รีเซต

ซีพีนำทัพธุรกิจในเครือทั่วโลกจัดงานประชุมสุดยอดวิชาการครั้งประวัติศาสตร์ CP Symposium 2022

ซีพีนำทัพธุรกิจในเครือทั่วโลกจัดงานประชุมสุดยอดวิชาการครั้งประวัติศาสตร์  CP Symposium 2022
TNN ช่อง16
9 พฤศจิกายน 2565 ( 17:39 )
65
ซีพีนำทัพธุรกิจในเครือทั่วโลกจัดงานประชุมสุดยอดวิชาการครั้งประวัติศาสตร์  CP Symposium 2022

9 พฤศจิกายน 2565 - เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) จัดงานประชุมวิชาการ "เครือเจริญโภคภัณฑ์ 2022"  หรือ CP Symposium 2022 ภายใต้แนวคิด “สร้างสรรค์วิทยาการและความยั่งยืนเพื่อก้าวสู่ศตวรรษใหม่– Create Technology and Sustainability For Our New Century" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2565 ในรูปแบบผสมผสานครั้งแรก  (Hybrid Event) ด้วยการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ไปยังบริษัทในเครือซีพีทั่วโลก เพื่อขับเคลื่อนองค์กรตามวิสัยทัศน์ของประธานอาวุโสเครือซีพี ธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาคนด้วยการสนับสนุนพนักงานเครือเจริญโภคภัณฑ์ในทุกกลุ่มธุรกิจทั่วโลก ผนึกกำลังแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในทุกภาคส่วนเพื่อร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญาผ่าน 4 ประเด็นหลักในด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิศวกรรม ไอทีและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงความยั่งยืนที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประชาชน และองค์กรสู่ยุค 5.0


 ในการนี้ได้รับเกียรติจากนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าร่วมงานผ่านระบบออนไลน์ พร้อมด้วย นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นประธานเปิดงาน  ดร.อาชว์ เตาลานนท์  รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และนายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานคณะอำนวยการมหกรรมนวัตกรรมบัวบานและการประชุมวิชาการเครือเจริญโภคภัณฑ์ 2022 เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน รวมทั้งประธานการประชุมวิชาการทั้ง 4 ด้าน  น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ และนางภัทนีย์  เล็กศรีสมพงษ์ ประธานวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู ประธานการประชุมวิชาการด้านวิศวกรรม ดร.เจน ศรีวัฒนะธรรมา ประธานการประชุมวิชาการด้านไอทีและเทคโนโลยีดิจิทัล นางพัชรี คงตระกูลเทียน ประธานการประชุมวิชาการ ด้านความยั่งยืน และผู้บริหารและพนักงานในเครือซีพีเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง  ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ และมีพนักงานในกลุ่มธุรกิจเครือฯเข้าร่วมพิธีเปิดกว่า 8,000 คนใน 13 ประเทศทั่วโลก


ทั้งนี้ภายในงานมีการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำของประเทศมาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการ เพื่อจุดประกายความคิดสร้างแรงบันดาลใจและเสริมมุมมองเทรนด์ในอนาคตรวม 14 คน อาทิ  “Unlocking the ways of B.Grimm established in 1878  Leading an organization across centuries”  โดยดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท บี.กริม  “Barriers to Innovations: Key obstacles preventing innovation developments” โดย รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) บริษัท MQDC “Shaping Industry Transition towards Digital and Green Intelligence” โดยดร. ชวพล จริยาวิโรจน์  กรรมการผู้จัดการ, บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด “Quantum Computing and Data Analytics for Agriculture” โดยดร. จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์  ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท Quantum Technology Foundation Thailand (QTFT) และ“ทิศทางการพัฒนาประเทศไทยด้วยงานวิจัย” โดยศ. ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์  ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เสริมทัพด้วยผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ในเครือฯ ที่มาร่วมเวที 

ดร. อาชว์ เตาลานนท์  รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า การประชุมวิชาการ CP Symposium 2022 มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของเครือซีพี  เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของเครือซีพีตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ รวมถึงการเพาะปลูกพืชไร่  จำเป็นต้องใช้วิทยาการในการเพาะปลูก การผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ การคัดเลือกพันธุ์และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปโรงงาน ไปจนถึงอาหารที่จำหน่ายให้กับผู้บริโภค  เครือซีพีและบริษัทในเครือฯจึงจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ที่ก้าวหน้าทันสมัยทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมความก้าวหน้าทันสมัยในการต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา  และพร้อมเป็นผู้นำทางวิชาการในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน  ดังนั้นการจัดงานประชุมวิชาการครั้งนี้นับเป็นการผนึกกำลังทางวิชาการและงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิศวกรรม ไอทีและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงความยั่งยืน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของพนักงานเครือซีพีในทุกกลุ่มธุรกิจทั่วโลก ในขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในทุกภาคส่วนเพื่อให้นำความรู้ที่ได้ไปปรับปรุง พัฒนาและต่อยอดการทำงานจนเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ในทึ่สุด  


"การพัฒนาทางวิชาการและการวิจัยของเครือฯ เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับค่านิยมองค์กร 6 ประการของเครือซีพีอย่างแท้จริง เพราะการทำธุรกิจต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ต้องมีการคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่อยู่เสมอ พร้อมทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายและต้องทำให้เร็วและมีคุณภาพบนพื้นฐานของการทำธุรกิจที่ยึดหลักคุณธรรมและความซื่อสัตย์ในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก่อให้ประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประชาชน และองค์กร ตามปรัชญา 3 ประโยชน์ของเครือซีพี สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องติดตามแนวโน้มทิศทางการเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่ พนักงานเครือซีพีจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกอยู่ตลอดเวลา เพื่อเตรียมพร้อมที่จะปรับโฉมสู่องค์กรแห่งนวัตกรรมในอนาคต" ดร. อาชว์ กล่าว

ด้านนายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานคณะอำนวยการมหกรรมนวัตกรรมบัวบานและการประชุมวิชาการเครือเจริญโภคภัณฑ์ 2022 กล่าวการประชุมทางวิชาการ CP Symposium 2022 จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี  เริ่มตั้งแต่ปี 2009 ที่เริ่มต้นจากครั้งแรกที่เป็นการประชุมด้านวิศวกรรม  โดยปีนี้ถือเป็นการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเครือซีพีในฐานะที่ดำเนินธุรกิจครบ 100 ปี เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใน 4 ด้านหลักคือ ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ด้านวิศวกรรม ด้านไอทีและเทคโนโลยีดิจิทัล  และด้านความยั่งยืน โดยมีจุดประสงค์ในงการจัดงานคือ 1.สนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีภายในเครือ ผ่านการนำเสนอผลงานวิชาการของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ของเครือซีพีรวม 156 โครงการจากบริษัทในเครือซีพีกว่า 6 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นการนำเสนอผลงานที่มากที่สุดจากที่เคยจัดมา 2. ส่งเสริมการนำผลงานทางวิชาการไปต่อยอดให้เกิดคุณประโยชน์เป็นวงกว้าง ซึ่งในครั้งนี้เราได้จัดงานในรูปแบบ Hybrid เป็นครั้งแรก โดยมีการถ่ายทอดผ่าน Online Platform ไปยังเพื่อนพนักงานซีพีทั่วโลก จึงมีการแปลภาษา ทั้ง ไทย อังกฤษ จีน ทำให้สามารถรับชมได้ทุกที่ทุกเวลา และจะเปิดให้รับชมย้อนหลังได้ด้วย ถือเป็นมิติใหม่ของเครือในการถ่ายทอดความรู้แบบไร้พรมแดน เพื่อให้มีการนำผลงานเหล่านี้ไปต่อยอดเป็นวงกว้างที่สุด และ3.สร้างการเรียนรู้มุมมองและความก้าวหน้าจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ที่ได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์ความรู้อัพเดตเมกะเทรนด์พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อที่จะสร้างสรรค์งานและต่อยอดงานได้ดีขึ้น รวมไปถึงการจัดงานในครั้งนี้ยังเป็นการเชิดชูนักวิจัยและนวัตกร ของเครือซีพีที่ได้ทุ่มเทคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการบริหารที่ช่วยสร้างสินค้าและบริการเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ในขณะที่ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท บี.กริม  วิทยากรบรรยายพิเศษหัวข้อ “Unlocking the ways of B.Grimm established in 1878  Leading an organization across centuries”   ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้มาร่วมแชร์ความรู้และประสบการณ์เส้นทางการทำธุรกิจของบี.กริม กว่า 140 ปี ถือเป็นบริษัทที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในประเทศไทย ด้วยการยึดมั่่นในปรัชญาการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารีที่เน้นทำธุรกิจเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมเป็นสำคัญ  ทั้งนี้ตลอดการทำธุรกิจผู้นำต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการบริหารจัดการและต้องพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง โดยบี.กริม.เน้นใช้หลักคิดเรื่องพรหมวิหาร 4 ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และอยู่ร่วมกับธรรมชาติเป็นแกนในการบริหารพนักงานที่เน้นสร้างความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบอย่างยั่งยืนทั้งในด้านของพลังงาน อุตสาหกรรม สุขภาพ อสังหาริมทรัพย์ ดิจิทัล และธุรกิจด้านไลฟ์สไตล์ ทั้งนี้เครือซีพีถือเป็นบริษัทเอกชนที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินธุรกิจที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และมีการพัฒนาทักษะคนอยู่เสมอทั้งในด้านของการสร้างสรรค์นวัตกรรมและงานวิจัย ตามหลักค่านิยมองค์กรเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับบี.กริม. ในการทำธุรกิจด้วยความรักและจิตวิญญาณที่พร้อมเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ดังนั้นเราพร้อมจะร่วมมือกับเครือซีพีและทุกภาคส่วนสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมให้มากที่สุดพร้อมส่งมอบสิ่งที่ดีให้ลูกหลานของเราต่อไปในอนาคต

รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) บริษัท MQDC บรรยายพิเศษหัวข้อ “Barriers to Innovations: Key obstacles preventing innovation developments”  กล่าวว่า การทำธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนสิ่งสำคัญต้องพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่จะต้องลงมือทำอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกเผชิญกับความท้าทายรอบด้านอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ธุรกิจทั่วโลกเร่งปรับกระบวนการผลิตและการทำงาน ดังนั้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมในธุรกิจจึงต้องนำหลักคิดด้านความยั่งยืนมาพัฒนาควบคู่ด้วย ซึ่งเรียกว่า Sustainnovation หรือการสร้างนวัตกรรมอย่างยั่งยืน เพราะนวัตกรรม คือ โอกาสในการฟื้นคืนและเติบโตทางธุรกิจ ในขณะที่ความยั่งยืน คือ ทางรอดของเราทุกคน และโอกาสแห่งอนาคต ดังนั้นผู้นำจะต้องผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆอยู่เสมอ มีการทำวิจัยและเชิดชูผลงานของนวัตกรไปพร้อมกัน การจัดงานของเครือซีพีในครั้งนี้ที่ให้ความสำคัญทางด้านวิชาการและวิจัยทางด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่ไปกับความยั่งยืน ถือเป็นสิ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของผู้นำในการส่งเสริมพนักงานเพื่อพัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพพร้อมรับความท้าทายและก้าวให้ทันเทรนด์ของโลกอยู่ตลอดเวลา

การประชุมทางวิชาการ CP Symposium 2022 ครั้งประวัติศาสตร์ในโอกาสครบ 100 ปีเครือซีพีนั้น ได้มีการนำเสนอผลงานวิชาการของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ของเครือซีพีรวม 156 โครงการจากบริษัทในเครือซีพีกว่า 6 ประเทศทั่วโลก  ใน 4 ด้านหลัก คือ 1. วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) 58 โครงการครอบคลุมตั้งแต่การใช้ biotechnology ในการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ การป้องกันควบคุมโรคและดูแลสวัสดิภาพสัตว์ผ่านระบบการบริหารจัดการฟาร์ม และการพัฒนาอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าเพื่อต่อยอดไปสู่การดูแลสุขภาพแบบบูรณาการ 2. วิศวกรรม (Engineering) 30 โครงการ ที่มีการนำเสนอการปรับปรุงกระบวนการผลิต การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพลดความเสี่ยงของพนักงาน 3.ไอทีและเทคโนโลยีดิจิทัล (IT & Digital) ครอบคลุมการพัฒนา software ที่ช่วยในการทำงาน รวมไปถึงการใช้ Data Analytics การใช้ AI Quantum Computing ที่จะมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลและ 4.ความยั่งยืน (Sustainability) 34 โครงการ ที่ครอบคลุมมิติด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ทั้งการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงการบริหารความเสี่ยง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง