-แล้ง

อธิบดีกรมชลประทานเร่งรัดสร้าง 4 ประตูระบายน้ำ ลุ่มน้ำยมตอนล่าง บรรเทาท่วม-แล้ง
มติชน
25 พฤศจิกายน 2565 ( 14:46 )
82

กรมชลประทาน มุ่งมั่นพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำของประชาชนในอนาคตอย่างเพียงพอ ทั่วถึง และเป็นธรรม สั่งเร่งเครื่องก่อสร้าง 4 ประตูระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง หวังเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำ-บรรเทาอุทกภัย จ.พิษณุโลกและพิจิตร ตามนโยบายของ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)

 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยปีละประมาณ 4,129 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่สามารถเก็บกักน้ำได้เพียง 406 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น เนื่องจากไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลในแต่ละปีไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ส่งผลให้ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำเกือบทุกปี ในขณะที่ช่วงฤดูแล้งมักจะเกิดภัยแล้งด้วยเช่นกัน กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมแบบขั้นบันได เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน เก็บกักน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคและการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้มากขึ้น รวมทั้งจะทำหน้าที่หน่วงและชะลอน้ำ ก่อนจะผันเข้าทุ่งหรือแก้มลิงในช่วงฤดูน้ำหลาก ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลุ่มน้ำยมตอนล่าง 4 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก คืบหน้าแล้วกว่า 83% ปัจจุบันสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ได้แล้วบางส่วน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 ส่วนโครงการประตูระบายน้ำท่าแห ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร คืบหน้าแล้วกว่า 52% สามารถเก็บน้ำได้แล้วบางส่วนแล้วเช่นกัน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ขณะที่โครงการฝายบ้านวังจิก ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร คืบหน้าแล้ว 60% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 และโครงการประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง ต.ไผ่ท่าโพ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร คืบหน้าแล้ว 24% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568

 

ทั้งนี้ ได้เร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวโดยเร็วที่สุด หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้ง 4 โครงการ จะสามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมและลำน้ำสาขาได้รวมประมาณ 38.91 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์มากถึง 198,746 ไร่ ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและลดผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างได้มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง