รีเซต

‘บิ๊กปั๊ด’สั่งลุยภัยไซเบอร์ รุกสอบสวนคดีออนไลน์ แก้หนี้ ตร.-พร้อมรับมือม็อบ

‘บิ๊กปั๊ด’สั่งลุยภัยไซเบอร์ รุกสอบสวนคดีออนไลน์ แก้หนี้ ตร.-พร้อมรับมือม็อบ
มติชน
5 มกราคม 2565 ( 09:11 )
41

ผ่านมาปีเศษ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้เปิดโอกาสให้ “มติชน” สัมภาษณ์พิเศษอีกครั้ง เพื่ออัพเดตผลการปฏิบัติหน้าที่ ผบ.ตร.คนที่ 12 และแนวทางการทำงานที่ยังเหลืออายุราชการก่อนเกษียณสิ้นเดือนกันยายนนี้
รายละเอียดอ่านได้จากบรรทัดถัดจากนี้ไป

 

⦁คิดว่าเป็น ผบ.ตร.ที่มีความโดดเด่นเรื่องใด
ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครจะจำผมตรงไหนเพราะความจริงแล้วเรื่องต่างๆ ที่ได้ทำมาจากประสบการณ์ เคยเห็นปัญหาตอนทำงาน รู้ว่าอะไรที่ตำรวจสายสืบอยากได้มากที่สุด อย่างเรื่อง Digital Forensic (บริการสืบค้นหลักฐานทางดิจิทัล) ที่ทำงานสืบสวนมา ก็รู้ว่าเราต้องการอะไร การสืบค้นทั่วไปก็ทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดีเอ็นเอ หรือลายนิ้วมือ อย่างเรื่องระบบไบโอเมตริกซ์ก็อยากได้ อยากให้เก็บข้อมูลคนต่างด้าวที่มาทำงาน ส่วนของคนไทยเราสามารถติดตามสืบเสาะได้ แต่กับคนต่างชาติถ้าไม่มีระบบที่ดีพอก็จะติดตามลำบาก ซึ่งของพวกนี้ไม่ได้ไฮเทคอะไร แต่ที่สนใจเพราะมันช่วยในการทำงานให้ดีขึ้นได้

 

ผมเรียนรู้จากบทเรียนของผมเองว่าในคดีต่างๆ ถ้ามีสิ่งเหล่านี้แล้วจะช่วยในหลายเรื่อง ก็ท่องไว้ในใจว่า ถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่จะทำ เพราะจะไปหวังพึ่งอย่างอื่นในการสืบสวนนั้นเป็นไปได้ยากมาก เช่น หากไม่มีกล้อง 9,000 กว่าตัวนั้น หลายคดีในกรุงเทพฯ ก็จะทำอะไรไม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันเองก็ยังไม่เพียงพอ ทางจังหวัดใกล้เคียงก็ขอเช่นกันทั้งภาค 1 ภาค 2 ภาค 7 กำลังพิจารณาอยู่ ทุกอย่างที่ดูไฮเทคนั้นไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ก็ได้มาจากบทเรียนการทำงานของเราเอง

 

⦁ประมวล 1 ปีเศษ มีงานอะไรบ้างที่ ผบ.ตร.ได้วางนโยบายไว้แล้วทำสำเร็จ และงานอะไรอยากให้สานต่อ
งานที่เป็น “อาหารจานด่วน” เช่น เรื่องของกล้องวงจรปิดที่ติดใน กทม. 9,000 ตัว และติดเพิ่มอีก 8,500 ตัว คิดว่าอีก 1-2 เดือนน่าจะแล้วเสร็จซึ่งต้องขอบคุณทางการไฟฟ้านครหลวงอย่างมากถ้าหากไม่มีการไฟฟ้าก็ไม่สามารถทำได้ ด้วยงบประมาณเท่านี้สามารถติดได้ถึง 9,000 ตัว เป็นอาหารจานด่วนที่ได้ใช้ประโยชน์จริง

 

แต่หลายอย่างก็ต้องใช้เวลา เช่น เรื่องของการปรับตัวของตำรวจ ทั้งในงานด้านบริการ ด้านสายตรวจ ด้านสอบสวน ด้านจราจร ด้านอำนวยการ ด้านสวัสดิการ ได้ทำไปพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น งานป้องกันและปราบปราม ในปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าสายตรวจมียุทธวิธีในการจับคนร้ายดีขึ้น มีการใช้ไม้ง่าม ปืนไฟฟ้า เพราะมีการฝึกโดยครูฝึกตามยุทธวิธี เนื่องจากมีบทเรียนในอดีตที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจากการจับคนร้าย รวมถึงการทำ SOP (Standard Operation Procedure คือเอกสารคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน)

 

“งานจราจร” มีการนำเครื่องออกใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์มาทดลองใช้งาน และจะเพิ่มขึ้นในเขต กทม. รวมทั้งให้ประชาชนถ่ายคลิปวิดีโอ หรือรูปส่งมาเป็นอาสาจราจร โดยมีเงินรางวัลให้ เป็นการรณรงค์ให้คนรู้จักเคารพกฎจราจร และช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องให้เจ้าหน้าที่

 

ส่วน “งานสอบสวนคดีออนไลน์” อยู่ระหว่างดำเนินการปรับระบบใหม่ มีแนวคิดคือ “หากถูกหลอกทางออนไลน์ได้ ก็ต้องแจ้งความทางออนไลน์ได้” และจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไป ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปโรงพัก และอธิบายสถานการณ์ สามารถส่งข้อมูลทางออนไลน์ได้ ซึ่งจะเป็นแอพพลิเคชั่น หรือซอฟต์แวร์ โดยเรียกว่า“Case Management” พัฒนาโดยทีมงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง ต้องมีการออกกฎระเบียบแก้ไข เพราะระบบงานเก่าเป็นเอกสาร ไม่ใช่สำหรับโลกยุคนี้ที่มีเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น และคนสามารถทำผิดได้ทุกที่

 

มีสิ่งหนึ่งที่อยากทำมากคือ “การแก้ไขหนี้สินของตำรวจ” ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาและประชุมชี้แจงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางปฏิบัติมาตลอด 1 ปี โดยตำรวจ 200,000 กว่าคน มีหนี้สินรวมกว่า 200,000 ล้าน โดย 1% ของผู้ที่เป็นหนี้เป็นสีแดง คืออยู่ระหว่างถูกบังคับชำระหนี้โดยกระบวนการศาล อีก 2% เป็นสีเหลือง คือไม่สามารถชำระหนี้ต่อไปได้แล้ว อีก 97% เป็นสีเขียว คือยังมีความสามารถในการผ่อนชำระ ซึ่งผมไม่ได้อยากจะแก้ไขแค่สีแดงกับเหลือง แต่ต้องผ่อนปรนให้สีเขียวด้วย และที่สำคัญคือสีขาว หรือกลุ่มที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ ที่จะทำยังไงกับคนที่จะมาเป็นตำรวจในอนาคต โดยไม่เข้าสู่วังวนหนี้ หรือเข้ามาและไม่สร้างปัญหาในระยะยาว ตอนนี้ได้สหกรณ์นครบาล สมัครใจที่จะเข้ามาช่วยเหลือข้าราชการตำรวจเป็นหนี้จริงๆ ไม่ใช่ตั้งขึ้นเพื่อหวังผลกำไรทางธุรกิจ หลักการง่ายๆ ใครที่เป็นหนี้อยู่ก็เปลี่ยนเจ้าหนี้มาเป็นสหกรณ์นครบาล จะได้ดอกเบี้ยน้อยกว่าเดิม

 

 

⦁ปีใหม่มีอะไรที่จะเป็นของขวัญให้ประชาชนบ้าง
จริงๆ ก็เหมือนกันทุกปี เรื่องของการอำนวยความสะดวกในการจราจร การดูแลความปลอดภัยของประชาชน ในเรื่องของจราจร ถ้าได้ลงนามเอ็มโอยูกับกรมการขนส่งทางบก ประชาชนก็สามารถชำระค่าปรับใบสั่งต่างๆ ในขณะที่ท่านไปต่อทะเบียนรถได้ เพราะตอนนี้คนไม่ค่อยไปเสียค่าปรับสักเท่าไหร่ คาดว่ามีแค่ประมาณ 10% ที่ยอมเสียค่าปรับ เพราะตำรวจไม่ได้ยึดใบขับขี่ ซึ่งถ้าสามารถทำเอ็มโอยูได้ การบังคับใช้กฎหมายก็จะดีขึ้น และเป็นของขวัญให้ประชาชน และมีคนฝ่าฝืนกฎหมายน้อยลง

 

ของขวัญอีก 1 อย่าง “เรื่องการแจ้งความออนไลน์” มีความแตกต่างจากการแจ้งความออนไลน์แบบเดิมที่จะเป็นเรื่องบัตรหาย แต่ในส่วนนี้จะมีลักษณะ เช่น ถูกหลอกมาสามารถนำข้อมูลขึ้นระบบได้ ซึ่งงาน Back Office จะเยอะมาก สมมุติว่ามีคนคีย์ข้อมูลเข้ามาประมาณ 50,000 ราย เราจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นต้องแก้ไขระบบมารองรับให้ดีก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับกระบวนการทำงานหลังจากรับแจ้งเรื่อง ยกตัวอย่าง กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) รับงานมาแล้วจะแจกจ่ายไปที่ใคร ก็ต้องเขียนระเบียบขึ้นมา ซึ่งในส่วนนี้มีเจ้าหน้าที่เพียงพอ เนื่องจากแต่ละเหตุเกิดคนละพื้นที่กัน ก็อาจจะมอบหมายให้โรงพักในพื้นที่นั้นเป็นคนจัดการ พนักงานสอบสวนพื้นที่ช่วยพิมพ์คำให้การเข้าระบบมาส่วนหนึ่ง และเป็นกระดาษอีกส่วนหนึ่ง เพื่อใช้ในขั้นตอนการขึ้นศาล ซึ่งจะกลายเป็นการบริหารจากส่วนกลาง แทนการกระจายแบบเดิม ก็อยู่ในเรื่องของกติกาการทำงานต้องตกลงกันให้ดี ทำอะไรต้องให้มีประสิทธิภาพ เน้นความสะดวกของประชาชนเป็นหลัก

 

แนวคิดง่ายๆ คือ เมื่อถูกหลอกออนไลน์ได้ ก็ต้องแจ้งความออนไลน์ได้ ทั้งนี้ ได้เร่งกระบวนการแล้ว ในส่วนซอฟต์แวร์ยังไม่เสร็จเพราะมีการปรับแก้กันหลายรอบ รวมถึงเรื่องกฎระเบียบที่ต้องทำได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

 

⦁ผบ.ตร.มองว่ารูปแบบอาชญากรรมในปี 2565 จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ในส่วนอาชญากรรมบนท้องถนน (Street Crime) ก็คงเหมือนเดิม อาชญากรรมจะมีช่องทางให้หลบหลีกและมีช่องทางในการทำผิดมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของออนไลน์ ช่องทางหลบหลีกก็อย่างที่บอก การเคลื่อนย้ายทรัพย์สินไปในรูปแบบอื่นๆ การทำผิดที่แม้อยู่นอกประเทศก็ยังสามารถทำได้ การปกปิดตัวตนบนโลกออนไลน์ ส่วนบนท้องถนนก็ยังเป็นระบบแบบเดิม แต่อาจจะลดน้อยลง เพราะการเคลื่อนที่ของประชากรก็น้อยลง 2 ปีที่ผ่านมาอาชญากรรมตามท้องถนนก็ลดลง แล้วไปเพิ่มบนออนไลน์ ปีหน้าผมก็คิดว่าคงเป็นแบบนี้อยู่

 

⦁ทิศทางตำรวจยุคใหม่จะเป็นอย่างไร
ก็ต้องปรับตัว สมัยก่อนนี้ใครที่แข็งแรงคือคนที่อยู่รอด ส่วนสมัยนี้คนที่ปรับตัวคือคนที่อยู่รอด เหมือนอย่างแมลงสาบที่ปรับตัวจนอยู่ถึงทุกวันนี้แต่ไดโนเสาร์ที่แข็งแรงกลับสูญพันธุ์ไปแล้ว องค์กรต้องปรับตัวเช่นกัน

 

ไม่ปรับตัวไม่ได้ มีหลายอาชีพที่ไม่ปรับตัวก็จะอยู่ไม่ได้ ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ถึงเวลาก็ต้องปรับตัวให้เร็ว อะไรที่ไม่ใช่ก็ต้องเปลี่ยนแปลง อย่ายึดติดกับอะไรนานๆ

 

⦁การชุมนุมทางการเมืองปี 2565 มีแนวโน้มเป็นอย่างไร
ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะมันมีหลายปัจจัยมากทั้งเรื่องแนวคิดและการสนับสนุน ที่สภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ รวมถึงการเมืองกำลังเดินไปสู่การเลือกตั้ง ฝ่ายสนับสนุนคิดอย่างไร การชุมนุมยังจำเป็นหรือไม่ หรือจะไปสู่การเลือกตั้ง หรือต้องทำคู่กัน ซึ่งยังมีปัจจัยอีกมากมาย เช่น เรื่องความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

ส่วนเรื่องการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม หรือการสร้างเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่รัฐ ว่ามีหรือไม่ หรือมีความไม่ชอบธรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นประเด็นให้เกิดการต่อสู้เรียกร้องอีกไหม ซึ่งก็คงตอบแทนไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่เราก็ต้องเตรียมพร้อม ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถ้าดีขึ้นเราก็ดีใจ ถ้าแย่ลงก็ต้องพร้อมรับมือ

 

ซึ่งเราก็ต้องทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา แล้วก็คนของเรา เตรียมคน เตรียมอุปกรณ์ ความคิดความรู้ ให้พร้อมต่อเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องคำวิจารณ์ต่างๆ ทั้งจากองค์กรสิทธิมนุษยชนประชาชน ซึ่งเราก็ต้องพัฒนาและปรับปรุงตัวอยู่ตลอด ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และผมก็ยืนยันว่าเราก็พยายามรักษากติกาสังคมเพื่อคำนึงถึงคนส่วนรวม ภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมาย เพราะถ้าเราทำอะไรเกินเลยเราก็ต้องรับผิดชอบและถูกกระบวนการยุติธรรมลงโทษเอง เพราะผู้ชุมนุมนั้นมีความรู้และการสนับสนุนในเรื่องของกฎหมายอย่างดียิ่ง ซึ่งก็เป็นสิทธิของผู้ชุมนุม และเราก็จะประมาทไม่ได้เลย ต้องเตรียมตัวให้พร้อม

 

⦁1 ปีหลังจากนี้อยากทำอะไรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติบ้าง และมองว่า ผบ.ตร.คนต่อไปจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
1 ปีหลังจากนี้ก็จะสานต่องานที่ยังคั่งค้างอยู่ เพราะมีหลายอย่างที่ยังไม่เสร็จ เพราะต้องการให้ออกมาเป็นรูปธรรม แล้วก็หวังว่า ผบ.ตร.คนต่อไปจะสามารถนำพาองค์กรไปได้ ซึ่งเทคนิค หรือวิธีการแนวคิดต่างๆ คงไม่ไปก้าวล่วงว่าต้องเป็นแบบไหน แต่คิดว่าเป็นใครก็จะสามารถทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพัฒนาขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง