ผู้ว่าโคราช ยัน! ประตูระบายน้ำอ่างลำเชียงไกร พร้อมรับฝน 100%
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา และนายกฤษฏิ์ พูนเกษม หัวหน้าสำนักงาน ปภ. จังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารประตูระบายน้ำ ภายในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำในช่วงหน้าฝนนี้
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การก่อสร้างอาคารประตูระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ล่าสุดมีความคืบหน้าไปมากกว่า ร้อยละ 95 เหลือเพียงแค่เก็บรายละเอียดโครงการสร้างหลังคา ราวจับ และเทคนิคด้านชลประทาน เท่านั้น ส่วนประตูระบายน้ำทั้ง 4 บาน ขณะนี้สามารถใช้งานได้แล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ หากเกิดสถานการณ์วิกฤตฉุกเฉิน สามารถจะใช้บังคับควบคุมระบายน้ำได้ ทั้งนี้ประสิทธิภาพการระบายน้ำของประตูระบายน้ำ ทั้ง 4 บาน สามารถระบายน้ำออกได้ 450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนสันอ่างเก็บน้ำ ได้มีการก่อคันดินให้สูงขึ้นอีก 1 เมตร ซึ่งจะรับน้ำเพิ่มได้อีก 10 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมที่สามารถกักเก็บน้ำได้ 27.7 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเพิ่มเป็น 37.7 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 18.5 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือคิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุอ่าง
นายวิเชียรฯ กล่าวอีกว่า สิ่งที่พี่น้องประชาชนและทางจังหวัดมีความเป็นห่วงสถานการณ์ในลำเชียงไกรตอนล่าง เนื่องจากที่ผ่านมาและช่วงต้นปีมีปัญหาเรื่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่การเกษตรใน อ.โนนไทย และ อ.โนนสูง ซึ่งหลังจากอาคารประตูระบายน้ำก่อสร้างแล้วเสร็จ จะทำให้การบังคับควบคุมน้ำในอ่างเก็บน้ำ และในลุ่มน้ำลำเชียงไกรได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำภาพรวมในอ่างเก็บน้ำทั้งหมดของจังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ก็ต้องมีการพร่องน้ำออกบ้าง เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ในลุ่มน้ำต่างๆ รวมทั้ง เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ให้สามารถรองรับน้ำฝนที่อาจจะตกเพิ่มเติมเข้าไปอีกได้
ด้านนายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยว่า สำหรับอาคารประตูระบายน้ำอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำดีขึ้น โดยสามารถระบายน้ำได้ 450 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม ระบายน้ำ และเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างในช่วงหน้าฝน โดยปกติแล้วการระบายน้ำของอ่างลำเชียงไกรตอนล่าง จะระบายหรือพร่องน้ำ ออกทางท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม ที่มีทั้ง 2 ฝั่งของอ่างเก็บน้ำ เพื่อส่งน้ำเข้าสู่คลองชลประทานและลำคลองธรรมชาติ ให้ประชาชนได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ประมาณวันละ 500,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนอาคารประตูระบายน้ำที่ก่อสร้างขึ้นมาใหม่ จะใช้ระบายน้ำในช่วงที่มีปริมาณน้ำในอ่างเป็นจำนวนมาก ใกล้เต็มความจุ และต้องการระบายน้ำในปริมาณมากและสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับอ่างเก็บน้ำนั่นเอง
ภาพ ผู้สื่อข่าว จ.นครราชสีมา